จีนสั่งปิด 3 โรงงานปลอมข้าวหอมมะลิ ผู้บริโภคจีนคาดชะงักซื้อข้าวไทย 2-3 เดือนนี้

จีนสั่งปิด 3 โรงงานปลอมข้าวหอมมะลิ
จีนสั่งปิด 3 โรงงานปลอมข้าวหอมมะลิ

กรมการต่างประเทศ เผยมีบริษัทในจีนปลอมข้าวหอมมะลิจริง ล่าสุดจีนดำเนินคดีและสั่งปิดโรงงานไปแล้ว รับยังไม่ได้ทำผิดกฎหมายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ขณะที่เอกชนคาดผู้บริโภคจีนจะชะลอซื้อข้าวหอมมะลิไทย 1-2 เดือน เหตุไม่มั่นใจว่าของจริง ด้านรัฐพร้อมจับมือผู้ส่งออกโปรโมตข้าวไทย

วันที่ 17 มีนาคม 2566 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวจีนปลอมข้าวหอมมะลิไทย ระบุจากการตรวจสอบจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำประเทศจีนทั้ง 7 สาขา และสถานทูตจีนประจำประเทศไทย พบว่าเป็นเรื่องจริง

โดย 3 บริษัทดังกล่าวใช้ข้าวที่ปลูกในจีน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับข้าวไทย มาใส่สารปรุงแต่ง ให้มีกลิ่นหอมเหมือนกับข้าวหอมมะลิไทย และขณะนี้ทางภาครัฐของจีนได้ดำเนินคดีกับทั้ง 3 บริษัทแล้ว ซึ่งตอนนี้ได้ปิดโรงงานเป็นที่เรียบร้อย

รณรงค์ พูลพิพัฒน์
รณรงค์ พูลพิพัฒน์

อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวนั้น เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าอาหารของประเทศจีน ซึ่งกำหนดว่าข้าวสารเป็นสินค้าที่ไม่อนุญาตใช้สารเติมแต่งอาหาร รวมไปถึงว่าด้วยเรื่องการโฆษณา คุณภาพปลอดภัยของสินค้า ความปลอดภัยอาหารและยา เป็นต้น ซึ่งจีนให้ความสำคัญและได้ดำเนินคดีไป ทางจีนเองก็พร้อมจะติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคด้วย

แต่ทั้งนี้กรณีดังกล่าวยังไม่ได้กระทำผิดกฎหมายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาว่าด้วยเรื่องของเครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย ส่วนการปลอมข้าว ใส่สารปรุงแต่งในข้าวในตลาดจีนนั้น จากการติดตามพบว่ามีการทำในรูปแบบนี้ ขณะที่การกระทำของ 3 บริษัทนั้นทำมา 3-4 ปีแล้ว

“ด้วยการนำข้าวท้องถิ่นมาผสมสารปรุงแต่ง ซึ่งกฎหมายของจีนได้ห้ามไม่ให้มีการปรุงแต่งข้าว ส่วนผลิตภัณฑ์บรรจุที่มีการใช้ มีการขอเครื่องหมายการค้าถูกต้อง ไม่ได้มีการละเมิดเครื่องหมายของไทย กรมเองก็ได้มีการหารือพูดคุยกับผู้กระทบโดยตรงอย่างสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย”

เบื้องต้นจากการหารือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดว่าตลาดข้าวหอมมะลิของไทยในจีนจะกระทบจากกรณีนี้ 1-2 เดือน ซึ่งภาครัฐและเอกชนก็จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคของจีนในการรับรู้ข้าวไทย ดังนั้น ผู้บริโภคจะกลับมาซื้อข้าวไทยปกติ เพราะยังมั่นใจว่าผู้บริโภคจีนที่ชอบข้าวไทยจะสามารถดูและแยกแยะสินค้าข้าวไทยได้

ส่วนกรณีจะมีการฟ้องร้องหรือเรียกร้องในส่วนของผู้ส่งออกหรือไม่นั้น ผู้ส่งออกข้าวไทยก็จะต้องติดตามผลกระทบและยอดการส่งออกภายใน 2-3 เดือนจากนี้ รวมไปถึงการศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถดำเนินการคดีอะไรได้ อีกทั้งการคุ้มค่า คุ้มทุนในการฟ้องร้องด้วย เพราะหากพิจารณาแล้วไม่คุ้มค่าต้นทุนที่เกิดขึ้น ผู้ส่งออกก็อาจจะไม่ฟ้องก็ได้

ขณะที่ทางกรมการค้าต่างประเทศจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการประชาสัมพันธ์ โปรโมตข้าวหอมมะลิไทย รวมไปถึงเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรองหอมมะลิไทยให้กับผู้บริโภคจีน และผู้ส่งออกไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจในตลาดจีน

สำหรับการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปจีนเมื่อปี 2562 มีปริมาณ 125,068 ตัน ปี 2563 ปริมาณ 144,164 ตัน มูลค่า 4,131 ล้านบาท ปี 2564 ปริมาณ 147,581 ตัน มูลค่า 3,460 ล้านบาท ปี 2565 ปริมาณ 142,146 ตัน มูลค่า 3,996 ล้านบาท ส่วนปี 2566 อยู่ระหว่างการประเมิน

3 บริษัทปลอมข้าว

จากการรายงานของสถานกงสุลใหญ่ ประจำประเทศจีน ได้ติดตามว่าทั้ง 3 บริษัท ประกอบไปด้วย 1.Anhui Huainan Shouxian Yongliang Rice Industry ที่ใช้ชื่อแบรนด์ “ราชาไทย” (Tai Zhi Wang) และ “ข้าวหอมมะลิไทยรุ่นที่ 2” เป็นเพียงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งไม่ได้นำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทย และไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับข้าวไทย โดยข้าวที่ใช้เป็นข้าวท้องถิ่น จากการตรวจสอบพบว่ามีการเติมสารปรุงแต่งกลิ่น และขายในพื้นที่ มณฑลอานฮุย เป็นหลัก ยอดขายต่อปี 10,000 ตัน

2.บริษัท Anhui Xiangwang Cerasls, Oils and Food Technology Co.,Ltd. ได้ผลิตและแอบอ้างการจำหน่ายข้าวหอมมะลิที่มีข้อความระบุบนบรรจุภัณฑ์ “ข้าวหอมมะลิประเทศไทย” และระบุแหล่งผลิตจากประเทศไทย ซึ่งทางบริษัทยอมรับว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับข้าวหอมมะลิไทย โดยข้าวที่ใช้นั้นมาจากข้าวของอานฮุย ในท้องถิ่นและนำมาเติมสารปรุงแต่ง และนำมาแอบอ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย โดยบริษัทนี้ได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจแปรรูปข้าว ซึ่งหมดอายุตั้งแต่ปี 2017

3.บริษัท Huainan Chufeng Industry and Trade Co.,Ltd จำหน่ายข้าวพันธุ์ต้าวฮวาเชียง ซึ่งเป็นข้าวที่ผลิตจากเมืองอู่ฉาง มณฑเฮย์หลงเจียง ใช้ชื่อแบรนด์ Tai Guo Xiang Mi, Tai Xiang Mi หรือข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งบริษัทมีการใช้สารปรุงแต่งในข้าว

เอกชนไทย คาดจีนหยุดซื้อข้าวชั่วคราว

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น เชื่อว่าจะสร้างความเสียหายให้กับตลาดข้าวหอมมะลิไทยในจีนแน่นอน แต่จะเป็นเพียงระยะสั้น เพราะผู้บริโภคจีนอาจเกิดการตื่นตระหนก ทำให้หยุดซื้อข้าวหอมมะลิไทย เหตุไม่มั่นใจว่าข้าวที่ซื้อเป็นข้าวหอมมะลิจริงหรือไม่

แต่คาดว่าในช่วง 1-2 เดือนปัญหาจะคลี่คลายได้ ผู้บริโภคจะกลับมาซื้อข้าวหอมมะลิไทยอีกครั้ง เนื่องจากผู้บริโภคจีนมีความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยอยู่แล้ว โดยในแต่ละปีไทยมีการส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังตลาดจีน ประมาณ 1 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท

“กระทรวงพาณิชย์ของไทยควรเร่งเข้าไปแก้ปัญหา ด้วยการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์แก่ผู้บริโภคในตลาดจีนว่า ข้าวหอมมะลิไทยแท้มีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อให้เลือกซื้อข้าวหอมมะลิไทยได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ เพราะการที่ไทยจะเข้าไปปราบของปลอมในจีนเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเป็นเจ้าแห่งการเลียนแบบสินค้ามาแล้วหลายตัว และยังมีตลาดขนาดใหญ่ที่เราควบคุมไม่ได้ ส่วนการจะฟ้องร้องคนทำผิดก็ทำได้ลำบาก ต้องใช้เงินจำนวนมากในการดำเนินการ”