ครัวเรือนฐานราก จะลืมตาอ้าปากได้อย่างไร ?

ครัวเรือนฐานราก
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : ดร.กิ่งกาญจน์ เกษศิริ, รินรดา ฑีฆธนานนท์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

แม้เศรษฐกิจในภาพรวมจะขยายตัวดีขึ้น แต่มีบางกลุ่มในสังคมไทยที่อาการยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนฐานรากที่สถานะเดิมเปราะบางอยู่แล้วและถูกซ้ำเติมจากหลายปัจจัย ทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รายได้ที่ไม่แน่นอน ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และส่วนใหญ่ก็มีภาระหนี้สินที่บางส่วนได้กลายเป็นหนี้เสียไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา จึงมีคำถามว่าครัวเรือนฐานราก จะกลับมาลืมตาอ้าปากได้อย่างไร ?

แม้ว่าจะไม่มีการวัดขนาดหรือการเติบโตของเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นทางการ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการสำรวจภาวะความเป็นอยู่ของครัวเรือนฐานรากเป็นรายเดือนตั้งแต่ปี 2562 ผ่านแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้จัดการสาขาธนาคารทั่วประเทศ (Relationship Manager Sentiment Index : RMSI) รวมประมาณ 2,000 สาขา เกี่ยวกับภาวะความเป็นอยู่ของลูกค้าฐานรากของธนาคาร ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ ภาระหนี้สิน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ และมาตรการภาครัฐที่ต้องการ

ผลสำรวจล่าสุดพบว่า ภาวะความเป็นอยู่ของครัวเรือนฐานรากยังมีความเปราะบางอยู่มาก โดยดัชนีความเชื่อมั่นครัวเรือนฐานรากเพิ่งกลับมาใกล้เคียงระดับ 50 ซึ่งหมายถึงความเป็นอยู่ทรงตัวได้ในช่วงสิ้นปี 2565 แต่ปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 50 อีกครั้งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

สะท้อนว่าผู้ตอบเชื่อว่าครัวเรือนฐานรากมีภาวะความเป็นอยู่ที่ “แย่ลง” กว่าเดือนก่อนอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักที่ความเป็นอยู่ของครัวเรือนฐานรากแย่ลงมาจากรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย อันเป็นผลจากค่าครองชีพและต้นทุนการประกอบอาชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

ประกอบกับส่วนใหญ่ยังมีภาระหนี้สินในระดับสูง โดยครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม มองว่าครัวเรือนฐานรากควรมีรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3,600 บาท จึงจะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน สอดคล้องกับการสัมภาษณ์สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ที่เห็นว่าครัวเรือนฐานรากมากกว่าร้อยละ 70 มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีคนทำงานเพียงคนเดียว แต่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่และลูก ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายขั้นต่ำต่อเดือนมากกว่า 10,000 บาท

ด้วยเหตุนี้ ครัวเรือนฐานรากจึงต้องพึ่งพาสินเชื่อในการดำรงชีพ อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำ ผลสำรวจ RMSI พบว่าดัชนีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 มาโดยตลอด สะท้อนให้เห็นว่าการชำระหนี้แย่ลงจากเดือนก่อนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังชำระได้เพียงหนี้ขั้นต่ำเท่านั้น และเมื่อครัวเรือนเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น จะนำรายได้ส่วนนี้ไปใช้จ่ายก่อนชำระหนี้ ตอกย้ำว่าครัวเรือนฐานรากอยู่ในวังวนกับดักหนี้ ชำระหนี้เก่าได้น้อย กู้ใหม่ได้ยาก ผลักดันให้ต้องไปกู้ยืมหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น

สำหรับมาตรการช่วยเหลือที่ครัวเรือนฐานรากต้องการจากภาครัฐ ส่วนมากจะเป็นการสนับสนุนค่าครองชีพและการเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการ รวมถึงการพักชำระหนี้และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แสดงถึงรายได้ที่ไม่เพียงพอและการติดกับดักหนี้ จึงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐ

หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกโดยเฉพาะกับกลุ่มครัวเรือนฐานราก ซึ่งจะฉุดรั้งการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นภารกิจหลักของ ธปท.ในปีนี้ โดยสถาบันการเงินและ ธปท. ร่วมกันผลักดันมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เช่น ปรับโครงสร้างหนี้ บริการให้คำปรึกษาแก้ปัญหาหนี้ที่เข้าถึงได้ง่าย ผลักดันกฎหมายที่ช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้

ออกเกณฑ์สำหรับการให้สินเชื่อใหม่เพื่อให้เป็นหนี้ที่มีคุณภาพมากขึ้น และมีเงื่อนไขสินเชื่อที่ดีสำหรับลูกหนี้ที่มีประวัติชำระคืนหนี้ที่ดีกว่า ผลักดันการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเพื่อประเมินและติดตามสินเชื่อ รวมถึงมีโครงการส่งเสริมความรู้และเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชน เพื่อให้ลูกหนี้มองเห็นหนทางแก้ไขปัญหาหนี้ที่เรื้อรัง และกลับมาลืมตาอ้าปากได้

โดยสรุป แม้รายได้ของครัวเรือนฐานรากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจในภาพรวมที่ดีขึ้น

แต่หากมองลึกถึงภาวะความเป็นอยู่ จะพบว่าครัวเรือนฐานรากยังคงเปราะบางมาก ส่วนหนึ่งจากปัญหาหนี้สิน ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้สำเร็จและยั่งยืนนั้นต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน ภาครัฐวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีฐานข้อมูลสินเชื่อที่ครบถ้วน รวมถึงมีกลไกให้คำปรึกษาหนี้และไกล่เกลี่ยหนี้ที่เป็นระบบ

เมื่อครัวเรือนฐานรากมีสุขภาพทางการเงินและภาวะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และพึ่งพาตนเองได้ จะช่วยลดภาระการช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมถึงช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและมีเสถียรภาพที่ดีต่อไป