
อีอีซี เข็น 4 โครงการลุยลงทุนครึ่งปีหลัง โรดโชว์ฝรั่งเศสจ่อดึงอุตฯอวกาศหวังฟื้น MRO ยังไม่พับแผน ล่าสุด 5 เดือนแรก กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยยอดจัดตั้งธุรกิจตั้งใหม่ในอีอีซี 4 พันราย ทุ่มเงินลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 52%
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ 2566 คาดว่าจะมีการลงทุนเข้ามาประมาณ 476,000 ล้านบาท เป็นส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 370,000 ล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐาน 106,000 ล้านบาท
โดยในช่วงครึ่งปีหลังยังคงเร่งเดินหน้า 5 โครงการสำคัญที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน (EEC Project List) โดยเฉพาะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งล่าสุด ครม.ได้มีมติแก้ไขสัญญาที่ร่วมลงทุนกับเอกชน เช่น การปรับระยะการพัฒนางานหลักส่วนของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ศูนย์การขนส่งภาคพื้น การให้บริการภาคพื้นดินเป็น 6 ระยะ จากเดิม 4 ระยะ แต่เป้าหมายการรองรับผู้โดยสารยังคงอยู่ที่ 60 ล้านคน/ปีเช่นเดิม
การปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ของเอกชนคู่สัญญาใหม่ การเลื่อนวันเริ่มนับระยะเวลาให้บริการและบำรุงรักษาโครงการ ทั้งนี้ ยังพยายามในการสนับสนุนการจัดหาแหล่งเงินกู้ ให้ได้เงื่อนไขที่ดีกว่าตลาดของสถาบันทางการเงินเอกชนทั่วไป ส่วนความคืบหน้าด้านอื่น
ขณะนี้มีการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่โครงการ เช่น งานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย ระบบเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ซึ่งตามแผนจะเริ่มเปิดดำเนินการเฟส 1 ในปี 2570
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือไฮสปีดเทรน สนามบินมีการส่งมอบพื้นที่โครงการให้เอกชนตามคู่สัญญาดำเนินการ มีการออกแบบและการก่อสร้างโครงการพื้นฐานแล้ว จะเปิดปี 2570 เช่นกัน
และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ได้มีการถมทะเล สร้างอาคารท่าเทียบเรือชายฝั่งและมีการชดเชย เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการไปแล้ว จะเปิดดำเนินการท่าเรือ F1 ในปี 2570 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายในงานถมทะเล เขื่อนกันคลื่นทะเล ก่อสร้างถนนสะพานเข้า-ออก พร้อมปี 2570 จะเริ่มเปิดดำเนินการท่าเรือก๊าซ
นายจุฬากล่าวว่า ในส่วนของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) แม้จะการชะลอโครงการ เนื่องจากการบินไทยอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการและมีสถานะเป็นเอกชน แต่รัฐยังกันพื้นที่ส่วนหนึ่งเอาไว้และดึงดูดการลงทุนจากบริษัทการบินอื่น ๆ เข้ามา ซึ่งยังเป็นโครงการที่ยังไม่ได้ล้มเลิก
นอกจากโครงสร้างพื้นฐานที่ทยอยเดินหน้า อีอีซียังต้องเร่งแผนชักจูงการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมาจากการโรดโชว์ 18 ประเทศทั่วโลก หลังจากที่ได้ไปโรดโชว์ที่อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ที่ได้พบนักลงทุนหลายบริษัท
ซึ่งให้ความสนใจทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีชีวภาพ BCG เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะอุตสาหกรรมดิจิทัล ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ เทคโนโลยีการป้องกันประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมการแพทย์และยา และเร็ว ๆ นี้เตรียมไปฝรั่งเศส เพื่อเจรจาดึงอุตสาหกรรมอากาศยาน และศูนย์ซ่อมอากาศยาน
สำหรับเป้าหมายโดยรวม ช่วงปี 2566-2570 ยังคงที่จะดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้ GDP โต 5% ต่อปี โดยจะต้องดึงการลงทุนจากอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ได้ 400,000 ล้านบาท/ปี จาก 5 คลัสเตอร์หลัก คือ ยานยนต์ นวัตกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ BCG การแพทย์และสุขภาพ รวมถึงบริการ
รายงานข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) 2566 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเขตพื้นที่อีอีซี รวม 4,384 ราย เพิ่มขึ้น 29.59% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนมูลค่าทุนจดทะเบียน 15,588.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็น 52.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเภทธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และบริการร้านอาหาร
ทั้งนี้ จึงส่งผลให้ปัจจุบันมีพื้นที่ 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) ในอีอีซี มีนิติบุคคลที่ยังมีสถานะคงอยู่สะสมจนถึง 31 พฤษภาคม 2566 รวม 84,531 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.79% และมีทุนจดทะเบียนรวม 1,616,564.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.99%
โดยแบ่งเป็นนิติบุคคลใน จ.ชลบุรี 61,180 ราย คิดเป็น 72.38% จ.ระยอง 16,160 ราย คิดเป็น 19.12% และ จ.ฉะเชิงเทรา 7,191 ราย คิดเป็น 8.51%
โดยในจำนวนนิติบุคคลในอีอีซี 84,531 รายนี้ มีการถือหุ้นของต่างชาติในนิติบุคคลไทยคิดเป็น 55.32% ของทุนทั้งหมด โดยสัญชาติญี่ปุ่น มีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 43.91% มูลค่า 3.92 แสนล้านบาท ซึ่งมาประกอบธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ 81,597.25 ล้านบาท
ผลิตอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม 38,387.31 ล้านบาท และผลิตล้อและยางในรถยนต์ 31,797.31 ล้านบาท รองลงมาคือ สัญชาติจีน มีสัดส่วนคิดเป็น 14.84% มูลค่า 1.32 แสนล้านบาท มาลงทุนผลิตล้อและยางใน 18,394.45 ล้านบาท ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ 11,933.91 ล้านบาท และผลิตเหล็กและเหล็กกล้า 10,610.10 ล้านบาท
และสิงคโปร์มีสัดส่วนคิดเป็น 6.01% มูลค่า 53,797 ล้านบาท มาลงทุนผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 11,718.20 ล้านบาท ผลิตล้อและยางใน 6,920.98 ล้าบาท และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ 3,339.3 ล้านบาท