หอการค้าไทยคาดวันแรงงานปี 2566 นี้ กลับคึกคักหลังโควิด-19 คาดเงินสะพัดกว่า 2,067 ล้านบาท ขยายตัว 29.8% พร้อมขอรัฐบาลใหม่ดูแลสวัสดิการ สร้างงาน ลดค่าครองชีพ
วันที่ 27 เมษายน 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท แรงงานส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาในเรื่องของรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทำให้มีภาระหนี้ที่สูงขึ้นเนื่องจากค่าครองชีพที่สูง
โดยมีการกู้เงินเพิ่มเพื่อใช้ชำระหนี้ และก่อให้เกิดหนี้สะสม โดยภาระหนี้ครัวเรือนของแรงงานไทยปี 2566 นี้ ขยายตัว 25.05% คิดเป็นมูลค่าหนี้ 272,528 บาทต่อครัวเรือน แต่สัดส่วนหนี้นอกระบบ ลดลงต่ำสุดในรอบ 14 ปี
นอกจากนี้ปีนี้แรงงานมีการวางแผนทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ทำให้มีการใช้จ่ายในช่วงวันแรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500 บาทต่อคน ทำให้วันแรงงานปีนี้ยอดเงินสะพัดอยู่ที่ 2,067 ล้านบาท ขยายตัว 29.8% อย่างไรก็ดี เชื่อว่า หนี้ครัวเรือน อยู่ในสถานะที่ควบคุมได้ แม้หนี้ครัวเรือนที่ประคองตัวสูงแต่น่าจะค่อย ๆ ผ่อนคลายเมื่อเศรษฐกิจฟื้น
สำหรับข้อเสนอของแรงงานไทยที่มีต่อรัฐบาลใหม่ คืออยากให้สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม เพิ่มสวัสดิการที่ดี ทำให้เศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ฟื้นตัว เกิดการสร้างงานโดยไม่ต้องเดินทางเข้าทำงานในเมือง ดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพให้สอดคล้องกับรายได้ รวมถึงการปรับค่าแรงตามความเหมาะสมของอัตราเงินเฟ้อและรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ “สถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จำนวน 1,300 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยสำรวจระหว่างวันที่ 18-24 เมษายน 2566 พบว่าลูกจ้างพนักงานภาครัฐและเอกชน ส่วนใหญ่ 51% อยู่นอกระบบ และอยู่ในระบบประกันสังคม 49%
สำหรับการออมเงินของแรงงาน ไม่มีเงินออม 73.5% ส่วนคนที่มีเงินออม 26.5% โดยมีเงินออมเฉลี่ยที่ 950 บาทต่อเดือน และส่วนใหญ่ 84.1% ไม่มีอาชีพเสริม มีเพียง 15.9% ที่มีอาชีพเสริม เมื่อไปดูสถานภาพหนี้แรงงานของไทย ส่วนใหญ่ 99.1% มีหนี้ครัวเรือน มีเพียง 0.9% หนี้ที่เกิดขึ้นเกิดจากใช้จ่ายประจำวัน หนี้บัตรเครดิต ที่อยู่อาศัย เป็นต้น และหนี้ที่เกิดขึ้น นำไปใช้อุปโภคบริโภค ใช้หนี้เดิม ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ
ลักษณะการชำระหนี้ บัตรเครดิตในแต่ละเดือน ชำระขั้นต่ำ 68.8% รองลงมา แบ่งชำระบางส่วน 26.7% ชำระเต็มจำนวน 4.3% และขาดการชำระและผ่อนผันการชำระ 0.2% โดยหนี้ครัวเรือนกลุ่มแรงงานเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี (นับตั้งแต่ปี 2553)
ภาระหนี้ของครัวเรือน ของแรงงานไทยอยู่ที่ 272,528 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 25.04% ถือว่าสูงสุดในรอบ 14 ปี โดยมีอัตราการผ่อนชำระ 8,577 บาทต่อเดือน ในจำนวนนี้แยกเป็นหนี้ในระบบ 79.84% ผ่อนชำระต่อเดือน 7,936 บาท อัตราดอกเบี้ย 8.76% ต่อปี และนอกระบบ 20.16% ผ่อนชำระต่อเดือน 2,381 บาท อัตราดอกเบี้ย 15.47% ต่อเดือน และใน 1 ปีที่ผ่านมา 58.5% ไม่เคยผิดนัดผ่อนชำระ และภาระหนี้มีผลต่อการใช้จ่ายเท่าเดิม
ขณะที่สถานภาพทางการเงินของแรงงาน การมีปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย 77.2% มีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ส่วน 12.8% ไม่มีปัญหา การใช้จ่ายยังใช้เท่ากับรายได้
ส่วนกิจกรรมในช่วงวันหยุดแรงงานในปี 2566 กลับมาคึกคัก 51.5% ส่วนการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดแรงงาน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2,528 บาท คาดส่งผลให้เกิดมูลค่าการใช้จ่ายในวันแรงงานในปี 2566 มูลค่า 2,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 29.8%
นอกจากนี้ ค่าแรง 450 บาทต่อวัน 39.9% ไม่เห็นด้วย และค่าจ้างปัจจุบันมองว่าปานกลาง อย่างไรก็ดี เสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องค่าแรง หรือค่าครองชีพ เช่น การมีมาตรการในการดูแลช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพิ่มสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดค่าใช้จ่าย และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัว