ราคาน้ำมันดิบ (1 มิ.ย. 66) ปรับลด หลังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์

ราคาน้ำมันดิบ
Photo by ANDER GILLENEA / AFP

ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และดัชนีภาคการผลิตของจีนที่หดตัวลง

วันที่ 1 มิถุนายน 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับลด หลังตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และดัชนีภาคการผลิตของจีนที่หดตัวลงมากกว่าที่คาด

โดยสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือน พ.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 48.8 ปรับลดจากระดับ 49.2 ในเดือน เม.ย. 66 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 49.4 ส่งผลให้นักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก

สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่าตัวเลขการเปิดรับสมัครงานซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ปรับเพิ่ม 358,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.1 ล้านตำแหน่ง ในเดือน เม.ย. 66 สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 9.4 ล้านตำแหน่ง

หลังตลาดปิด สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐ (API) เผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 26 พ.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลัง อุปสงค์น้ำมันเบนซินในสหรัฐ และเม็กซิโก มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ อย่างไรก็ตาม กาตาร์มีแนวโน้มส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานน้ำมันดีเซลในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือตึงตัว อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำมันดีเซลในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวโน้มลดลง

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 31 พ.ค. 2566 อยู่ที่ 68.09 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -1.37 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 72.66 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.88 เหรียญสหรัฐ