เช็กสถานะ ‘เขื่อน’ ก่อนภัยแล้ง ปี’66 จะมาถึง

เช็กสถานะ 'เขื่อน' ก่อนภัยแล้ง ปี 66 จะมาถึง
เช็กสถานะ 'เขื่อน' ก่อนภัยแล้ง ปี 66 จะมาถึง

เช็กอัพเดตสถานะเขื่อนก่อนภัยแล้ง ปี’66 จะมาถึง ปริมาณน้ำภาพรวม 28,827 ล้าน ลบ.ม. ยังสูงกว่าปี’65 น้ำใช้การได้เฉลี่ย 4 เขื่อนหลักยังเกินกว่า 50% ยกเว้นเขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำใช้การได้ 2,544 ล้าน ลบ.ม ต่ำแค่ 38%

วันที่ 6 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศไทยเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นหลังจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน เริ่มอ่อนกำลังลง ทำให้แม้ว่าจะยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้

ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร แต่หลายภาคส่วนกำลังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ปริมาณน้ำใช้ในปีนี้มีมากกว่าปีที่แล้ว

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะรายงานว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำใช้การได้ของทั้งประเทศอยู่ที่ 28,827 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2565 ที่มีปริมาณ 26,445 ล้าน ลบ.ม. ถึง 2,381 ล้าน ลบ.ม. โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าหากเปรียบเทียบปริมาณน้ำใช้การได้ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของปีนี้และปีที่แล้วจะพบว่า แทบทุกภาคปริมาณน้ำปีนี้ลดลงต่ำกว่าปีก่อน

เช่น ภาคตะวันตกปริมาณน้ำ 6,956 ล้าน ลบ.ม. จากปีก่อนที่มีปริมาณน้ำ 9,406 ล้าน ลบ.ม., ภาคใต้มีปริมาณน้ำ 4,239 ล้าน ลบ.ม. จากปีก่อนที่มีปริมาณน้ำ 4,967 ล้าน ลบ.ม., ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำ 1,436 ล้าน ลบ.ม. จากปีก่อนที่มีปริมาณน้ำ 1,445 ล้านลบ.ม., ภาคกลางมีปริมาณน้ำ 1,029 ล้าน ลบ.ม. จากปีก่อนที่มีปริมาณน้ำ 1,117 ล้าน ลบ.ม. ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เป็นภาคที่มีปริมาณน้ำมากกว่าปีก่อน

เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาใช้น้ำได้กว่า 9.6 พันล้าน ลบ.ม.

โดยหากวัดเฉพาะปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่ามีปริมาณน้ำกักเก็บรวม 16,304 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่าง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นน้ำที่ใช้การได้รวม 9,608 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 53 แยกเป็นรายละเอียด ดังนี้

-เขื่อนภูมิพล ปริมาณน้ำกับเก็บ 9,881 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73 น้ำใช้การได้ 6,081 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63

-เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำกักเก็บ 5,394 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 น้ำใช้การได้ 2,544ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 38

-เขื่อนแควน้อย ปริมาณน้ำกักเก็บ 539 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ปริมาณน้ำใช้การได้ 496 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55

-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำกักเก็บ 490 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ปริมาณน้ำใช้การได้ 487ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51

เช็กสถานะ 'เขื่อน' ก่อนภัยแล้ง ปี 66 จะมาถึง
เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา

จัดสรรน้ำไปแล้ว 16,656 ล้าน ลบ.ม.

ผลจัดสรรนํ้าฤดูแล้ง ปี 2565/66 (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มี.ค. 66) ทั้งประเทศ แผนจัดสรรน้ำ 27,685 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 16,656 ล้าน ลบ.ม. (61%) คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 11,029 ล้าน ลบ.ม. (39%)

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนจัดสรรน้ำ 9,100 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 5,961 ล้าน ลบ.ม. (66%) คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 3,139 ล้าน ลบ.ม. (34%)

ลุ่มน้ำแม่กลอง แผนจัดสรรน้ำ 5,500 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 1,605 ล้าน ลบ.ม. (30%) คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 3,895 ล้าน ลบ.ม. (70%)

เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเกิน 10 ล้านไร่

ส่วนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2565/66 (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มี.ค. 66) ทั้งประเทศ แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 10.42 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 9.28 ล้านไร่ (89%) ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 6.64 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 6.25 ล้านไร่ (94%) ลุ่มน้ำแม่กลอง แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 0.84 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 0.17 ล้านไร่ (20%)