ผลคัดเลือก 175 เอกชน ผลิตพลังงานหมุนเวียน 5,000 MW

พลังงานหมุนเวียน

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในการเข้าร่วมโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 ให้กับเอกชนจำนวน 175 ราย รวมปริมาณเสนอขายรวม 4,852.26 เมกะวัตต์ จากที่โครงการเปิดรับทั้งหมด 5,203 เมกะวัตต์ โดยส่วนที่ยังเหลือคือพลังงานไฟฟ้าจากชีวภาพ ซึ่งไม่มีผู้ประกอบการรายใดผ่านเกณฑ์ ทั้งหมด 335 เมกะวัตต์

กระจายทั้งนอก-ในพลังงาน

หากพิจารณารายละเอียดของผลการคัดเลือก จะพบว่ามีการกระจายออกเป็นหลายกลุ่ม ทั้งรายใหญ่ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และรายกลาง รายเล็ก มีทั้งกลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มเกษตรและอาหาร เช่น มิตรผล พิจิตรไบโอ (โรงสีพิจิตรร่วมเจริญฯ) หรือกลุ่ม ซี.พี.ที่ร่วมในนามของบริษัทเรเดียนท์ เพาเวอร์ จำกัดสำหรับกลุ่มเอกชนรายหลักที่ชนะสูงสุดคือ บริษัทเครือข่ายจากกลุ่ม บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ (GULF) ได้รับการคัดเลือกรวม 34 โครงการ รวมกำลังการผลิต 1,972 เมกะวัตต์

รองลงมาคือ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียร์ริ่ง (GUNKUL) 1,596 เมกะวัตต์ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ และเอสซีจี (SCG&BGRIM) 340 เมกะวัตต์ บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) 112 เมกะวัตต์ บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) 168 MW และ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) 189 MW นอกจากนี้มีกระจายไปบริษัทในกลุ่มพลังงานขนาดใหญ่ รายละ 1-2 โครงการ เช่น บมจ.บีซีพีจี บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) (ตามกราฟิก)

หากแยกตามประเภทพลังงานที่เปิดคัดเลือก จะพบว่าพลังงานลมที่เปิดคัดเลือก 1,500 เมกะวัตต์ กลุ่ม GULF 12 โครงการ รวม 622 เมกะวัตต์ กลุ่ม GUNKUL ชนะไป 3 โครงการ 196 เมกะวัตต์ และ SSP 2 โครงการ รวม 16 เมกะวัตต์ และยังมี BlueCircle 5 โครงการ รวม 436.5 MW

กลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar BESS) ซึ่งเปิดทั้งหมด 1,000 เมกะวัตต์ มีผู้ได้รับการคัดเลือก อาทิ กลุ่ม GULF 12 โครงการ ขนาด 650 เมกะวัตต์ กลุ่ม GUNKUL 3 โครงการ 564 เมกะวัตต์ SUPER 4 โครงการ 71 เมกะวัตต์

พลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Only) รวม 2,368 เมกะวัตต์ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก อาทิ กลุ่ม GULF 13 โครงการ กำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์ กลุ่ม GUNKUL 12 โครงการ รวมกำลังผลิต 564 เมกะวัตต์ กลุ่ม ACE 18 โครงการ กำลังผลิต 112 เมกะวัตต์ กลุ่ม SCG&BGRIM 15 โครงการ 340 เมกะวัตต์ SSP 7 โครงการ กำลังการผลิต 152 เมกะวัตต์ SUPER 14 โครงการ รวม 71 เมกะวัตต์ และมิตรผล 17 โครงการ 90 เมกะวัตต์

ADVERTISMENT

ส.อ.ท.ตั้งคำถาม

นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้นับเป็นโครงการที่ดี แต่การออกมาทีเดียว 7 ปีจากที่ปกติจะดำเนินการแบบปีต่อปี อย่างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ หรือโรงไฟฟ้าชุมชน

ซึ่งการวางแผนปีต่อปีอย่างน้อยยังจะพอปรับ “เพิ่ม-ลด” กำลังการผลิตในปีถัดไปได้ หากเกิดปริมาณไฟฟ้าล้นระบบ และโดยปกติแล้วการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยเฉพาะโซลาร์ ไม่ได้ใช้เวลานานเหมือนโรงไฟฟ้าประเภทอื่นที่ต้องใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน จึงควรใช้เป็น Plus หรือ additive หากเหลือช่อง หากไฟฟ้าไม่พอใช้ก็สามารถเปิดและเริ่มทำได้ทันที

ADVERTISMENT

“ในมุมหนึ่งบอกว่าไฟฟ้าล้นระบบ แต่อีกมุมหนึ่งก็เปิดโครงการมาพรวดเดียว 5,000+3,000 รวม 8,000 กว่า MW ซึ่งก็ต้องจำกัด และลด ปลด โรงไฟฟ้าก๊าซ และถ่านหิน เพื่อตอบโจทย์ carbon neutrality ด้วย”

แนวทางการพิจารณาของโครงการ หลักเกณฑ์ส่วนใหญ่ให้เป็นดุลพินิจของทางคณะกรรมการคัดเลือกเกือบทั้งหมด และมีการตั้งราคารับซื้อไว้เลย คือโซลาร์เซลล์ติดตั้งบนพื้นรับซื้อหน่วยละ 2.10 บาท พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีระบบกักเก็บ 2.83 บาท ก๊าซชีวภาพรับซื้อ 2.07 บาท และพลังงานลมรับซื้อ 3.01 บาท กระบวนการให้เวลายื่นเอกสารเบื้องต้นเป็นอย่างไร รวดเร็วภายในหนึ่งเดือน ในช่วงที่รัฐบาลกำลังจะหมดอายุ

