กรมชลฯประเมินปริมาณน้ำฝนปี’66 น้อยกว่าปกติ 5% ดีมานด์ 30,246 ล้าน ลบ.ม.

ฝนตกหนัก
ภาพจาก Photo by Expo Jimetro: https://www.pexels.com

กรมชลประทาน เผยปริมาณฝนปี 2566 นี้น้อยกว่าปกติ 5% ขณะที่ ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักยังคงเหลือความจุอีกมาก ปีนี้ความต้องการน้ำ 30,246 ล้าน ลบ.ม.

 

วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566 พบว่า ปริมาณฝนรวมของประเทศในช่วงฤดูฝนจะน้อยกว่าปี 2565 และจะน้อยกว่าปกติประมาณ 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งมีปริมาณสูงกว่าปกติ 14% ทั้งนี้ ฤดูฝนของไทยปี 2566 นี้ จะเริ่มต้นปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม และสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2566

พร้อมกับคาดว่าฤดูฝนปีนี้จะมีพายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 1-2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566

ปริมาณฝน

ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566 จะมีปริมาณฝนตกต่อเนื่อง 40-60% ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝน 60-80% ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากในบางแห่ง

เดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 ฝนตกชุกหนาแน่น ฝนตก 60-80% ของพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ กับมีฝนหนักหลายพื้นที่ หนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่

กลางเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม 2566 ปริมาณและการกระจายของฝนลดลง อาจก่อให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซาก นอกเขตชลประทาน

เดือนตุลาคม 2566 บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนลดลง และเริ่มจะมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า โดยเฉพาะตอนบนของภาค บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนาแน่นในบางแห่ง

สภาพภูมิอากาศ 17 พฤษภาคม 2566

ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับ ลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 17-23 พฤษภาคม 2566

มีการคาดหมายว่า 17-21 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยตอนบนฝนเริ่มน้อยลง โดยยังมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อากาศร้อนตอนกลางวัน และ 22-26 พฤษภาคม 2566 จะมีฝนเพิ่มขึ้น วิเคราะห์ได้เป็นแนวคุ้งหรือแนวโค้งของลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้เริ่มพัดปกคลุม ปกคลุมบริเวณภาคอีสาน สำหรับภาคตะวันออก (จันทบุรี ตราด) และภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน ด้านรับลมตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมจะมีกำลังปานกลาง ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 คลื่นลมจะเริ่มแรงขึ้น

ปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลัก ปี 2566

เขื่อนภูมิพล มีความจุ 13,462 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลเข้า 17.73 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การได้ 4,040 ล้าน ลบ.ม. ประมาณ 42% รับได้อีก 5,622 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนสิริกิติ์ มีความจุ 9,510 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลเข้า 5.70 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การได้ 1,405 ล้าน ลบ.ม. ประมาณ 21% รับได้อีก 5,255 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีความจุ 939 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลเข้า 1.24 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การได้ 197 ล้าน ลบ.ม. ประมาณ 22% รับได้อีก 699 ล้าน ลบ.ม.

เชื่อนปาสักชลสิทธิ์ มีความจุ 960 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลเข้า 0.0 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การได้ 183 ล้าน ลบ.ม. ประมาณ 19% รับได้อีก 774 ล้าน ลบ.ม.

แผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝน 2566

ทั้งประเทศ ปริมาณน้ำต้นทุน 20,247 ล้าน ลบ.ม. ความต้องการน้ำ 30,246 ล้าน ลบ.ม. น้ำชลประทาน 14,851 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรโดย อุปโภคบริโภค 1,752 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 6% รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 6,175 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 20% เกษตรกรรม 21,865 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 72% อุตสาหกรรม 454 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 2% แผนการเพาะปลูก 22.71 ล้านไร่ นาปี 16.97 ล้านไร่