1-7 พ.ค. 66 ภาคเหนือ-อีสาน ฝนฟ้าคะนอง กรมชลฯเตรียม 12 มาตรการรับมือ

สภาพอากาศ ฝนตก พายุฤดูร้อน

1-7 พ.ค. 66 ภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง กรมชลฯเตรียม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 คู่ขนานความพร้อมรับมือสถานการณ์เอลนีโญ

วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 1-7 พ.ค. 66 ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนฟ้าคะนองในบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ให้หน่วยงานในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างประณีตที่สุด

ดร.ทวีศักดิ์เปิดเผยว่า แม้ว่าผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งจะสิ้นสุดลงตามแผนที่วางไว้ กรมชลประทานยังขอเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี’66 ที่กรมชลประทานกำหนด

ได้แก่ 1.จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี 2.บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด 3. ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก 4.กักเก็บน้ำในเขื่อน รวมไปถึงแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้มากที่สุด 5.วางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 อย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม กรมเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าเกณฑ์ และอาจเกิดฝนทิ้งช่วง ให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งขอความร่วมมือไปยังประชาชนกลุ่มผู้ใช้น้ำ และทุกภาคส่วน ให้ช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด

ทั้งนี้ ปัจจุบัน (1 พ.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 44,004 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 20,062 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 13,238 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 6,542 ล้าน ลบ.ม.

ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี’65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 25,200 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 92 ของแผน (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 9,120 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 101 ของแผน เกินแผน 20 ล้าน ลบ.ม. (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.)

ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.38 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 6.35 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผน