“อีสท์ วอเตอร์” ส่งแผนคืนพื้นที่ท่อส่งน้ำอีอีซีถึงธนารักษ์ คาดปี’66 รายได้ยังโต

อีสท์ วอเตอร์

“อีสท์ วอเตอร์” ส่งแผนคืนพื้นที่ท่อส่งน้ำอีอีซีถึงธนารักษ์แล้ว วางไทม์ไลน์ 3 ระยะ 30-180 วัน เร่งเจรจาหาข้อสรุปทรัพย์สินในพื้นที่ทับซ้อน ป้องกันไม่ให้กระทบการส่ง ย้ำตรึงราคาจำหน่ายน้ำคงเดิม คาดปี’66 รายได้ยังเติบโต

วันที่ 31 มกราคม 2566 นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการคืนพื้นที่โครงการท่อส่งน้ำอีอีซีให้กับกรมธนารักษ์นั้น บริษัทได้หารือกับร่วมกับกรมฯ ไปแล้ว 3 รอบ โดยล่าสุดบริษัทได้ทำแผนแจ้งประสานไปยังกรมธนารักษ์แล้ว โดยกำหนดกรอบระยะเวลาไว้ 3 ระยะ คือ แผน 30 วัน, แผน 60 วัน และแผน 180 วันนับจากวันที่เจรจาข้อสรุปร่วมกันได้ เกี่ยวกับการดำเนินเรื่องทรัพย์สินในพื้นที่ทับซ้อน

หากสามารถหารือข้อสรุปกันได้อาจจะใช้ระยะเวลาสั้นเพียง 30 วันก็ได้ ในมุมของบริษัทอยากจะรอให้ศาลให้คำตัดสินก่อนที่จะมีการเข้าสู่กระบวนการเจรจา เพราะหากดำเนินการอะไรไปในขณะนี้ ภาครัฐอาจจะต้องเสี่ยงกับการถูกฟ้องร้อง เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะตัดสินไปในทางใดทางหนึ่งก็ตาม เพราะหากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็อาจจะกระทบต่อภาครัฐเอง ดังนั้น รอให้เกิดความชัดเจนต่อไป

“แต่หากกรณีที่รัฐจะใช้คำสั่งหรือมาตรการฉุกเฉินให้ส่งมอบพื้นที่คืน เรายืนยันว่าหากการส่งมอบพื้นที่ราบรื่นทำให้รายเก่า-รายใหม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ก็พร้อม หากทำให้เกิดการหยุดชะงักก็จะกระทบกับผู้ใช้น้ำ และการบริหารจัดการน้ำของประเทศก็หยุดชะงักด้วย

ก็ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อการส่งมอบอย่างราบรื่นการหาทางออกร่วมกัน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของรัฐ รัฐจะบอกว่าทรัพย์สินอะไรส่งอย่างไร เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่และรายเก่า สามารถส่งมอบน้ำให้กับผู้ใช้น้ำ ส่วนการส่งมอบพื้นที่อ่างเก็บน้ำดอกกลายที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค. 66 นั้นมีสัญญากำหนดระยะเวลาชัดเจนไม่น่าจะมีปัญหา”

เบื้องต้นการส่งมอบจะทยอยส่งมอบทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับโอเปอเรตก่อน เช่น บ้านพัก แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการส่งน้ำยังต้องมีการเจรจากับทางกรมธนารักษ์ถึงมาตรการแก้ไขในพื้นที่ทับซ้อนต่าง ๆ ที่จะเกี่ยวข้อง ว่าจะดำเนินการในลักษณะใด

ซึ่งที่ผ่านมาก็หารือกันมาโดยตลอด ทั้งนี้ยืนยันว่าระดับราคาน้ำที่จำหน่ายในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านสัญญาจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยปัจจุบันราคาน้ำที่จำหน่ายสำหรับอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 9.90 บาท ส่วนน้ำในภาคอุตสาหกรรม แบ่งตามพื้นที่ จ.ระยอง 11.50 บาท ส่วน จ.ฉะเชิงเทราที่ 12.50 บาท

พร้อมกันนี้ยืนยันว่า การส่งรายได้หรือการจ่ายค่าตอบแทนต่อรัฐที่เปรียบเทียบออกมาเป็นตัวเลขที่น้อยนั้น ทางบริษัทปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่ได้มีข้อขัดข้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข 1% หรือ 7% เราดำเนินการตามข้อสัญญาที่กำหนด

โดยการดำเนินการของบริษัทในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับกรมธนารักษ์ 588 ล้านบาทเท่านั้น แต่ยังได้จ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นภาครัฐ ซึ่งถือในสัดส่วน 45% คิดเป็นเงินขั้นต่ำ 5,500 ล้านบาท ซึ่งจริง ๆ อาจจะต้องคูณ 2 เป็นเงิน 10,000 ล้าบาท ผลประโยชน์ส่วนเพิ่มของผู้ถือหุ้น อีก 3,060 ล้านบาท และ EW ยังมีการลงทุนแทนภาครัฐ อีก 22,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในโครงข่ายน้ำ รวมยอดแล้ว 31,148 ล้านบาท ไม่รวมปันผลที่ให้กับผู้ถือหุ้นอีก

สำหรับโครงการลงทุนในงบประมาณ 22,000 ล้านบาทนั้น ประกอบด้วย 11 โครงการ คือ การพัฒนาระบบท่อบางปะกง-บางพระ สถานีสูบน้ำบางพระเชื่อมต่อท่อหนองเสือ-แหลมฉบัง สระสำรองสำนักบก-บ่อดิน สถานีสูบน้ำหนองค้อเชื่อมต่อหนองค้อ-แหลมฉบัง การขยายการส่งนำพื้นที่บ่อวิน-ปลวกแดง สถานีสูบน้ำหนองปลาไหลและระบบท่อ สระน้ำสำรองมาบข่า ระบบท่อหนองปลาไหล-หนองค้อเส้นที่ 2 ระบบท่อประแสร์-หนองปลาไหล สระน้ำสำรองทับมา ระบบท่อคลองหลวง-หนองค้อ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโครงการที่อนุมัติการลงทุนไปแล้ว

“ในปี 2566 มีการลงทุนเพื่อเพิ่มซัพพลายน้ำในพื้นที่อีอีซี 2 โครงการต่อเนื่องจากปี 2565 คือ ท่อส่งน้ำมาบตาพุด-สัตหีบ ความยาว 26.7 กม. มูลค่า 1,321 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือน ธ.ค. 65 คาดว่าจะเสร็จ พ.ย. 66 และโครงการท่อส่งน้ำ หนองปลาไหล หนองค้อ แหลมฉบัง ความยาว 67.14 กม. มูลค่าลงทุน 4,201 ล้านบาท เริ่มก่อสร้าง ก.ค. 2565 คาดว่าจะเสร็จในปี 2566 ส่วนโครงการใหม่ ๆ ช่วงนี้จะเป็นแผนลงทุนอื่น ๆ ในกิจการน้ำประปา กิจการน้ำอุตสาหกรรมไว้เสริมเพื่อรองรับการใช้น้ำที่จะเพิ่มขึ้น”

นายเชิดชายกล่าวว่า แม้ว่าโครงการท่อส่งน้ำอีอีซีจะส่งผลกระทบต่อรายได้บริษัทในส่วนนี้ลดลง 150-180 ล้านบาท จากเดิม 300 ล้านบาท โดยโครงข่ายท่อที่บริษัทวางไว้วางไว้ 512 กม. หากหักลบท่อของธนารักษ์ออกไป 135.9 กม. ก็จะเหลือเกือบ 376.1 กม. ก็ยังสามารถรองรับการเติบโตของความต้องการใช้น้ำต่อไปได้อีกเกือบ 20 ปี ที่คาดว่าความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มไปถึง 1,297 ล้าน

ส่วนในปีนี้บริษัทยังประเมินว่าแนวโน้มธุรกิจในปีนี้น่าจะเติบโตกว่าปี 2565 มาจากการจำหน่ายน้ำในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตมากขึ้น โดยภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มเฉลี่ยปีละ 10% จากปี 2565 ที่มีความต้องการใช้น้ำ 983 ล้าน และปีนี้แนวโน้มความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นอีกเพราะมีปัจจัยการเกิดลานิญ่าเข้ามาทำให้ปริมาณฝนตกลดลง

ทั้งนี้ปัจจุบัน รายได้ EW แบ่งเป็น น้ำดิบ 64% น้ำประปา 31% และอื่น ๆ 5%