ค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 66 ลุ้นเหลือราคาเดียวทุกกลุ่ม หลังราคา LNG โลกร่วง

ค่าไฟ

กพช.เผย มีลุ้นลดค่าไฟงวด 2 พ.ค.-ส.ค. 66 เหลือราคาเดียวทุกกลุ่ม หลังราคา LNG โลกร่วงเหลือ 15-16 เหรียญ/ล้านบีทียู ประเมินไม่จำเป็นต้องใช้ดีเซลทดแทน

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า

ค่าไฟฟ้างวด 2 หรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 มีเเนวโน้มจะกลับมาเป็นอัตราเดียวทั้งภาคครัวเรือนและเอกชนเหมือนเดิม ภายหลังจากที่งวดแรกของปี 2566 กกพ.พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าเป็น 2 อัตรา คือ ครัวเรือนคิดค่าไฟที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น อาทิ เอกชน คิดอัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย

นายกุลิศ สมบัติศิริ

โดยมีปัจจัยบวกจากเนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแอลเอ็นจี ราคา LNG Spot ล่าสุดลดต่ำลงมาก เหลือ 15-16 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งปลายปีที่ผ่านมาราคาเคยสูงสุด 40-50 เหรียญ/ล้านบีทียู

อีกทั้ง สภาพอากาศในสหภาพยุโรปไม่เลวร้ายหนาวตามที่ประเมินไว้มากนักส่งผลให้ราคาเริ่มปรับตัวลดลง และหากราคาต่ำกว่านี้อาจไม่ต้องใช้ดีเซลทดแทน ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่มาตรการที่ดูแลค่าไฟฟ้ากลุ่มครัวเรือนจากเดิมที่ให้ใช้ก๊าซในอ่าวไทยที่มีต้นทุนถูกกว่าเพื่อทำให้ราคาค่าไฟถูกกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมนั้นเป็นนโยบายที่อนุมัติรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 อาจจะไม่มีผลแล้วเนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติ LNG Spot ลดลง

อย่างไรก็ตาม เป็นการประเมินแนวโน้มเบื้องต้นไว้เท่านั้น กระทรวงพลังงานยังคงเน้นมาตรการประหยัดพลังงาน เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อาทิ ความผันผวนของราคา และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ

สำหรับ ช่วงการใช้ไฟฟ้า Peak ทุกปีจะอยู่ในช่วงมกราคม-เมษายน ปีนี้คาดว่าจากการประเมินดังกล่าวนั้นส่งผลให้สถานการณ์แผนรับมือพลังงานฉุกเฉินผ่อนคลายขึ้น แต่ก็ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ยังได้มีการทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ตามที่ กพช. ได้เคยมีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคา LNG ในตลาดโลกมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้รับใบอนุญาต Shipper (LNG Shipper) ทั้ง 8 ราย มาหารือถึงปัญหาและอุปสรรคโดยประเด็นปัญหาที่สำคัญ คือ ผลกระทบจากสถานการณ์ราคา LNG ที่ปรับตัวสูงขึ้น

ส่งผลให้ Shipper รายใหม่ ไม่สามารถแข่งขันกับ Shipper รายเดิมในกลุ่ม Regulated Market ได้ เพราะราคานำเข้าใหม่ที่เป็นตลาดจร (Spot) จะสูงกว่า ราคาตลาด POOL ที่บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ได้ในราคานี้เพียงรายเดียว

ดังนั้น จึงมีแนวทางให้ 8 ชิปเปอร์ สามารถนำเข้าLNG ตามเกณฑ์ราคากำหนดของกกพ.ที่จะออกเกณฑ์ ราคา Benchmark ใหม่ ให้เหมาะสม ต้นทุนต่ำเพื่อประโยชน์ของการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยให้นำราคาใหม่ที่นำเข้านำมาผสมในราคาตลาด POOL ได้ด้วยเพื่อให้ชิปเปอร์รายใหม่มีโอกาสนำเข้าได้

“กระทรวงพลังงานกำลังทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. นำรายละเอียดมาพยากรณ์ว่าทั้ง ราคาก๊าซและปริมาณนำเข้า ค่าไฟงวด 2 อยู่ระดับใด คาดว่าจะสรุปช่วงเดือนมีนาคมนี้ หากสถานการณ์ราคาก๊าซยังทรงตัวระดับนี้ ก็มีโอกาสที่จะเห็นค่าเอฟทีงวด 2 มีแนวโน้มลดลงได้ แต่จะลดลงต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วยตามที่เอกชนเสนอมาหรือไม่ คงต้องพยากรณ์จากหลายปัจจัย” นายกุลิศกล่าว

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) กล่าวว่า หากราคาแอลเอ็นจีสปอต (LNG) อยู่ในระดับ 16-18 เหรียญ/ล้านบีทียู เป็นไปได้ว่า ค่าเอฟทีงวด งวดที่ 2 เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2566 จะลดลง อย่างไรก็ตามต้องดูปัจจัยในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ราคา

ราคาน้ำมันและปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยว่าจะมีเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงเพียงใด

สำหรับปัจจุบัน ประเทศไทย มี Shipper ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กกพ. ให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซ LNG ได้ ทั้งสิ้น 8 ราย โดยมีบริษัท ปตท. เป็น Shipper รายเดิม โดย Shipper รายใหม่ 7 ราย ที่จะเปิดให้นำเข้าเสรี ได้แก่

1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
2. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
4. บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
5. บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก
6. บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL
7. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG