อีสท์ วอเตอร์ พร้อมส่งคืนท่อส่งน้ำสายหลัก 11 เมษายน 2566 นี้ ห่วงผลกระทบผู้ใช้น้ำ หากแผนไม่ชัด หวั่นกระทบการส่งน้ำ 510,000 ลบ.ม. ต่อวัน วอนรัฐบริหารจัดการน้ำภาพรวมเป็นหลักเพื่อประโยชน์และเศรษฐกิจของประเทศ
วันที่ 24 มีนาคม 2566 รายงานข่าวระบุว่า ในวันที่ 10 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ได้ส่งหนังสือการบอกเลิกการเช่า บริหารโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ระยะที่ 2
โดยหนังสือที่กรมธนารักษ์แจ้งมาระบุให้ อีสท์ วอเตอร์ ส่งคืนพื้นที่และทรัพย์สินในโครงการดังกล่าวให้แก่กรมธนารักษ์ ภายในวันที่ 11 เมษายน 2566 นี้ หากไม่ดำเนินการ กรมธนารักษ์จะสงวนสิทธิ์ให้อีสท์ วอเตอร์ ปฏิบัติตามระเบียบที่บังคับใช้ ณ ปัจจุบัน และอนาคต พร้อมทั้งเรียกร้องค่าเสียหาย และ เงินอื่นใด (ถ้ามี) จากการที่อีสท์ วอเตอร์ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ราชการกำหนด
อีส วอเตอร์แย้งธนารักษ์อีกหน คู่ขนานรอศาลปกครองตัดสิน
โดยในวันที่ 22 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา อีสท์ วอเตอร์ได้ส่งหนังสือแก่อธิบดีกรมธนารักษ์ รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องการโต้แย้งการบอกเลิกการเช่า บริหารโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล – หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ – แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) การเรียกให้ส่งมอบพื้นที่และทรัพย์สินแก่กรมธนารักษ์ และการเรียกค่าเสียหาย พร้อมแจ้งข้อเสนอของอีสท์ วอเตอร์ เพื่อลดกระทบต่อผู้ใช้น้ำให้แก่กรมธนารักษ์
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รายงานว่า จากการติดตามการส่งหนังสือดังกล่าว ได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในภาพพรวมแล้ว หน่วยต่าง ๆ ให้ความคิดเห็นที่สอดล้องไปในทางเดียวกันว่า ต้องรอดูท่าทีของอธิบดีกรมธนารักษ์ ว่าจะมีการดำเนินในเรื่องนี้อย่างไร
ส่วนการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก อย่างไม่เป็นธรรม ขณะนี้ ยังอยู่ในชั้นศาล รอการพิจารณา เบื้องต้น ทางบริษัทได้ส่งข้อมูลทั้งหมดให้ศาลพิจารณาแล้ว
นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW หรือ อีสท์ วอเตอร์ เปิดเผยว่า บริษัท ยืนยันให้ความร่วมมือในการดำเนินงานส่งมอบท่อส่งน้ำสายหลักตามที่กรมธนารักษ์ร้องขอมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม จากการประชุมหารือกันถึง 6 ครั้ง เพื่อสรุปแผนการส่งมอบและรับมอบโครงการยังไม่มีความชัดเจน ทางบริษัทก็มีความกังวลถึงผลกระทบแก่ผู้ใช้น้ำทั้งภาคเอกชน นิคมอุตสาหกรรมรวม 2 โครงการ 510,000 ลบ.ม. ต่อวัน
โดยต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงผู้ใช้น้ำเป็นหลัก หากไม่มีแผนงานการส่งมอบ- รับมอบโครงการร่วมกัน ผลกระทบจะตกอยู่กับผู้ใช้น้ำ ตามที่ชี้แจงไปในหนังสือ
สรุปประเด็นสำคัญผลกระทบ
1.อีสท์ วอเตอร์ได้ให้ความร่วมมือในการเข้าตรวจสอบพื้นที่ในการส่งมอบทรัพย์สิน และอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐลงพื้นที่ตรวจทั้ง 3 ครั้งตามที่ร้องขอ และให้การสนับสนุนข้อมูลเป็นอย่างดี ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมประชุมกับกรมธนารักษ์ และ เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกเกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สิน เพื่อจัดทำแผนงานตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักร่วมกันแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง แต่ยังไม่มีข้อสรุป ขั้นตอนการดำเนินการส่งมอบ – รับมอบโครงการและประเด็นทรัพย์สินทับซ้อนเรื่องทรัพย์สินทับซ้อน อีสท์ วอเตอร์เห็นว่าทุกฝ่ายต้องหาแนวทางที่ลดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำร่วมกัน
2.ด้านการลงนามสัญญากับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก กรมธนารักษ์ได้รีบเร่งลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ทั้งที่ยังไม่ได้มีข้อยุติเรื่องการส่งมอบทรัพย์สิน ตามที่ประชุม คกก.ที่ราชพัสดุมีมติให้ดำเนินการตามข้อสังเกตุของอัยการสูงสุดที่ให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนลงนามในสัญญา ดูเป็นการกระทำที่รีบเร่งสัญญา ดูเป็นการกระทำที่รีบเร่ง ทั้งๆที่ยังไม่มีแนวทางป้องกันผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ
