กรมโรงงานฯจ่อให้ผู้ซื้อ “ไซยาไนด์” ทุกรายต้องลงทะเบียน

กรมโรงงานอุตสาหกรรมถกด่วน เตรียมให้ผู้ซื้อทุกรายลงทะเบียนก่อนซื้อสารไซยาไนด์ทุกประเภท ชี้ “โซเดียมไซยาไนด์-โพแทสเซียมไซยาไนด์” เป็นคนละประเภท แต่มีฤทธิ์อันตรายถึงชีวิตเหมือนกัน ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เกษตรและการแพทย์เท่านั้น

วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันสารไซยาไนด์มี 2 ประเภทที่ กรอ.ควบคุมดูแลอยู่ คือ โซเดียมไซยาไนด์ และโพแทสเซียมไซยาไนด์ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้มีไว้ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น การสกัดแร่ การชุบทอง ใช้ในภาคการเกษตร เช่น ยาฆ่าแมลง และใช้ในการแพทย์ เช่น การผลิตยา

โดยเมื่อเดือนมกราคม 2566 ได้มีประกาศจากกรมโรงงานฯ กระทรวงอุตสาหกรรม ถึงแนวทางการควบคุมสารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนซิลคลอไรด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ เนื่องจากพบว่าสามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นในกระบวนการยาเสพติด ดังนั้น จำเป็นที่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้า ปริมาณ และการนำไปใช้

“สำหรับกรณีการใช้สารโพแทสเซียมไซยาไนด์ ในคดีของแอมนั้น เป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์ และขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างตรวจสอบถึงการซื้อ-ขายว่าทำไมถึงหาได้ง่าย”

ในส่วนของ กรอ. หน้าที่ คือ การเข้าไปควบคุมดูแลต้นทาง ตั้งแต่การนำเข้า โดยขั้นตอนดังกล่าว ปัจจุบันไซยาไนด์ ทุกประเภทต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศผ่านผู้นำเข้า และสามารถกระจายไปได้ 2 ทาง

  1. ขายตรงให้กับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
  2. ขายให้เทรดเดอร์ ร้านค้าปลีกเคมีภัณฑ์

โดยในส่วนนี้เองโรงงานขนาดเล็ก ร้านชุบเงินชุบทอง ประชาชนทั้วไปสามารถซื้อได้ จึงอาจเป็นช่องโหว่ทำให้สารไซยาไนด์ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เบื้องต้นได้มีการหารือเร่งด่วนถึงมาตรการที่จะควบคุมการซื้อ เช่น การให้ผู้ซื้อต้องลงทะเบียนการซื้อก่อน

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่จะออกมาแบบแนวทางที่ยังไม่สรุปชัดเจน แต่จะต้องดำเนินการโดยรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ที่นำสารไซยาไนด์ ไปใช้ประโยชน์จริง ๆ แน่นอน