ลุ้นรัฐบาลใหม่ปลดล็อกขายไฟเสรี บี.กริมชิงเค้กพลังงานหมุนเวียน 500 MW

โซลาร์เซล บี.กริม เพาเวอร์

บี.กริม หนุนรัฐบาลใหม่ ลุยปลดล็อกระเบียบ “ซื้อขายไฟเสรี” รับทิศทางนักลงทุนในอนาคตมุ่งมองหาผู้ให้บริการที่สามารถหาไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้ได้ พร้อมเดินหน้าชิงเค้กโครงการพลังงานหมุนเวียน รอบแรก 500 MW รอบใหม่อีก 200-300 MW เตรียมงบฯลงทุน 1.9 หมื่นล้านบาท

นายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส-การลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมุ่งมองหานิคมอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมเกี่ยวกับการจัดหาพลังงานสะอาด เพื่อเป็นจุดขายในการดึงดูดการลงทุน

ทำให้เอกชนไทยต่างมองเหมือนกันว่า ทำอย่างไรจะให้โครงสร้างพื้นฐานของไทยมีความพร้อม เพื่อจะรองรับการลงทุนในอนาคตที่จะเข้ามา เพื่อจะผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ที่ต้องการให้มีพลังงานสะอาดที่มีคุณภาพ มีความสม่ำเสมอ ตอบโจทย์เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด ตามเป้าหมาย Net Zero ของแต่ละบริษัท แต่ละโรงงาน

ทาง บี.กริม ก็มีแผนการบริหารจัดการทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านซอฟต์แวร์และแมคคานิสซึม หรือวิธีการต่าง ๆ ในการบริหารจัดการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ อาทิ เรื่องใบรับรอง (REC) เรื่องคาร์บอนเครดิต หรือการพัฒนาพลังงานทดแทนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โซลาร์โฟลตติ้ง และการพัฒนาโครงข่ายอัจฉริยะให้ถึงพร้อม

เพื่อให้การบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และทำอย่างไรให้มีการทำให้เกิดพลังงานทดแทนในกระบวนการผลิตให้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะตอบโจทย์โรงงานอุตสาหกรรมได้อีกที

“สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องคือการปลดล็อกมาตรการเพื่อให้เกิดการใช้แพลตฟอร์มซื้อขายไฟเสรี อยากจะขอให้รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะว่าเรื่องนี้จะทำประโยชน์ให้กับประเทศ ช่วยด้านต้นทุนการผลิตพลังงาน และทำให้ลูกค้าได้พลังงานสีเขียวอย่างเต็มที่ที่สุด และสามารถรองรับความต้องการหลาย ๆ

ส่วนแทนที่จะเป็นพลังงานที่สิ้นเปลืองจากการใช้ไม่เต็มที่นัก ก็อาจจะนำมาใช้ในการซื้อขาย หรือใช้ประโยชน์กันข้ามพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ และเป็นประโยชน์ในเชิงประสิทธิภาพต่อการใช้พลังงานภาพรวมของประเทศได้”

นายนพเดชยังกล่าวอีกว่า หากมีการปลดล็อกให้มีการเปิดระบบนี้จะส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟถูกลงด้วย มีประโยชน์ที่จะได้รับ แต่รัฐบาลคงต้องมองความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการกำหนดค่าธรรมเนียมในการใช้สายส่ง หรือค่าวีนลิ่งชาร์จ เรื่องระบบการจัดการและเรื่องราคา นิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะประเทศต่าง ๆ ไปกันหมดแล้ว นโยบายเพื่อนบ้านต่าง ๆ ก็ส่งเสริมการซื้อขายไฟเสรี

“ส่วนใหญ่การกำหนดนโยบายด้านพลังงานของพรรคการเมืองต่าง ๆ ยังมุ่งไปที่เรื่องนโยบายค่าไฟ แต่ยังไม่มีพรรคใดที่มองถึงต้นทางของพลังงาน ซึ่งการมุ่งเรื่องลดค่าไฟเพียงอย่างเดียวอาจจะเป็นการไปสร้างปัญหาส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง บางอย่างก็ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ และต้องดูแผนพลังงานชาติ ว่าจะมีการนำเอาเรื่องนี้มาบรรจุไว้หรือยัง แผนนี้คาดว่าจะมีการประกาศในช่วงกลางปีนี้ จากนั้นต้องดูว่าจะมีการนำมาใช้ให้เกิดขึ้นจริงได้เมื่อไร”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคเอกชนต่างเห็นถึงแนวโน้มธุรกิจนี้ก็มุ่งที่จะขยายการทำธุรกิจซื้อขายไฟไปยังต่างประเทศ รวมถึง บี.กริมด้วย เพราะมีญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซียก็มีการเดินหน้าไปในทิศทางนี้แล้ว ซึ่งเอกชนไปเพื่อจะไปเรียนรู้ เพื่อเตรียมตัวจะพัฒนานำมาปรับใช้ในบริบทประเทศไทยต่อไป

พร้อมกันนี้ บริษัทได้ยื่นเข้าร่วมโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ feed in tariff (FIT) ปี 2565-2573 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ โดยได้รับการพิจารณาผ่านแล้วรวมทั้งหมด 25 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ จากทั้งหมดที่ยื่นสมัครเข้าร่วม 30-40 โครงการ กำลังการผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ โดยเป็นประเภทพลังงานลม และโซลาร์

“ส่วนที่ไม่ผ่าน 10-15 โครงการส่วนใหญ่ติดเรื่องผังเมือง ซึ่งเป็นเกณฑ์ของเรกูเลตอร์กำหนดมา บางอย่างเราสามารถเจรจา บางอย่างเราขออุทธรณ์เพื่อขอคำชี้แจงเพิ่มเติม บางเรื่องก็สามารถผ่านได้ บางเรื่องก็ต้องกลับไปแก้ไขใหม่ และกลับไปยื่นมาใหม่ในรอบหน้าแทน”

ในส่วนกรณีที่มีผู้ยื่นศาลปกครองเกี่ยวกับการอุทธรณ์รอบใหม่ มองว่าจะไม่กระทบต่อแผนการลงทุนให้ล่าช้ากว่าที่กำหนด เพราะทางบริษัทเตรียมงบประมาณรองรับไว้ในแผนในช่วง 5 ปีแล้ว ประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 19,000 ล้านบาท หากได้ผ่านการพิจารณาทั้งหมด แต่การใช้จ่ายจริงขึ้นอยู่กับว่าเราจะได้กี่โครงการ หรือกี่เมกะวัตต์

สำหรับโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ feed in tariff (FIT) ปี 2565-2573 รอบใหม่ที่จะเพิ่มเติมอีก 3,660 เมกะวัตต์ เข้าใจว่ารอบใหม่จะเป็นโครงการเดิมที่ไม่ได้เข้ารอบลึกเอากลับมาพิจารณา ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะปรับปรุงในรายละเอียดของโครงการที่ไม่ผ่านในรอบแรก เพื่อยื่นขอเข้าร่วมในรอบ 2 อีกครั้ง