“ล้งจีน” ดาหน้าบุกเปิดตลาดทุเรียนตะวันออก หน้าเก่า-หน้าใหม่ แข่งเดือด เดินสายเหมารับซื้อถึงสวน ปั่นราคาตัดหน้าคู่แข่ง ชาวสวนเฮรับราคาพุ่ง มั่นใจ 8 ปีทองต่อเนื่อง “กระดุม” ราคาสูงปรี๊ด กก.ละ 300-320 บาท หมอนทอง 200-220 บาท ชะนี 180-190 บาท ตลาดจีนดีมานด์สูงรุมซื้อทุเรียนไม่อั้นทุกสายพันธุ์
แหล่งข่าวจากวงการส่งออกทุเรียนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2566 สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรีคาดการณ์ผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกจะมีปริมาณ 756,465 ตัน แบ่งเป็นจันทบุรี 507,901ตัน ระยอง 158,137 ตัน และตราด 90,427 ตัน และปีนี้ได้มีการกำหนดวันตัดทุเรียนภาคตะวันออก 3 จังหวัดพร้อมกันเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเป็นปีทองทุเรียนอีกปีหนึ่ง ซึ่งเป็นปีที่ 8
โดยราคาช่วงเปิดฤดูกาลค่อนข้างดี เช่น กระดุม กก.ละ 310-320 บาท ชะนี 180-190 บาท หมอนทอง 200-220 บาท เป็นต้น ซึ่งปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกทุเรียนปริมาณ 881,829 ตัน มูลค่า 94,100,24 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นทุเรียนภาคตะวันออก 732,330 ตัน มูลค่า 83,000 ล้านบาท
ปีนี้แม้ว่าจะมีกระแสทุเรียนเวียดนามกระทบอยู่บ้าง แต่ปริมาณความต้องการของจีนยังคงสูง และทุเรียนไทยจะเน้นแข่งขันด้วยคุณภาพ โดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน เครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย และภาคเกษตรกร มีความร่วมมือกันสกัดกั้นทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด รวมทั้งสร้างความต่างของทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคชาวจีน
“ล้งจีน” แห่บุกรับตลาดเปิด
นายกฤษณพณ เรืองรติภาส นายกสมาคมนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรไทย-จีน เปิดเผยว่า การเปิดฤดูกาลรับซื้อทุเรียนปีนี้คึกคักตั้งแต่ต้นฤดู โดยมีโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ทยอยเปิดตัวเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ซื้อชาวจีนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 30-40 ราย จากปี 2565 มีสมาชิก 85 คน
บางคนเป็นรายใหม่ที่เพิ่งเข้ามาลงทุน บางรายทำอยู่เดิมมี 2-3 สาขา ได้ขยายเป็น 8-10 สาขา เพราะทุเรียนไทยเป็นที่ต้องการของตลาดจีนและเปิดตลาดปีนี้ทุเรียนตะวันออกราคาสูงมาก เช่น กระดุม กก.ละ 300-320 บาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผลผลิตออกมากอาจจะมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน บรรจุไม่ทัน รวมถึงการขนส่ง ที่ควรมีการเตรียมการขนส่งทั้งทางรถยนต์ รถไฟจีน-ลาว ทางเรือ และทางอากาศ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ไว้รองรับ หลังจากปีที่แล้วประสบปัญหาขาดแคลนตู้ และค่าเช่าตู้สูงขึ้นทำให้ต้นทุนสูงมาก
นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด ที่มีสมาชิกอยู่ประมาณ 500 ราย และเจ้าของบริษัทส่งออก บริษัทแซมซั่น อินเตอร์ฟูดส์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีพ่อค้ารายใหม่ ๆ มาเปิดล้งเพิ่มขึ้น และจากจำนวนล้งที่มากขึ้นอาจจะเกิดปัญหาตามมาบ้าง เช่น การเหมาสวนที่ปั่นราคาเกินจริง เพื่อตัดคู่แข่งหรือพ่อค้ามือใหม่ แต่ราคาที่สูงเกินจริงตลาดปลายทางอาจไปไม่ได้ ล้งจะขาดทุน ดังนั้นในแง่ราคาควรขึ้น-ลงตามกลไกตลาด
“ตอนนี้ภาคตะวันออกล้งเพิ่งเริ่มทยอยเปิดรับซื้อ แต่เนื่องจาก ช่วงนี้ราคาทุเรียนกระดุมสูงมาก การขายปลายทางอาจจะยาก สมาชิกส่วนใหญ่จึงยังไม่กล้ารับซื้อ และอาจจะรอไปถึงปลายเดือน มี.ค.ที่หมอนทองเริ่มออก” นายภาณุวัชน์กล่าว
แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่รายหนึ่งแสดงความเห็นว่า ปัจจุบันจำนวนโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ใน จ.จันทบุรี ที่แจ้งขึ้นทะเบียนกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จ.จันทบุรี (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร ณ วันที่ 15 ก.ย. 65 มี 496 โรง และล่าสุด ณ วันที่ 9 มี.ค. 66 เพิ่มเป็น 519 โรง และยังมีล้งที่อยู่ระหว่างการเตรียมขึ้นทะเบียนอีกจำนวนหนึ่ง
“ตอนนี้ล้งที่มาเปิดใหม่และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนในภาคตะวันออกอีกจำนวนมาก ซึ่งในวงการทราบกันดีว่าตัวเลขตอนนี้น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 700 แห่ง จากปีที่ผ่านมาที่มีประมาณ 600 โรง”
แหล่งข่าวกล่าวว่า จากกรณีที่มีพ่อค้าจีนเข้ามารับซื้อเพิ่มขึ้น บางรายจงใจปั่นราคา หรือบางรายเป็นมือใหม่ให้ราคาสูงเพื่อแย่งลูกค้า และทุเรียนเปิดราคาแพงมาก ราคาสูงเกินจริง เช่น กระดุม กก.ละ 310-320 บาท ไปขายที่ตลาดปลายทางขาดทุน และปริมาณทุเรียนยังน้อย ประมาณปลายเดือนมีนาคมจะเปิดรับซื้อเน้นรับหมอนทองเป็นหลัก
ตลาดจีนเริ่มสนใจหลายสายพันธุ์
นางสาวณัฐวรรณ์ แปลงดี เจ้าของสวน “หลงบูรพา” ต.อ่าวใหญ่ อ.เมืองตราด จ.ตราด เปิดเผยว่า ปีนี้คาดว่าทุเรียนราคาจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ตอนนี้ต้นฤดูกระดุม กก.ละ 310 บาท จากปีที่แล้ว 270 บาท ส่วนชะนี 180-190 บาท จากเดิม 170-180 บาท หมอนทอง 220 บาท จาก 200 บาท เดิมที่สวนมีทุเรียน 4 สายพันธ์หลัก คือ กระดุม พวงมณี ชะนี หมอนทอง แต่ที่ผ่านมาได้ทดลองนำพันธุ์ใหม่ ๆ มาปลูก และได้ผลดี เช่น หลงลับแล เม็ดในยายปราง (นกกระจิบ) นวลทองจันทร์ โดยได้โพสต์ขายทางออนไลน์ และส่งให้ลูกค้าประจำเพื่อนำไปขายทางออนไลน์
“ปีนี้เป็นปีแรกที่มีชาวจีนมาติดต่อขอซื้อและส่งทางเครื่องบินไปขายที่จีน ตอนนี้ตลาดในจีนเริ่มให้ความสนใจทุเรียนพันธุ์อื่น ๆ นอกจากหมอนทอง เช่น ทุเรียนเบญจพรรณ โดยเข้ามาหาซื้อเองตามสวน และสวนจะกำหนดราคาขายทุเรียนทุกพันธุ์เอง เช่น เม็ดในยายปราง หลงลับแล กก.ละ 250-300 บาท ต่อไปจะมีพันธ์อื่น ๆ ตามมา เช่น สาลิกา กบสุวรรณ กบพิกุล และหนามดำ (โอวฉี) ซึ่งคาดว่าจะได้รับความนิยมเช่นกัน”
นายวานิช มุกดาเพชรรัตน์ เกษตรกรสวนทุเรียน อ.เมืองตราด จ.ตราด กล่าวว่า ตอนนี้แนวโน้มการบริโภคทุเรียนของตลาดจีนเริ่มมีความต้องการทุเรียนสายพันธุ์อื่น ๆ มากขึ้น ผลผลิตที่กำลังจะออกมาหลังจากกระดุม ก็คือพันธุ์มูซานคิง ซึ่งราคาปลายเดือน ก.พ. อยู่ที่ กก.ละ 400 บาท เดือน มี.ค. ราคาลงมาที่ 300 บาท และหนามดำ (โอวฉี) 340บาท ซึ่งพ่อค้าที่รับซื้อมีความต้องการไม่อั้น
ด้านนายโกศล โกสัลล์วัฒนา เกษตรกร จ.จันทบุรี เจ้าของเพจทำสวนเอาเงินไม่ได้เอาเงินทำสวน เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวโน้มปริมาณทุเรียนภาคตะวันออกอาจจะลดลง เนื่องจากการติดผลรุ่นสุดท้ายมีน้อยมาก จากปัญหาโรคและสภาพอากาศ คาดว่าปริมาณผลผลิตอาจจะลดลงกว่า 100,000 ตัน
อย่างไรก็ตามในแง่ของราคาเฉลี่ยไม่น่าจะต่ำกว่า กก.ละ 100 บาท ใกล้เคียงกับปี 2565 แต่ปี 2567 น่าเป็นห่วง เพราะทุเรียนเวียดนามพยายามพัฒนาคุณภาพและปริมาณที่เพิ่มขึ้น และกัมพูชาที่จะส่งออกไปจีนได้ และลาวที่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างจีนกับเวียดนาม ส่วนฟิลิปปินส์ปริมาณทุเรียนยังน้อย ถึงเวลานั้นราคาทุเรียนไทยจะไม่พุ่งแรงเหมือนที่ผ่านมา ชาวสวนต้องปรับตัวจากเกษตรกรต้องเป็นธุรกิจการเกษตรเพื่อที่จะเรียนรู้เรื่องการตลาดไปด้วย
- ทุเรียนราคาพุ่ง 300 บาท/กิโล ตราดจัดโครงการป้องกันขโมย
- เชียงใหม่ ไชน่าทาวน์ ทุนจีนยึด “สันกำแพง-หางดง”
- คลื่นทุนจีนบุก “เชียงใหม่-ภูเก็ต” รอบใหม่ ยึดธุรกิจท่องเที่ยว-จี้สกัดนอมินี
- กสิรุ่งเรือง เปิด 2 ล้งใหม่สุโขทัย รุกส่งออกทุเรียนหมอนพระร่วงไปจีน
- ผลไม้ภาคตะวันออกทะลัก 1.3 ล้านตัน เกษตรคุมเข้มส่งออกทุเรียนไปจีน