ลุ้น ส้มควาย จ.ภูเก็ต ขึ้นทะเบียนจีไอ ต่อยอดเพิ่มรายได้

ส้มควาย

กรมทรัพย์สินทางปัญญา นำทีมลงพื้นใต้ ดันนโยบาย GI Plus ต่อยอดมูลค่า เพิ่มสินค้าสับปะรดภูเก็ต ติดตามการขึ้นทะเบียน GI ส้มควายภูเก็ต

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ลงพื้นที่จังหวัดพังงาและภูเก็ตติดตามความคืบหน้าในการส่งเสริมสินค้า GI ใน 2 จังหวัด ตามการผลักดันนโยบาย GI Plus ที่จะช่วยพัฒนาสินค้าในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์โดยนักออกแบบ
มืออาชีพ การต่อยอด GI ด้วยมาตรฐานออแกนิค เป็นต้น

โดยปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีสินค้า GI จำนวน 2 สินค้า ได้แก่ สับปะรดภูเก็ต (2552) และมุกภูเก็ต (2560) มีสินค้าที่อยู่ระหว่างยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI 1 สินค้า ได้แก่ ส้มควายภูเก็ต โดยจังหวัดภูเก็ต
เป็นแหล่งปลูกสับปะรดที่มีชื่อเสียงมานาน สับปะรดที่ปลูกเป็นสายพันธุ์ควีน ปลูกในอำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง มีเนื้อหวานกรอบ กลิ่นหอม มีใยน้อย จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมาก มีปริมาณการผลิต 1,200,000 ลูก/ปี สร้างมูลค่าทางการตลาด 33 ล้านบาท/ปี

รายงานข่าวระยุว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้นำแนวทาง GI Plus มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์โดยนักออกแบบมือรางวัลระดับประเทศ และร่วมมือกับบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานพันธมิตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา สนับสนุนช่องทางจำหน่ายสินค้า ณ Central Food Hall Porto de Phuket รวมถึงยังได้พบกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรบางหวานพัฒนา ผู้ผลิตส้มควายภูเก็ต

ทั้งนี้ เพื่อชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมในคำขอเพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนคุ้มครองส้มควายภูเก็ตเป็นสินค้า GI ไทยได้ ซึ่งนับเป็นหนึ่งสินค้าที่มีเอกลักษณ์ซึ่งหาที่อื่นไม่ได้

“ส้มควาย” เป็นส้มพื้นเมืองของจังหวัดภูเก็ต ตระกูลเดียวกับ “ส้มแขก” มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือขนาดผลใหญ่เนื้อมาก เป็นส้มควายสด พันธุ์ Peduculata ผลทรงกลมขนาดใหญ่ ร่องตื้น เนื้อละเอียด หนา แน่น รสชาติเปรี้ยว นิยมนำส้มควายมาตากแห้ง และบดเป็นผงก่อนนำมาผสมกับน้ำร้อน เพื่อแช่เท้า ลดอาการปวดเมื่อย อาการเท้าบวม ได้เป็นอย่างดี ปลูกและแปรรูปในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง

สำหรับจังหวัดพังงามีสินค้า GI จำนวน 2 สินค้า ได้แก่ ทุเรียนสาลิกาพังงา (2561) และข้าวไร่ดอกข่าพังงา (2563) มีสินค้าที่อยู่ระหว่างยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI 1 สินค้า ได้แก่ มังคุดทิพย์พังงา

ส่วน “ทุเรียนสาลิกาพังงา” เป็นอีกหนึ่งสินค้าสำคัญของจังหวัดพังงา เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกเฉพาะในอำเภอกะปง มีผลทรงกลมขนาดค่อนข้างเล็กประมาณ 1.5 – 2.0 กิโลกรัม/ลูก เนื้อหนาละเอียดสีเหลืองเข้ม กลิ่มหอม รสชาติหวาน แกนกลางเปลือกทุเรียนจะมีสีสนิมแดง

คำว่า “สาลิกา” เป็นชื่อพันธุ์ที่คนท้องถิ่นใช้เปรียบเปรยความอร่อย เหมือนดังจะงอยปากของนกสาลิกาที่มีเสียงไพเราะ มีต้นดั้งเดิมที่อายุมากกว่า 100 ปี ยังคงยืนต้นและให้ผลดกอยู่ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองรสชาติทุเรียนใต้แท้ๆ ที่มีผลผลิตเพียงปีละครั้ง ซึ่งในปีนี้ผลผลิตจะเริ่มออกช่วงเดือนมิถุนายน 2566 สามารถสั่งจองล่วงหน้า โทร. 0972409047 หรือ Line @Petcharapornfarm