กฟผ.ยันหลักการซื้อไฟฟ้าต้นทุนต่ำสุดก่อน กระทบค่าไฟน้อยที่สุด-ลุ้น กกต.เคาะหมื่นล้าน

ค่าไฟฟ้า

กฟผ.ยืนยันสั่งการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากต้นทุนต่ำที่สุดก่อน ส่วนประเด็นซื้อไฟต้นทุนแพงจากเอกชน คิดเป็นสัดส่วน 7% เท่านั้น ยึดหลักกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด รอลุ้น กกต. ไฟเขียวงบฯ 1 หมื่นล้าน

วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 รายงานข่าวแจ้งว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดใหม่เดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ในอัตรา 4.70 บาท/หน่วย มีผลบังคับใช้เป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ทั้งประเภทครัวเรือนที่อยู่อาศัยและภาคอุตสาหกรรม/บริการอื่น ๆ ซึ่งเปรียบเทียบแล้วลดลงจากงวดก่อน เดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ประเภทที่อยู่อาศัยที่เคยเก็บที่ 4.72 บาท/หน่วย และภาคอุตสาหกรรมเคยเก็บที่ 5.33 บาท/หน่วย

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึง กฟผ. ใช้หลักการบริหารจัดการเดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนเชื้อเพลิงราคาต่ำที่สุดก่อน จนถึงเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนสูงขึ้นตามลำดับ โดยเงื่อนไขการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้า กฟผ. ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ

โดยค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 กฟผ.ได้สั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งของ กฟผ. และเอกชน โดยพิจารณาจากต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำที่สุด ที่มีราคาซื้อไฟฟ้าตั้งแต่ 2 บาท/หน่วย ไปจนถึง 9.85 บาท/หน่วย ซึ่งปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนในราคา 6.11-9.85 บาท/หน่วย มีปริมาณน้อยมาก คิดเป็น 7% เท่านั้น เมื่อนำมาเฉลี่ยกับโรงไฟฟ้าอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่าแล้ว จึงทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 อยู่ที่ราคา 4.72 บาท/หน่วย

“การซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนในราคา 6.11-9.85 บาท/หน่วย เป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล ซึ่งมีราคาถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วย Spot LNG ที่ราคา 7.91-11.36 บาท/หน่วย ดังนั้น คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน จึงได้พิจารณาให้เดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล แทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงนำเข้า Spot LNG

ทั้งนี้ในช่วงที่มีสถานการณ์พลังงานปกติ อ้างอิงจากค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2564 ค่าซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยจาก 5 โรงไฟฟ้านี้ จะเท่ากับ 2.94 บาท/หน่วยเท่านั้น ดังนั้น ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า กฟผ. บริหารจัดการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างมีหลักการ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด”

รายงานข่าวแจ้งว่า ความคืบหน้าที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการขออนุมัติงบฯกลางช่วยเหลือค่าไฟกลุ่มเปราะบางล่าสุดปรับวงเงินเหลือ 10,646 ล้านบาท ลดลงจาก 11,112 ล้านบาท พร้อมส่งเอกสารเพิ่มเติมรอบ 2 ประกอบการนำเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาเห็นชอบ หลังล่าสุด กกพ.มีมติลดค่าไฟลง 7 สตางค์/หน่วย จากมติเดิม 4.77 บาท/หน่วย เหลือ 4.70 บาท/หน่วย

ซึ่งเบื้องต้น กกต.อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสาร วิเคราะห์เนื้อหาความจำเป็นและเงื่อนไขต่าง ๆ บรรจุในระเบียบวาระการประชุมให้ที่ประชุม กกต.พิจารณาตามลำดับต่อไป ขณะนี้จึงยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ ออกมา

โดยมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ขยายเวลาออกไป 4 เดือนในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 กำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ

ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยระหว่าง 1-150 หน่วย/เดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สตางค์/หน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) เรียกเก็บและส่วนลด 1.39 สตางค์/หน่วย

ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยระหว่าง 151-300 หน่วย/เดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 67.04 สตางค์/หน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าเอฟทีเรียกเก็บและส่วนลด 26.39 สตางค์/หน่วย

ขณะที่ผู้ใช้ฟ้าบ้านอยู่อาศัยไม่เกิน 500 หน่วย/เดือน ให้ส่วนลดค่าไฟ 150 บาท/หน่วย 1 เดือนในรอบบิลเดือน พ.ค. 2566