พลังงานหมุนเวียน

เกณฑ์การให้คะแนนบางอย่างเป็นที่น่าสนใจ เกณฑ์การให้คะแนนตามขนาดของโครงการ หรือตามการกระจายไปยังจุดต่าง ๆ เพื่อจะได้หล่อเลี้ยงพื้นที่ที่โรงไฟฟ้านั้นตั้งอยู่ และไม่มีค่า loss หรือค่าใช้จ่ายใน
การขยายสายส่งเพิ่มเติม ประกอบกับการกำหนดอัตราค่าไฟรับซื้อเป็นราคาเดียว ซึ่งด้วยหลัก economy of scale ทำให้ต้นทุนรายเล็กอาจจะสูงกว่า

2) หลักเกณฑ์เรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ได้มีการกำหนดว่า ถ้าเป็นเจ้าของที่ดินจะได้คะแนนสูงกว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน หรือสัญญาเช่าที่ดิน ไม่เกี่ยวกับเรื่องการผลิตไฟฟ้าเลย เพราะอย่างโครงการโซลาร์ราชการสหกรณ์ทั้งสองเฟส ผู้ลงทุนก็ต้องไปเช่าที่ดินจากทางสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ ก็สามารถขึ้นโครงการขายไฟฟ้าได้ไม่มีปัญหา

3) เงื่อนไขจากการพิจารณาว่าที่ตั้งที่ดินอยู่ใกล้หรือไกลจากซับสเตชั่นหรือสายส่ง ถ้าเป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) จะไม่มีปัญหาเรื่องระบบ MESH หรือเครือข่ายที่ตั้งจะอยู่ไกล ส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ทั้งการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (MEA&PEA) กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 5 กม. พอรับได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งหากผู้ลงทุนยินดีขยายสายส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายก็จะได้สายส่งฟรี และสามารถนำไปให้บริการในพื้นที่ที่สายส่งไปไม่ถึงได้ เว้นเสียแต่เมื่อคำนวณเรื่องค่า loss แล้วไม่คุ้มกัน

4) ความจำเป็นในการเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์บางอย่าง เช่น คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ เรื่องประสบการณ์ ซึ่งอาจจะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการประกอบอาชีพหรือไม่ หรือผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้มีคดีฟ้องร้องกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เช่นกัน

5) ผลกระทบด้านอื่น ๆ เช่น การกำหนดเงื่อนไขเรื่องการถือครองที่ดิน เดิมบางพื้นที่ ไร่ละ 50,000-80,000 บาท ก็แย่งกันขายแล้ว แต่รอบนี้ทำให้ราคาพุงขึ้นไปไร่ละ 150,000-250,000 บาท ทำให้ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ไว้ก่อนมีต้นทุนถูกกว่า หรือประเด็นโครงการที่ COD หลัง ๆ เช่น ปี’73 เหมือนเป็นทุกขลาภ เพราะต้องหารายได้มาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่เอาไปซื้อที่ดินก่อนถึงเวลาเริ่มโครงการ เป็นต้น

แจงต้องเร่งไฟฟ้าสีเขียว : UGT

อย่างไรก็ตาม นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ระบุว่า การดำเนินการเปิดคัดเลือกโครงการ 5,000 เมกะวัตต์ เป็นไปตามนโยบายภาครัฐ และส่วนหนึ่งมีนักลงทุนต่างชาติที่มองหาโอกาสการลงทุนในประเทศที่สามารถจัดหาพลังงานหมุนเวียนให้พวกเขาได้มากที่สุด

เพราะปัจจุบันตลาดต่างประเทศที่ซื้อสินค้าจากไทยก็ต้องการให้ไทยผลิตสินค้าจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่จะเริ่มนำมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) มาใช้ในเดือนตุลาคม 2566 นี้

ดังนั้น ทำให้ กกพ.ต้องเร่งจัดทำโครงการนี้ให้สำเร็จ เพื่อที่ผู้ซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้อีกด้านหนึ่งก็จะได้รับใบรับรองการใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียว (UGT) ในการผลิตสินค้า (REC) จากหน่วยงานที่ กกพ.กำหนดเป็นผู้ออกให้โดยอัตโนมัติเพื่อนำไปยืนยันกับลูกค้า

ดังนั้น โครงการนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นเร็ว และจำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีประสบการณ์สามารถผลิตไฟฟ้าสีเขียวได้จริง เพื่อให้การส่งออกเป็นไปได้ และที่ต้องกำหนดราคาล่วงหน้าไว้ เพราะที่ผ่านการเปิดให้แข่งขันเสนอราคามีราคาต่ำ จึงต้องกำหนดราคาไว้เลย

ส่วนความกังวลว่าหลังจากประกาศผลการคัดเลือกแล้วจะทำให้มีผู้ยื่นร้องต่อศาลปกครองหรือไม่นั้นคงต้องรอลุ้นกันต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กกพ.ยังต้องเดินหน้าทำสัญญากับผู้ที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อผลักดันการผลิตไฟฟ้าสีเขียวให้เป็นรูปธรรม และให้ไทยก้าวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ตามนโยบายที่รัฐบาลวางไว้