ปตท.แนะรัฐเร่งทำรถไฟรางคู่ สมาร์ทโลจิสติกส์เชื่อมระนอง-ลาว-จีน

รถไฟทางคู่

ปตท.ต่อจิ๊กซอว์ “สมาร์ทโลจิสติกส์” หนุนไทย “ฮับภูมิภาค” ชี้โอกาสรัฐบาลใหม่เร่งปั้นท่าเรือระนอง ฝั่งทะเลอันดามัน เชื่อมระบบรางไทย-สปป.ลาว ตัดเข้าสู่จีนตอนใต้ทะลุเข้าจีนกลาง หวังลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าไทย พร้อมแข่งเดือดสิงคโปร์

ธุรกิจด้านโลจิสติกส์และระบบสาธารณูปโภคถือเป็น 1 ใน 4 ธุรกิจใหม่ ในกลุ่ม ปตท. ซึ่งได้วางเป็นธุรกิจที่จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายรายได้จากธุรกิจใหม่ 30% ในปี 2030 (2573) และจนถึงขณะนี้ ปตท.ได้วางเป้าหมายว่าการลงทุนพัฒนาธุรกิจใหม่และธุรกิจพลังงานอนาคตตามแผน จะทำให้พอร์ตโฟลิโอของ ปตท. 50% จะเป็นธุรกิจ nonfossil ได้ในปี 2576

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องโลจิสติกส์นับเป็นเรื่องสำคัญ หากมองในภาพใหญ่ของประเทศที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคได้ โดยเฉพาะการขนส่งจากไทย-จีน ซึ่งปัจจุบันระบบรางจากจีนมาถึง สปป.ลาวแล้ว และเป็นระบบรางปกติที่ไม่ใช่ไฮสปีด

จากเดิมที่เคยประสบปัญหาขนาดรางของไทยและจีนไม่เท่ากัน แต่ปัจจุบันสามารถแก้ปัญหานี้ได้ โดยการที่กำหนดให้มีจุดสำหรับย้ายตู้คอนเทนเนอร์จากขบวนรถไฟไทยไปสู่ขบวนรถไฟจีน โดยมีรางคู่กันเพียงแค่ย้ายคอนเทนเนอร์ไปที่ขบวนจีนก็สามารถขนส่งไปจีนได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ไทยมีข้อได้เปรียบอีกด้านคือ การขนส่งสินค้าเชื่อมไปยังประเทศจีนปริมาณมาก ๆ จำเป็นต้องขนส่งผ่านเส้นทางทะเล เพราะมีต้นทุนต่ำที่สุด และพื้นที่ของประเทศจีนโดยเฉพาะในด้านภาคตะวันตกและตอนกลางของประเทศจีน อยู่ใกล้ทะเลฝั่งของไทยมากกว่าจีน ไทยควรอาศัยจุดได้เปรียบนี้ในการเริ่มต้นพัฒนาระบบโลจิสติกส์

“ข้อเสนอเพื่อพิจารณากำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลคือ เราลงทุนเรื่องรางคู่ พัฒนาท่าเรือระนอง ให้เป็นท่าที่ใหญ่เชื่อมราง ทำให้ไทยสามารถขนส่งสินค้าจากฝั่งทะเลฝั่งอันดามันของไทยไปที่จีนตอนกลางได้ ส่งผลให้การขนสินค้าที่มาจากฝั่งตะวันตก ผ่านมาเส้นทางนี้จะสามารถชอร์ตคัต ประหยัดค่าขนส่งมากกว่า เป็นข้อได้เปรียบที่ประเทศไทยต้องเร่งลงทุน ส่วนเรื่องการจะเชื่อมทางน้ำหรือทางรางหรือทางอากาศอื่น ๆ ก็ทำได้เช่นกัน”

ด้าน นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจโลจิสติกส์ว่า ปตท.มองถึงโอกาสในการพัฒนาระบบ “สมาร์ทโลจิสติกส์” โดยจะมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ระหว่างรถไฟ อากาศ ในเรื่องแอร์คาร์โก้ รวมถึงท่าเรือ ซึ่ง ปตท.ได้มีการลงทุนท่าเรือแหลมฉบับเฟส 3 ก็พยายามทำเชื่อม และทำให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านโลจิสติกส์ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

โดย ปตท.ได้วางสัดส่วนเงินลงทุนในช่วง 5 ปี (2565-2569) ประมาณ 30% จากงบฯลงทุนในแต่ละปีหรืออยู่ที่ปีละประมาณ 300,000 ล้านบาท ในปี 2576 ธุรกิจน็อนฟอสซิลและนวัตกรรมมีสัดส่วนเพิ่มกว่า 50% เพื่อสนับสนุนให้เป็นบริษัทที่เติบโตบนเทคโนโลยีและคนอยากมาอยู่ใน ปตท. ช่วยสนับสนุน SMEs ให้เติบโต และพาร์ตเนอร์ธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกันทั่วโลก

ที่ผ่านมา ปตท.ได้มีการทำธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน โดยเน้นเสริมศักยภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีอยู่ ครอบคลุมการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ รวมถึงการบริหารคลังสินค้า

โดย ปตท.ได้มีการลงทุนในท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่วนระบบรางแม้ว่าจะไม่ได้ไปประมูลรถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่ได้ไปดึงศักยภาพของระบบโลจิสติกส์ที่ซ่อนอยู่ขึ้นมาใช้ เช่น เมื่อระบบรางคู่ของการรถไฟฯเสร็จ จะมีศักยภาพมหาศาลในการเชื่อมต่อกับทางลาวไปจีนได้ โดยโมเดลของ ปตท.คือ ไปเช่าระบบรางและนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการ เพื่อให้บริการขนส่งสินค้า

รวมถึงทางอากาศก็ได้ร่วมกับการบินไทยหลายโครงการ โดยมีเป้าหมายมุ่งที่จะเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องแบบครบวงจร ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของอาเซียน