ผู้บริหารเบนซ์ทั่วโลก ลุ้นไทยหนุนผลิตอีวีต่อเนื่อง

โรงงานเบนซ์

ไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ที่เรียกว่า 30@30 มีเป้าหมายจะผลิตให้ได้ 7.2 แสนคันในปี 2030 ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) กับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ถึง 14 ราย มูลค่าเงินลงทุน 9,453.4 ล้านบาท และมีโครงการ BEV ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมแล้ว 15 โครงการ งบฯลงทุน 34,436.7 ล้านบาท

เมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยเป็นรายแรก ในโครงการผลิตรถ BEV และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) โดยเลือกให้บริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้ ทำให้ไทยนับเป็น 1 ใน 7 ฐานการผลิตแบตเตอรี่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ทั่วโลก

ล่าสุดได้มีการจัดประชุม ผู้บริหารระดับสูงของเมอร์เซเดส-เบนซ์ กว่า 20 ประเทศทั่วโลก (Regional Overseas Meeting) เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2566 ที่กรุงเทพฯ ผู้บริหารต่างให้ความสนใจความพร้อมของไทยในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมอีวีของภูมิภาค ตลอดจนการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า

โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนด้านสถานีชาร์จไฟฟ้า ความพร้อมของระบบจัดหาพลังงานหมุนเวียนสำหรับภาคธุรกิจ ความต่อเนื่องของมาตรการสนับสนุน (EV3.0) และการใช้ประโยชน์จาก FTA ต่าง ๆ เพื่อให้ไทยเป็นฐานการส่งออกอีวีไปทั่วโลก

โรงงานเบนซ์

EQS ผลิตในไทย 100%

นายมาร์ค เบอร์เกอร์ ประธานบริหารบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนในส่วนของโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับพันธมิตรโดยได้ผลิตรถยนต์ประเภทปลั๊ก อิน ไฮบริด และเริ่มประกอบแบตเตอรี่ตั้งแต่ปี 2562

“ปัจจุบันเมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้เริ่มขึ้นไลน์การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% อย่าง EQS 500 4MATIC AMG Premium ซึ่งเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกที่ประกอบในไทย รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่แรงดันสูงที่ติดตั้งในรถรุ่นดังกล่าว ให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ ซึ่งถือเป็นแบรนด์รถยนต์ระดับหรูรายแรกที่มีการผลิตและการประกอบแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะสร้างธุรกิจรถยนต์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2582”

4 มาตรการที่เบนซ์สนใจ

ผู้บริหารเบนซ์เสริมว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องการมากกว่าการลดหย่อนทางภาษี คือ เรื่องการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ โดยสนับสนุนกฎหมายและความสะดวกในการดำเนินธุรกิจอย่างยืดหยุ่น พร้อมส่งเสริมแพลตฟอร์มอย่าง battery swapping รวมถึงการพูดคุยกับนักลงทุนตลอดเวลา เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน

โรงงานเบนซ์

3 กลยุทธ์ดันไทยสู่ระดับโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม EV จะเป็นหัวจักรใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ต้องอาศัยนโยบายจากหลายภาคส่วน เพื่อออกมาตรการสนับสนุนครบวงจร

การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ไทยจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนอีวีอย่างต่อเนื่อง โดยบีโอไอมุ่งเน้น 3 กลยุทธ์สำคัญ คือ การเดินหน้าดึงบริษัทใหม่ตั้งฐานผลิตอีวีรวมทั้งการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านมาสู่อีวี การสร้างความเข้มแข็งให้ซัพพลายเชนในประเทศ

โดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอีวี รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs ไทยด้วย และการส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศอีวีทั้งสถานีชาร์จ การพัฒนาทักษะบุคลากร การปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อธุรกิจ การจัดทำมาตรฐาน การสร้างศูนย์ทดสอบ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เพื่อรองรับการสร้างฐานอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนในระยะยาว