กรมการค้าภายใน รายงานภาพสินค้าเกษตร อุปโภค-บริโภค ปรับตัวดี ไม่ห่วงหลังจีนปลูกทุเรียนได้ ยังมั่นใจคุณภาพผลไม้ไทย พร้อมนำ 22 มาตรการเข้ามาดูแลผลไม้ไทยต่อเนื่อง
วันที่ 23 มีนาคม 2566 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้า ว่า ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะราคาพืชไร่ ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ ราคาผักก็ปรับขึ้น-ลงตามราคาตลาด สินค้าอุปโภค ยังคงทรงตัว โดยกรมยังติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าทุกหมวดเป็นรายวัน เพื่อดูแลผู้บริโภคและเกษตรกร
ราคาข้าวดี
สำหรับราคาข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิ เฉลี่ย 14,400-14,800 บาทต่อตัน ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 13,500-14,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมปทุมธานี 10,500-11,500 บาทต่อตัน ข้าวเจ้า 9,700-10,100 บาทต่อตัน และข้าวเหนียว 11,500-12,400 บาทต่อตัน ราคาเป็นไปตามตลาดและความต้องการข้าวทั้งในและต่างประเทศ การส่งออกข้าว ไทยตั้งเป้าไว้ 8 ล้านตัน
ส่วนมันสำปะหลัง ราคาดีขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.25-3.70 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็ยังทรงตัวในระดับสูงที่ 11.60-11.70 บาทต่อกิโลกรัม ปาล์มน้ำมัน ปรับขึ้นจากเดือนก่อน อยู่ที่ 5.30 บาทต่อกิโลกรัม
ขณะที่ราคาผัก ก็ปรับขึ้น-ลงตามกลไกตลาด รวมไปถึงราคาเนื้อสัตว์ ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ ในภาพรวมปรับลดลงเล็กน้อยที่ 5% ส่งผลดีกับผู้บริโภค ราคาหมูเนื้อแดง ไม่เกินกิโลกรัมละ 190 บาท เนื้อไก่ ติดสะโพก 49-69 บาทต่อกิโลกรัม และไข่ไก่ อยู่ที่ฟองละ 3.60 บาท
ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาก็ยังทรงตัว ซึ่งแต่ละห้างก็ได้จัดโปรโมชั่นลดราคาหมุนเวียนกันไปอย่างต่อเนื่อง
มั่นใจคุณภาพทุเรียนไทย
สำหรับผลไม้ที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดหลายชนิด เชื่อว่าปีนี้ยังคงเป็นปีทองของผลไม้ไทย เพราะขณะนี้ได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปีการผลิต 2566 ไว้รองรับแล้ว รวม 17 มาตรการเดิม และเพิ่มอีก 5 มาตรการใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริการจัดการผลไม้
โดยทุเรียนไทยยังคงเป็นที่ต้องการ แม้ตลาดนำเข้าสำคัญอย่างจีน ซึ่งมีข่าวสามารถปลูกทุเรียนได้สำเร็จและผลผลิตกำลังออกสู่ตลาด แต่เชื่อว่าลักษณะทางกายภาพ สีเหลืองสวย และรสชาติหวานหอม ของทุเรียนไทย ยังคงครองใจผู้บริโภคชาวจีนได้อยู่
มะยงชิด ปราจีนฯไม่มีปัญหา
ส่วนกรณีที่ชาวสวนมะยงชิดจังหวัดปราจีนบุรีประสบปัญหาถูกยกเลิกคำสั่งซื้อจากกรณี ซีเซียม-137 นั้น นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ลงไปตรวจสอบ พบมีเกษตรกรที่ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อประมาณ 5-6 ราย รวมปริมาณ 70-80 กิโลกรัม แต่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว
ผลผลิตที่อยู่ในมือเกษตรกรก็น้อยแล้ว เพราะเป็นช่วงปลายฤดู ที่ผลผลิตออกไปแล้วกว่า 95% เฉพาะจังหวัดปราจีนบุรี ผลผลิตมะยงชิดจะออกหมดภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งหลังจากนี้จะต้องติดตามสถานการณ์ทุเรียนในพื้นที่ปราจีนบุรีที่ปลูกมากเช่นกัน และผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาด แต่เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบเหมือนกับกรณีมะยงชิด