นิคมดิ้นหาแหล่งน้ำสำรอง รับมือศึกชิงโควตาน้ำอีอีซี

น้ำอีอีซี

ศึกแย่งโควตาน้ำลามหนัก หลัง “วงษ์สยามฯ” ชนะประมูลระบบท่อส่งน้ำสายหลักของกรมธนารักษ์ได้แต่ท่อ-ไม่มีโควตาน้ำ เผย 6 นิคมอุตสาหกรรมหวั่นรับน้ำไม่ถูกต้อง WHA ทำหนังสือแจงกลัวติดร่างแห เร่งกรมชลฯจัดสรรน้ำ เอกชนเกรงปัญหายืดเยื้อต้องหาแหล่งน้ำสำรอง

แม้ว่าบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จะเป็นผู้ชนะการประมูลระบบท่อส่งน้ำสายหลักจำนวน 3 เส้นท่อของกรมธนารักษ์ ได้แก่ โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) รวมไปถึงสถานีสูบน้ำต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2565

แต่จนกระทั่งปัจจุบันบริษัทกลับประสบปัญหาการจัดการ “น้ำ” เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมและหมู่บ้านขนาดใหญ่ เนื่องจากบริษัท วงษ์สยามฯ ชนะการประมูลในการบริหารจัดการเส้นท่อทั้ง 3 จากผู้บริหารเส้นท่อเดิมคือ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ แต่การชนะประมูลไม่ได้รวมไปถึง “โควตาน้ำ” จากอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 3 อ่าง

ซึ่งปัจจุบันบริษัท อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้ได้รับอนุญาตในการจัดสรรปริมาณน้ำไปแล้ว 120 ล้าน ลบ.ม./ปี ขณะที่บริษัท วงษ์สยามฯ ยังไม่ได้รับการจัดสรร ส่งผลให้บรรดาผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้าของบริษัท วงษ์สยามฯ เกิดความกังวลทั้งปริมาณน้ำในอนาคตและน้ำที่ได้รับในปัจจุบันมีการดำเนินการถูกต้องหรือไม่

WHA หวั่นถูกฟ้องติดร่างแห

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำหลังจากที่ กรมธนารักษ์ ได้โอนท่อส่งน้ำไปให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง

ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลว่า วงษ์สยามฯจะมีท่อส่งน้ำจ่อไปที่นิคมอุตสาหกรรมของ WHA 2 แห่งคือ นิคม WHA 1 กับ 3 ซึ่งทาง WHA จะต้องรับ “น้ำ” จากท่อส่งน้ำของบริษัท วงษ์สยามฯ มาส่งต่อให้กับลูกค้า แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นและทาง WHA ทราบมาก็คือ บริษัท วงษ์สยามฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตน้ำ หรือ “โควตาน้ำ” จากกรมชลประทาน

เพราะฉะนั้น ถ้า WHA จ่ายเงินค่าน้ำให้กับ บริษัท วงษ์สยามฯ โดยที่ “น้ำ” นั้นไม่ใช่น้ำของบริษัท วงษ์สยามฯ ทาง WHA อาจโดนฟ้องได้ เพราะมีการใช้น้ำที่ได้มาโดยไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ฝ่ายกฎหมายของบริษัทตัดสินใจทำหนังสือไปยัง กรมชลประทาน เพื่อชี้แจงถึงการรับน้ำจากบริษัท วงษ์สยามฯ มีความเป็นมาอย่างไร เพื่อป้องกันตัวเอง“เราก็ปวดหัวกับเรื่องนี้เหมือนกัน เลยปรึกษากับฝ่ายกฎหมายว่า

WHA เป็นผู้ใช้น้ำและต้องรับน้ำมาส่งต่อไปให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม WHA เพราะโรงงานอุตสาหกรรมหยุดไม่ได้ สิ่งที่เราต้องทำคือ ถามไปยังกรมชลประทานและบอกกับบริษัท วงษ์สยามฯ ให้ไปทำการขออนุญาตใช้น้ำจากกรมชลประทานให้ถูกต้อง แล้ววันหลังใครสามารถบอกได้ว่า ใครเป็นเจ้าของน้ำ ใครเป็นเจ้าของท่อ พอเปิดบิลมา เราก็จ่ายเงินแค่นั้นเอง

แต่เท่าที่ทราบ กรมชลประทานเองได้มีหนังสือแจ้งเตือนไปยัง บริษัท วงษ์สยามฯ แล้วว่า ใช้น้ำผิดอยู่” นางสาวจรีพรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเกิดปัญหานี้ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เคยเรียกประชุมและรายงานไปยังรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหมดแล้ว ขณะเดียวกันทาง WHA ได้หารือกับทางคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ก่อนที่จะถึงเวลาส่งมอบท่อน้ำด้วย แต่ตอนนี้มันกลายเป็นเอา “ผู้ใช้น้ำมาเป็นตัวประกัน”

