เปิด 3 สูตรคำนวณค่าไฟใหม่ กกพ.กุมขมับกอดหนี้ กฟผ. 1.5 แสนล้าน

ค่าไฟงวดใหม่ “พ.ค.-ส.ค. 66” ยังไม่จบ กกพ.เสนอ 3 สูตรค่าเอฟที ตามระยะเวลาจ่ายคืนหนี้ กฟผ.1.5 แสนล้าน สูงสุด 6.72 บาทต่อหน่วย ต่ำสุด 4.77 บาทต่อหน่วย เร่งเปิดรับฟังความเห็นช่วง 10-20 มีนาคมนี้ ขณะที่รัฐบาลอุ้มประชาชนอยากเห็น 4.72 บาทต่อหน่วย กรมการค้าภายในชี้ค่าไฟกระทบต้นทุนผลิตสินค้า

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการและโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 10-20 มีนาคมนี้ ทาง กกพ.เปิดรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นแนวทางการในการพิจารณาทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค. 2566) โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ

กรณีที่ 1 ค่าเอฟที 293.60 สต./หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 6.72 บาทต่อหน่วย โดยจะชำระคืนหนี้ กฟผ.ที่ค้างสะสม (ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564-ธ.ค. 2565) จำนวน 150,268 ล้านบาท ทั้งหมดภายใน ส.ค. 2566

กรณีที่ 2 ค่าเอฟที 105.25 สต./หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 4.84 บาทต่อหน่วย โดยทยอยใช้เงินคืน กฟผ.แบ่งเป็น 5 งวด งวดละ 27,337 ล้านบาท เพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายในเดือน ธ.ค. 2567 โดย กฟผ.จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน 109,349 ล้านบาท

กรณีที่ 3 ค่าเอฟที 98.27 สต./หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.77 บาทต่อหน่วย โดยจะทยอยใช้คืนหนี้ กฟผ. โดยแบ่งเป็น 6 งวด งวดละ 22,781 ล้านบาท หรืองวดละ 34.90 สต./หน่วย ภายใน 2 ปี (เม.ย. 2568) โดย กฟผ.จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน 113,905 ล้านบาท

กราฟฟิกค่าไฟ

“ใน 3 ทางเลือก ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ แนวทางที่ 2 และ 3 ส่วนแนวทางที่ 1 นั้นเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากจะต้องจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 งวด สูงถึง 150,268 ล้านบาท และค่า Ft ที่ 293.60 สต./หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พุ่งไปสูงถึง 6.72 บาทต่อหน่วย อาจจะกระทบต่อภาระของประชาชนและภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม กรณีที่รัฐต้องการให้ตรึงค่าไฟที่ 4.72 บาทต่อหน่วยก็เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ภายในวันที่ 20 มี.ค. ซึ่งหลังจากนั้นจะสรุปผลเสนอบอร์ด กกพ. และที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาต่อไป”

ทั้งนี้ กกพ.ประเมินอัตราค่าไฟจากปัจจัยประกอบการสมมุติฐาน คือ งวดที่ 2 จะมีความต้องการใช้ไฟ 67,833 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 6.47% ซึ่งการบริหารจัดการผลิต จะแบ่งสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 57.80% เพิ่มขึ้น 6.75% จากงวดก่อนหน้า การซื้อไฟฟ้าจากลาวและมาเลเซีย สัดส่วน 17.34% ตามด้วยลิกไนต์ของ กฟผ. 7.89% ถ่านหินนำเข้า 7.13% พลังน้ำ กฟผ. 2.74% น้ำมันเตา 0.84% น้ำมันดีเซล 0.03% และอื่น ๆ อีก 6.23%

ส่วนต้นทุนเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ 4.4170 บาท/หน่วย จากแนวโน้มราคา LNG ในตลาดโลกที่มีราคาลดลงเหลือ 19-20 เหรียญสหรัฐ จากเดิม 29.6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 33.23 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากงวดก่อนหน้าที่ 35.68 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ด้าน ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ปัจจัยเรื่องค่าไฟฟ้านั้นมีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้ามากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับการใช้พลังงานเพื่อผลิตในสินค้าแต่ละประเภท ซึ่งมีการติดตามดูแลสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม 2566 เทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่า ราคาสินค้าเกษตรและเนื้อสัตว์ปรับลดราคาลง โดยหมู ไก่ และไข่ไก่ เฉลี่ยทั่วประเทศ ปรับตัวลดลง 3-9% เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง