สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเผยแพร่ผลศึกษาปัญหาค่าไฟฟ้ามีราคาแพงต้องแก้แผน PDP จัดสรรปริมาณก๊าซอ่าวไทย ลด Supply โรงไฟฟ้า
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการลงไปศึกษาอย่างละเอียดถึง ปัญหาค่าไฟฟ้าที่หมักหมมมานานนั้น จะต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างรุนแรง ตั้งแต่กลางปี 2565 จนถึงปัจจุบันทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ เริ่มหันมามองปัญหาค่าไฟฟ้าและต้นทุนพลังงานอย่างจริงจัง
ทั้งจากนโยบายด้านพลังงาน, การจัดการเรื่องไฟฟ้า, การผูกขาด กระจุกตัวของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย, การละเลยผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศ และผลประโยชน์ของผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน
โดยราคาค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นนอกจากส่งผลต่อภาระค่าครองชีพ ของประชาชนตลอดจนภาวะเงินเฟ้อของประเทศแล้ว ยังจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย ทั้งในด้านการส่งออก รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)
“ปัญหาเหล่านี้จึงควรได้รับการหยิบยกขึ้นมาหารืออย่างจริงจังและลงมือแก้ไข โดยข้อเสนอนี้เป็นการศึกษาเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและอยากเสนอเป็นแนวทางเพื่อเป็นการบ้านรัฐบาลยุคใหม่” นายอิศเรศกล่าว
สำหรับสาเหตุที่ค่าพลังงานและค่าไฟฟ้าสูงกว่าตลาด ประกอบด้วย
1) แผน PDP พึ่งพาก๊าซ NG/LNG มากเกินไป รวมทั้งการขาดแผนสำรองที่ดี ในการบริหาร NG ในอ่าวไทยที่ลดน้อยลง
2) ระบบการซื้อไฟฟ้าแบบ Cost Plus จากพลังงานฟอสซิล (VS. ระบบการ Fixed ราคา กรณีพลังงานหมุนเวียน RE)
ดังนั้นสิ่งที่ต้องทบทวนก็คือ การที่ EGAT รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนในสัดส่วนที่สูงจนเกินไป รวมทั้งเงื่อนไขในสัญญาที่มี Margin สูง รวมทั้ง การผลักภาระเข้าไปในค่า FT อย่างไม่เหมาะสม
3) Supply ของโรงไฟฟ้ามากกว่า Demand ถึง 54% (ปกติ ควร +15%) เป็นภาระต้นทุนของประเทศในระยะยาว
(จ่ายค่า AP และการเดินโรงไฟฟ้าที่ไม่เต็มกำลังการผลิตจะมีต้นทุนที่สูง) และคาดการณ์ Demand สูงเกินไป ตลอดจนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนมากเกินความจำเป็น
4) ขาดกลไกตลาดเสรีของ พลังงาน/ไฟฟ้าจากการที่ไม่มี TPA
ทั้งนี้ผลจากการเปิดให้โรงไฟฟ้าเอกชนมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป ขณะที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ EGAT ลดน้อยลง (EGAT 32%, IPP 31%, SPP 17%, นำเข้าและแลกเปลี่ยน 12% และ VSPP 8%)
จะส่งทำให้ 1) ค่าไฟฟ้า แพงขึ้น จากค่า AP (จ่าย IPP) และค่า CP (จ่าย SPP)
2) EGAT ต้องแบกรับภาระหนี้ ค่าไฟฟ้าเพียงรายเดียว (จากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องแบกภาระช่วยกลุ่มเปราะบางตามนโยบายภาครัฐ) เกินไปกว่ากำลังที่มีอยู่
3) EGAT ขาดสภาพคล่อง ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนมีกำไรสูงมาก ส่วนประชาชนและภาคธุรกิจกลับต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
กลายเป็น 4 คำถามที่ต้องการคำตอบว่า
1) ทำไมช่วง LNG มีราคาแพง ทำไมไม่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ถูกกว่าและมีกำลังการผลิตเหลือให้เต็มที่ เช่น โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงดีเซล, Biogas, Biomass หรือการใช้แนวทาง Incremental Cost
2) การที่ประเทศไทย ต้องไปแย่งซื้อ ก๊าซ LNG ช่วง Peak demand ทำให้ต้องจ่ายค่าก๊าซ LNG แพงเกินไปหรือไม่
3) ทำไมไม่รีบปลดล็อคการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar)
4) การจัดสรร NG ในอ่าวไทยมีความเหมาะสมหรือไม่
ทำไมค่าไฟฟ้างวด 2/66 ไม่ควรเกิน 5 บาท/หน่วย
จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นร่วม 15% ค่าพลังงาน ทั้งดีเซลและราคา LNG ที่ต่ำลง ปริมาณก๊าซ NG ในอ่าวไทย ซึ่งมีราคาถูกมีจำนวนมากขึ้นตามลำดับ
คณะทำงานร่วมรัฐบาลและเอกชนช่วยกันหารือหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ และมีเวลาทำงานร่วมกัน 3 เดือน
ตัวแปรหลักคือ การ Mazimized ปริมาณ NG จาก ก๊าซจากอ่าวไทย-เมียนมา และการจัดสรรไปใช้ในปิโตรเคมีอย่างเหมาะสมในราคาเป็นธรรม
ขณะที่หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท. ควรสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่
ปรับแผนระยะกลาง-ยาว
ส่วนแผนการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในระยะกลางและระยะยาว จะต้องปรับโครงสร้างกำลังการผลิต และต้นทุนของโรงไฟฟ้าเอกชนด้วยการ
1) ชะลอการขยายโรงไฟฟ้าประเภทฟอสซิล เพื่อลดกำลังการผลิตส่วนเกิน แต่ให้เน้นการเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ต้นทุนต่ำ ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม
2) พิจารณาซื้อโรงไฟฟ้าเอกชนมาเป็นของภาครัฐ จากค่า AP ที่จ่ายไป หรือทบทวนค่า AP/CP ให้เหมาะสม
3) ปรับสูตรค่าไฟฟ้า และ Margin ของ NG. ที่ขายให้โรงไฟฟ้า ด้วยการ ลด IRR จากเดิมที่สูงลง เพราะไม่มีความเสี่ยง ทำไมต้องมีกำไรสูง
การลดค่า Margin จากการขาย NG ให้ SPP 9.33% ให้ใกล้เคียง กับ IPP 1.75% และทบทวนราคา NG ที่นำไปใช้ในภาคปิโตรเคมี
3 Key Success Factors (KSFs)
ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตพลังงานและค่าไฟฟ้าของประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชน
จะต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่างภาครัฐ และเอกชน ด้วยการทำงานแบบมีทีมเวิร์ก มีข้อมูล facts & data ร่วมสร้างสรรค์ด้วยเป้าหมายของประเทศเป็นที่ตั้งสูงสุด
มีการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนทุกคน ในเรื่องการประหยัดพลังงานและการเลือกประเภทพลังงาน และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เพื่อบรรเทาปัญหาจากวิกฤตพลังงาน และค่าไฟฟ้าในครั้งนี้
ผู้ประกอบการธุรกิจด้านพลังงาน และไฟฟ้าควรยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าความสำเร็จทางธุรกิจ
เพราะไฟฟ้าถือเป็นสาธารณูปโภค พื้นฐานของประชาชนทุกคนในประเทศ จึงควรได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
เราจะปล่อยให้เป็นปัญหาที่บั่นทอนประเทศ ไปอีกนานเท่าไร ?