หรือใช้ประเทศเป็นตัวประกัน เพราะกลายเป็นปัญหาเรื่องความมั่นคงทางด้านน้ำของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งใน EEC

“การเปิดประมูลท่อส่งน้ำของกรมธนารักษ์เป็นเรื่องที่ดี ในฐานะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องใช้น้ำส่งต่อให้ลูกค้าในนิคม เพราะถ้าหากบริษัท วงษ์สยามฯได้น้ำมา มีการใช้ท่อส่งน้ำของกรมธนารักษ์ถูกต้อง ขณะที่อีสท์วอเตอร์ มีโควตาน้ำจากชลประทาน และอีสท์วอเตอร์ยังทำท่อจ่ายน้ำของตัวเองได้ เพื่อขายน้ำให้กับภาคอุตสาหกรรมใน EEC เมื่อทำอย่างนี้ได้ก็จะทำให้เกิดการแข่งขัน ไม่ผูกขาดเพียงรายเดียว อันนี้เป็นเรื่องดีต่อผู้ใช้น้ำ เพราะการมีผู้ประกอบการส่งน้ำใน EEC 2-3 รายขึ้นไป ก็จะเกิดการแข่งขันขึ้น” นางสาวจรีพรกล่าว

6 รายเกรงรับน้ำไม่ถูกต้อง

มีรายงานข่าวจากชลประทานระยองเข้ามาว่า อย่างน้อยมีผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมและผู้ใช้น้ำรายใหญ่จำนวน 6 ราย แสดงความกังวลกับปัญหาการรับน้ำอย่างไม่ถูกต้องในช่วง “รอยต่อ” ระหว่างผู้บริหารให้บริการท่อส่งน้ำรายใหม่ คือ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง กับผู้ให้บริการรายเก่า คือ บริษัท อีสท์วอเตอร์ เกรงจะกระทบกับผู้ใช้น้ำในนิคม โดยผู้ประกอบการทั้ง 6 ราย ได้แก่

นิคมอุตสาหกรรม WHA 1 กับ 3, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 5, นิคมอุตสาหกรรมโรจนะบ่อวิน, ยูนิเวอร์แซลบ่อวิน, ชุมชนหมู่บ้านจัดสรรเนิน 3 ชั้น และชุมชนหมู่บ้านจัดสรรหนองไก่

ผู้ประกอบการทั้ง 6 รายมีความต้องการใช้น้ำรวมกันประมาณ 30 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยผ่านท่อส่งน้ำของบริษัท วงษ์สยามฯ แต่ปัญหาที่ผ่านมาก็คือ น้ำที่ส่งผ่านท่อมาให้เป็น “น้ำ” ที่ยังไม่ได้ขออนุญาตใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหลักของกรมชลประทาน ซึ่งทางบริษัท วงษ์สยามฯเอง ก็ได้ยื่นดำเนินการขออนุญาตใช้น้ำในปริมาณ 12 ล้าน ลบ.ม./ปี เป็นการเฉพาะหน้าไปแล้ว ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่า จะจัดสรรน้ำให้ได้หรือไม่

“อีสท์วอเตอร์ได้รับอนุญาตจัดสรรโควตาน้ำไปแล้ว 120 ล้าน ลบ.ม. การขอจัดสรรของวงษ์สยามฯ 12 ล้าน ลบ.ม.ก็คือ 10% จาก 120 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผู้รับน้ำสบายใจว่า ได้ใช้น้ำถูกต้องตามกฎหมาย แต่อย่าลืมว่า ผู้ประกอบการทั้ง 6 รายต้องการใช้น้ำปีละ 30 ล้าน ลบ.ม. ตรงนี้จะทำอย่างไร เพราะน้ำที่จัดสรรไปไม่พอในระยะต่อไปอยู่แล้ว

“การที่จะจัดสรรน้ำให้วงษ์สยามฯ 120 ล้าน ลบ.ม. ก็ทำไม่ได้ เพราะน้ำจำนวนนี้เป็นโควตาของอีสท์วอเตอร์ไปแล้ว ยิ่งฤดูแล้งหน้าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญขึ้นมา น้ำยิ่งน้อยไปใหญ่ ตอนนี้ใคร ๆ ในภาคตะวันออกก็ต้องเตรียมหลักประกันจัดหาน้ำเพื่อความมั่นคงของโรงงานตัวเองทั้งนั้น ถ้ายังแก้ปัญหามีท่อแต่ไม่มีน้ำไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าว

เร่งกรมชลประทานแก้ปัญหา

ด้าน นายภคิน ชลรัตนหิรัญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรจนะมีนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ทั้งหมด 6 แห่ง ซึ่งยังคงใช้น้ำจากทั้งอีสท์วอเตอร์ และวงษ์สยามฯ ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ทางกรมชลประทานได้พยายามเร่งแก้ปัญหากันอยู่ เพื่อไม่ให้ผู้ใช้น้ำในนิคมได้รับผลกระทบ

ปัจจุบันโรจนะมีนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีทั้งหมด 6 แห่ง ประกอบด้วย 4 แห่งใน จ.ชลบุรี คือ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง, นิคมอุตสาหกรรมโรจนะบ่อวิน 1 บ่อวิน 2, นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ อีก 2 แห่งใน จ.ระยอง คือ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะบ้านค่าย กับนิคมอุตสาหกรรมโรจนะปลวกแดง

ทุกโครงการของโรจนะจะมีอ่างเก็บน้ำดิบทั้งภายในและภายนอกของโครงการที่จะสามารถเป็นแหล่งน้ำสำรองให้กับแต่ละโครงการได้ในกรณีเกิดภัยแล้งอย่างเพียงพอ หรือเกิดกรณีที่ผู้ส่งน้ำไม่มีน้ำส่งมาให้ได้ และปัจจุบันบริษัทมีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบำบัดน้ำเสียและบริษัทในเครือที่พร้อมลงทุนเทคโนโลยีในการนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างได้ประโยชน์สูงสุด และเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม

“ในปี 2566-2567 ยังไม่มีปัญหาเรื่องน้ำไม่เพียงพอ แต่จากนี้อีก 2 ปีจากการคาดการณ์ว่า จะเกิดเอลนีโญ ฝนน้อยน้ำแล้ง บวกกับการขยายตัวของการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรม จำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในนิคม แน่นอนว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นแผนที่ต้องเตรียมส่วนหนึ่งก็คือ การขอเพิ่มปริมาณการใช้น้ำจากทางกรมชลประทาน”

“การลงทุนเทคโนโลยีในการนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ ขณะเดียวกันจำเป็นต้องเร่งให้ภาครัฐกระตุ้นโครงการเพิ่มแหล่งเก็บน้ำให้มากขึ้น เพื่อรับมือกับความต้องการใช้น้ำในอนาคต” นายภคินกล่าว

อมตะสำรองน้ำใช้ 15 เดือน

นายพจนารถ หรี่จินดา รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด (บริษัทลูกบริหารจัดการน้ำในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ) กล่าวว่า ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี มีบ่อสำรองน้ำในพื้นที่นิคม 30 ล้านลูกบาศก์เมตร และภายนอกนิคมอีก 12 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมบ่อสำรองน้ำ 42 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีน้ำกักเก็บปัจจุบันประมาณ 34 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 80% ของความจุ “สามารถสำรองการใช้น้ำมากถึง 15 เดือน”

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง มีบ่อสำรองภายในและภายนอกรวมกันประมาณ 7 ล้าน ลบ.ม. และมีน้ำดิบและน้ำอุตสาหกรรมจากอีสท์วอเตอร์ อีกประมาณ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถสำรองการใช้น้ำมากกว่า 8 เดือน ซึ่งทั้ง 2 แห่งปัจจุบันรับน้ำจากอีสท์วอเตอร์

ส่วนความกังวลว่า น้ำจะไม่พอหรือไม่นั้น ด้วยการเตรียมความพร้อมในการกักเก็บน้ำในรอบปีที่ผ่านมานั้น ปริมาณน้ำดิบในบ่อสำรองและบ่อดิบของคู่ค้าต่าง ๆ มีปริมาณน้ำดิบกักปัจจุบันโดยรวมแล้วสามารถรองรับการใช้น้ำของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในปีถัด ๆ ไปอาจจะเข้าสู่ปีฝนน้อย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเตรียมความพร้อมการสำรองน้ำเพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนน้ำด้วย

มีรายงานข่าวเข้ามาว่า ในส่วนของภาคเอกชนได้มีการเตรียมแผนรับมือกรณีปัญหาการใช้น้ำที่ไม่ถูกต้อง หากน้ำขาดแคลนไว้แล้ว เช่น ใช้วิธีจดบันทึกบิลการใช้น้ำไว้เป็นหลักฐาน เมื่อถึงเวลาต้องจ่ายก็จะดูจากเส้นทางท่อส่งน้ำ หลักฐานช่วงเวลาว่าต้องจ่ายค่าน้ำให้กับบริษัทใด ส่วนความกังวลถึงกรณีที่บริษัท วงษ์สยามฯ จะส่งน้ำให้ไม่เพียงพอนั้น

เบื้องต้นทางกรมชลประทานอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตสูบน้ำจากแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพราะปริมาณน้ำที่ได้รับอนุญาตในส่วนปัจจุบันนี้อาจจะยังไม่เพียงพอ ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะเร่งการพิจารณาคำขอดังกล่าวให้กับบริษัท วงษ์สยามฯ เพิ่มเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมและภาคส่วนอื่น ๆ