3.ด้านทรัพย์สินที่จะส่งมอบ หากต้องส่งมอบในวันที่ 11 เมษายน 2566 โดยไม่มีแผนการส่งมอบ – รับมอบโครงการทั้งสองอย่างเป็นขั้นตอน อาจส่งผลกระทบ ดังนี้ ผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะผู้ใช้น้ำบริเวณพื้นที่ ปลวกแดง ซึ่งมีการส่งจ่ายน้ำ 210,000 ลบ.ม. ต่อวัน และผู้ใช้น้ำตามแนวท่อหนองปลาไหล – มาบตาพุด – สัตหีบ อีก 300,000 ลบ.ม. ต่อวัน
พื้นที่ทับซ้อน เนื่องจากมีทรัพย์สินของ อีสท์ วอเตอร์ที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกให้เป็น Water Grid ตามมติครม. เช่น มิเตอร์ ปั๊มน้ำ เครื่องสูบน้ำ สถานีสูบ ระบบ SCADA ที่ใช้ควบคุมแรงดันน้ำจากระยะไกล ในส่วนพื้นที่บางส่วนซึ่งต้องส่งมอบคืนให้แก่กรมธนารักษ์ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปเป็นที่ชัดเจนในการใช้พื้นที่ร่วมกัน
กรมธนารักษ์ควรตรวจสอบว่าเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกสามารถเริ่มการดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างถูกกฎหมายได้ทันทีหลังการส่งมอบโครงการหรือไม่ มิฉะนั้น ผู้ใช้น้ำอาจได้รับน้ำที่มีการสูบจ่ายโดยไม่ถูกต้อง
4.การที่กรมธนารักษ์ส่งมอบทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล – หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ – แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ให้อีสท์ วอเตอร์ เมื่อปี 2540 และปี 2541 เป็นการเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี และตามรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางและการกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนในการจัดให้เอกชนเช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
โดยกรมธนารักษ์ใช้ประกอบการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก (กรกฎาคม 2564) และครั้งที่สอง (กันยายน 2564) มีเนื้อหาระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าเป็นโครงการที่มีอายุ 30 ปี และอยู่ระหว่างจัดทำสัญญาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรมธนารักษ์ โดยสิ้นสุดในปี 2570 และ 2571 ตามลำดับ
ไม่ใช่เป็นไปตามนัยหนังสือกรมธนารักษ์ ที่ กค 00420/948 ลงวันที่ 4 เมษายน 2543 และที่ กค 0305/17698 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นเรื่องการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล – หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ – แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ที่คำนวณจากรายได้ที่เกิดจากการขายน้ำดิบ และเป็นเอกสารที่เกิดจากการตกลงร่วมกันระหว่างกรมธนารักษ์ และอีสท์ วอเตอร์
การที่กรมธนารักษ์แจ้งกับอีสท์ วอเตอร์ ขอยกเลิกการเช่าและบริหารโครงการท่อส่งน้ำทั้งสองโดยอ้างนัยตามหนังสือกรมธนารักษ์ทั้งสองฉบับข้างต้น จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง และกรมธนารักษ์เพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถแจ้งขอยกเลิกข้อตกลงการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนกับอีสท์ วอเตอร์ได้
5.ด้านการหาข้อยุติเรื่องการส่งมอบ-รับมอบพื้นที่ และทรัพย์สิน โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล – หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ – แหลมฉบัง (ระยะที่ 2)
อีสท์ วอเตอร์ เสนอแนวทางส่งมอบ
ทั้งนี้ อีสท์ วอเตอร์ได้เสนอแนวทาง และขั้นตอนการส่งมอบ – รับมอบทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำทั้งสอง และจะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อประกอบการพิจารณาของกรมธนารักษ์ ดังต่อไปนี้
1.การวางแผนงานและขั้นตอนการส่งมอบทรัพย์สิน ระยะเวลา รวมทั้งการแก้ไขปัญหาอุปสรรคและข้อขัดข้องต่าง ๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน การเปลี่ยนแปลงและขอใช้ระบบไฟฟ้า การกำหนดระยะเวลาในการปรับปรุงระบบ และอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้การบริหารจัดการท่อส่งน้ำของแต่ละฝ่ายเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ รวมทั้งการแสดงความพร้อมและกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นดำเนินการในเชิงพาณิชย์ของผู้ประกอบการรายใหม่ เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ
