
ประกันรายได้ยางเฟส 4 ป่วน ชาวสวนยางโวยสนั่น จ่ายช้าลากยาวเกือบ 2 เดือน หลังครม.เห็นชอบ และลากยาวจากกำหนดมา 5 วันยังไม่เข้าบัญชี หลายจังหวัด ‘ตราด กระบี่ ยะลา ร้อยเอ็ด บึงกาฬ พัทลุง สุราษฎร์ธานี และกาฬสินธุ์’ ไม่ได้เงินชดเชย
วันที่ 18 เมษายน 2565 หลังจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)โอนเงินชดเชย ประกันรายได้ยางระยะที่ 4 งวดแรก ให้กับชาวสวนยาง 18,709 ราย รวม 55.68 ล้านชบาท
ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 กรอบวงเงินงบประมาณ 7,566.86 ล้านบาท โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 1.6 ล้านราย มีพื้นที่สวนยางกรีดได้ประมาณ 18.18 ล้านไร่
ทั้งนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้จัดทำแผนส่งข้อมูลและการโอนเงินเป็นรายสัปดาห์ รวม 16 รอบ เพื่อให้ ธ.ก.ส. โอนเงินให้แก่เกษตรกร ‘ทุกวันศุกร์ ‘ โดยรอบถัดไปจะโอนในวันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2566
คาดว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการฯ แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2566
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์หลังจากการจ่ายเงิน ปรากฏว่ามีเกษตรกรจำนวนมากโพสต์ข้อความแสดงความเห็นไม่พอใจ ในโซเชียลมีเดียกลุ่มสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศ ซึ่งมีจำนวนสมาชิกกว่า 188,000 คน ถึงปัญหาการจ่ายชดเชยงวดแรก
อาทิ หลายจังหวัด เช่น ตราด กระบี่ ยะลา ร้อยเอ็ด บึงกาฬ พัทลุง สุราษฎร์ธานี และกาฬสินธุ์ยังไม่ได้รับการจ่ายชดเชย ขณะที่บางจังหวัดไม่ทราบราคาอ้างอิงและอัตราชดเชยว่าจะได้เท่าไร และบางรายแสดงความไม่พอใจที่จ่ายเป็นงวด ๆ ได้อัตราชดเชยต่ำเกินไป การจ่ายชดเชยก็ล่าช้านับจากที่ประชุม ครม.อนุมัติ 28 กุมภาพันธ์ แต่จ่ายวันที่ 12 เมษายน ทำให้เงินไม่พอใช้จ่ายช่วงสงกรานต์ หรือมีชาวสวนรอรับชดเชยเป็นล้านคนจ่ายมาแค่หมื่นคน ทำให้ผิดหวัง เป็นต้น
สำหรับ โครงการประกันรายได้ยาง ระยะที่ 4 กำหนด ราคาประกันยาง 3 ชนิด ดังนี้
- ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคาประกัน 60 บาท/กก.
- น้ำยางสด (DRC 100%) ราคาประกัน 57 บาท/กก.
- ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคาประกัน 23 บาท/กก.
โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ระหว่างเจ้าของสวนและคนกรีด สัดส่วน 60% ต่อ 40% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งยางพาราที่จะได้รับสิทธิ์จะต้องเป็นยางพาราต้องมีอายุ 7 ปีขึ้นไป เปิดกรีดแล้ว ชดเชยให้รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยกำหนดการจ่ายชดเชยแบ่งเป็น 16 งวด เริ่มดังกล่าว