ค่าไฟฟ้าจะแพงไปอีก 2 ปี

ไฟฟ้า
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

นับเป็นความห่วงใยจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีในการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft ตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อราคาค่าไฟฟ้าของประชาชน

โดยการคำนวณค่า Ft ครั้งนี้ จัดเป็นการคำนวณในรอบที่ 2 หรือทุก ๆ 4 เดือน (ค่า Ft รอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566) จากรอบแรก (มกราคม-เมษายน 2566) ที่เรียกเก็บค่า Ft สำหรับกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัย 93.43 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย กับค่า Ft สำหรับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอยู่ที่ 190.44 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5.69 บาท/หน่วย ซึ่งจัดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงมาก

ค่า Ft ไม่ได้พึ่งจะมาปรับเพิ่มขึ้นในปี 2566 แต่เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2565 จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้นทำให้ราคาน้ำมัน-ก๊าซ LNG ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ยกตัวอย่างราคา LNG ที่ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องนำเข้ามา จากปกติอยู่ที่ 6-7 เหรียญ/MMBTU ก็เพิ่มขึ้นเป็น 25-50 เหรียญ/MMBTU

ส่งผลให้ค่า Ft รอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 ถึงรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 24.77 ถึง 93.43 สตางค์/หน่วย บวกเข้ามาในค่าไฟฟ้าขยับจากเดิม 3.75 บาท/หน่วย ขึ้นมาเป็น 4-4.72 บาท/หน่วย

Advertisement

สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่านทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นผู้คำนวณค่า Ft ก็คือ ความพยายามในการปรับสูตรการคำนวณหรือลดราคาก๊าซจากโรงแยกก๊าซในอ่าวไทย แต่ความพยายามที่สำคัญในการลดค่า Ft ก็คือ การให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยไม่ส่งผ่านมายังค่า Ft

การกระทำดังกล่าว ทำให้ กฟผ.แบกรับภาระตลอด 1 ปีที่ผ่านมาไว้ถึง 150,000 ล้านบาท จนส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของ กฟผ.เอง และไม่สามารถรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้อีกต่อไป จนนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้ กกพ.หาวิธีการใช้คืนเงินค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกเอาไว้ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นหลักที่รัฐบาลจักต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนและธุรกิจทุกภาคส่วนที่ใช้ไฟฟ้าในข้อที่ว่า เหตุไฉนเมื่อราคาพลังงานโลกลดลง ประกอบกับปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น ทำไมค่าไฟฟ้ายังคงสูงกว่า 4 บาท/หน่วย

เพราะหนี้ กฟผ.กว่า 150,000 ล้านบาทจำเป็นที่จะต้องได้รับการใช้คืนหรือต้องจ่าย 33 สตางค์/หน่วย หรือ 20,000 ล้านบาทต่อรอบการคำนวณค่า Ft ทำให้ประชาชนคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงไปอีก 2 ปีเป็นอย่างน้อย