2.การแสดงความพร้อมและการได้รับอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การขออนุญาตใช้และได้รับการจัดสรรน้ำดิบจากกรมชลประทาน การขออนุญาตและติดตั้งระบบไฟฟ้า การจัดทำสัญญาซื้อขายน้ำดิบกับผู้ใช้น้ำ เพื่อให้การสูบส่งและการซื้อขายน้ำดิบให้แก่ผู้ใช้น้ำเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
3.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สทนช., EEC, ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ควรมีส่วนร่วมการพิจารณาแผนการส่งมอบการทรัพย์สิน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ
อีสท์ วอเตอร์ ยึดมั่น และดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2535 รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2543 และมติคณะรัฐมนตรีอื่นที่เกี่ยวข้องให้เป็นผู้บริหารจัดการน้ำ เพื่อความมั่นคงของน้ำในภาคตะวันออก ยึดถือเป็นภารกิจหลักและคำนึงถึงเสถียรภาพ การส่งน้ำอย่างมีคุณภาพ และปริมาณน้ำที่เหมาะสมตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ใช้น้ำหรือผู้ลงทุนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก
ย้ำทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
ดังนั้น การส่งมอบทรัพย์สินจึงเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาและดำเนินการร่วมกันทุกฝ่าย และจัดทำแผนงานอันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เพื่อให้การส่งมอบ -รับมอบทรัพย์สินเป็นไปด้วยความราบรื่น เรียบร้อย ไม่กระทบต่อผู้ใช้น้ำ และสามารถให้บริการแก่ผู้ใช้น้ำได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ประสงค์จะถ่วงเวลาในการส่งมอบโครงการ แต่มีความจำเป็นต้องโต้แย้งกรมธนารักษ์ เพื่อความเป็นธรรมและยืนหยัดในความถูกต้อง และมีข้อเสนอดำเนินการตามรายละเอียดข้างต้น
เพื่อให้แน่ใจว่าการส่งมอบทรัพย์สินจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ ในช่วงที่ต้องมีการเปลี่ยนผ่านผู้บริหารจัดการท่อส่งน้ำของกระทรวงการคลัง หากกรมธนารักษ์ยังคงยืนยันที่จะให้อีสท์ วอเตอร์ส่งมอบทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำทั้งสองและดำเนินการต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 11 เมษายน 2566 โดยไม่มีแผนร่วมกันในการส่งมอบ – รับมอบอย่างเป็นขั้นตอน อีสท์ วอเตอร์ ได้แจ้งให้กรมธนารักษ์ได้รับทราบผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับอาจส่งผลร้ายแรงต่อธุรกิจของผู้ใช้น้ำ รวมถึงภาพรวมของระบบเศรษฐกิจในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศแล้ว
หากเกิดประเด็นข้อพิพาทหรือกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดผลกระทบและความเสียหายใด ๆ ต่อผู้ใช้น้ำ อีสท์ วอเตอร์ก็ถือเป็นความรับผิดชอบโดยลำพังเพียงฝ่ายเดียวของกรมธนารักษ์ โดยบริษัทฯ ไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่อย่างใด
ยืนยันพัฒนา Water Grid
นายเชิดชาย กล่าวอีกว่า บริษัทยังยืนยันจะเร่งรัดการดำเนินการพัฒนาทั้งด้านการวางท่อและแหล่งน้ำให้เร็วที่สุด เพื่อให้กลับมาเป็น Water Grid ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยอีกครั้ง ที่ผ่านมา มีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และมีการลงทุนเพิ่มเติมในด้านต่างๆ อาทิ สถานีสูบน้ำ ท่อเชื่อมโยง ช่วยภาครัฐประหยัดงบประมาณในการลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะนี้มีการดำเนินงานการก่อสร้าง โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้ระเบียบและข้อบังคับของภาครัฐอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่
“การส่งมอบท่อคืน ขอให้มั่นใจว่าส่งคืนแน่นอน แต่อยากให้กรมธนารักษ์ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้น้ำ และการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของ EEC เป็นหลัก การบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกที่เป็นกระดูกสันหลังด้านเศรษกิจของประเทศไทย เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาการดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ใช้น้ำ ความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนใน EEC และภาพลักษณ์การบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ แต่อยากให้ทุกภาคส่วนมีความพร้อมในการส่งมอบ-รับมอบทรัพย์สินเป็นไปด้วยความราบรื่น เรียบร้อย ไม่กระทบต่อผู้ใช้น้ำ และสามารถให้บริการแก่ผู้ใช้น้ำได้อย่างต่อเนื่อง”