ไทยวิกฤตขาดแคลนแรงงาน หลังโควิด 52%

เปิดสาเหตุแรงงานไทยขาดแคลน 52% หลังโควิด เมียนมาหายไปถึง 70% ขณะที่กัมพูชา ลาว หายไปกว่า 50% ทำแรงงานเถื่อนทะลัก สัดส่วนชนกลุ่มน้อย เพิ่มขึ้นเกือบ 100,000 คน ปี 2566 ประเมินขาดแคลนทุกระดับกว่า 350,000-500,000 คน หนุนองค์กรเอกชน ตั้งสถาบัน-ศูนย์ฝึกอบรมเอง

วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 รายงานข่าวระบุว่า ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยให้เห็นว่าในช่วงเดือน ก.พ. 2566 ไทยมีจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 1,405,809 คน ลดลงถึง 52% จากก่อนช่วงโควิด-19

โดยแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทย ส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวเมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตร-ปศุสัตว์ ก่อสร้าง และบริการ เมื่อเปรียบเทียบในช่วงก่อนโควิด เดือน ธ.ค. 2562 กับช่วงหลังโควิด ในเดือน ก.พ. 2566 จะเห็นว่าแรงงานชาวกัมพูชามีอัตราลดลงมากที่สุดถึง 70.54% จาก 687,009 คน เหลือเพียง 202,364 คนเท่านั้น

ขณะที่แรงงานชาวเมียนมา ซึ่งเป็นชาติที่จำนวนแรงงานในประเทศไทยมากที่สุด เป็นอันดับ 1 มียอดแรงงานหายไปถึง 53.55% จาก 1,825,979 คน เหลือ 848,173 คน และสุดท้าย แรงงานชาวลาว ลดลง 52.42% จาก 281,345 คน เหลือ 133,859 คน มีการประเมินว่าปี 2566 ไทยจะยังคงขาดแคลนแรงงาน 350,000-500,000 คน แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลงไปแล้ว แต่แรงงานยังไม่กลับมา

ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่กำลังส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น อย่างภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการซึ่งกำลังฟื้นตัวอย่างฉับพลันหลังโควิด ทำให้แรงงานที่ขาดแคลนอยู่แล้ว ยิ่งขาดแคลนหนักขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าตอนนี้มีแรงงานตามมาตรา 63/1 ซึ่งเป็นประเภทชนกลุ่มน้อย เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 96.05% หรือเกือบ 100,000 คน ในขณะที่การเข้ามาตามมาตราอื่น ๆ เช่น นำเข้าแบบตลอดชีพ ตาม MOU ตามการส่งเสริมการลงทุน ตามมติ ครม. 7 กุมภาพันธ์ 2566 และแบบไปกลับตามฤดูกาล กลับมีสัดส่วนลดลง ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในขณะนี้ ไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างด้าวเท่านั้น แต่ปัญหานี้ ยังลุกลามบานปลายไปถึงแรงงานวิชาชีพ แรงงานทักษะสูงอีกด้วย

โดยมีข้อมูล ผลการสำรวจความต้องการแรงงาน จากโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปี 2565 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงานทุกระดับ ถึง 168,992 คน แบ่งเป็นระดับปริญญาตรีขึ้นไปถึง 29,037 คน ระดับ ปวช.-ปวส. 38,079 คน ระดับ ป.6-ม.6 96,786 คน และอื่น ๆ อีก 5,090 คน

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ 5,294 คน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 5,035 คน และบริการที่มีมูลค่าสูง 4,517 คน ซึ่งคือเหล่านักวิศวกร ช่างอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และนักบริหารธุรกิจ

ย้อนกลับไปถึงสาเหตุของปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่กำลังวิกฤตในขณะนี้ เป็นผลพวงมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานต้องกลับประเทศ โดยเฉพาะแรงงานชาวเมียนมา ที่มีข้อจำกัดในการส่งแรงงานออกนอกประเทศ ทำให้มีแรงงานผิดกฎหมายทะลักเข้ามา

ขณะที่สถาบันการศึกษาในประเทศไม่สามารถผลิตบุคลากรได้ทัน หรือไม่ตรงตามที่ตลาดต้องการ ทางออกของเรื่องนี้ ไทยต้องมีแนวทางสนับสนุน และเพิ่มจำนวนแรงงานไทยให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวแบบถูกต้อง ภายใต้การ MOU กับหน่วยงานรัฐของประเทศต้นทาง ตลอดจนการอัพสกิล-รีสกิล โดยสถาบันการศึกษาสนับสนุนการสร้างบุคลากรให้ตรงตามที่ต้องการ หรือแม้แต่องค์กรภาคเอกชน หันมาตั้งสถาบัน หรือศูนย์ฝึกอบรมเอง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า แรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างคนอย่างมากที่สุด ทางบีโอไอจึงได้ใช้กลยุทธ์ 2 ด้าน คือ build and buy ทั้งการพัฒนาบุคลากรในประเทศ และการดึงคนเก่งจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย การสร้างคน บีโอไออยากเชิญชวนให้บริษัทที่มีศักยภาพดำเนินการ ตั้งสถาบัน เช่น ปตท. ทำสถาบัน Vistec กำเนิดวิทย์ หรือ CP ทำปัญญาภิวัฒน์ โตโยต้าทำวิทยาลัยยานยนต์ IRPC มีวิทยาลัยด้านปิโตรเคมี

โดยบีโอไอมีมาตรการพร้อมสนับสนุน หากบริษัทใดมีอะคาเดมีเทรนพนักงาน สามารถมาขอใช้สิทธิบีโอไอได้ ขณะที่คลังก็มีมาตรการสนับสนุน เช่น หากบริษัทใดเทรนบุคลากรจะสามารถลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า และยิ่งถ้าเป็นการเทรนในหลักสูตรเป้าหมายจะหักได้ 2.5 เท่า

อีกด้านหนึ่ง ไทยจำเป็นต้องดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาช่วยเรา โดยได้มีการเร่ง talent pool ที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต นั่นจึงเป็นเหตุให้ได้ออก smart VISA และ long term residence VISA หรือ LTR เพื่อจะดึงคนเก่งจากทั่วโลกให้เข้ามาอยู่ในเมืองไทย

ทั้งหมดนี้ หากไทยสามารถแก้ปัญหาแรงงานได้ นอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนแล้ว ยังทำให้ไทยได้เปรียบคู่แข่งแทบจะทุกด้านอีกด้วย