บี.กริม-อมตะ ลุย 3 นิคมใหม่ ดึงทัพลงทุนยุโรป-กางแผนบุกเวียดนาม

BGRIM กางแผนลงทุนครึ่งปีหลังสยายปีกทั้งไทย-ต่างประเทศ จ่อผนึกพันธมิตรเวียดนามลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซขนาดใหญ่ IPP รับอานิสงส์แผน PDP เวียดนามฉบับใหม่หนุนโรงไฟฟ้าก๊าซเพิ่ม หวังปั๊มยอดกำลังการผลิตเพิ่มกระโดดจาก 1,000 เป็น 3,000 MW พร้อมผนึกอมตะฯผุด 3 นิคมใหม่ “European Smart City” ในอีอีซีชลบุรี-ระยอง รวม 7,000 ไร่ ตั้งเป้าดึงนักลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคยุโรป เร่งวางระบบสมาร์ทซิตี้พร้อมขายใน 2 ปี

นายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส-การลงทุนนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทมีแผนจะขยายการลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีโอกาสที่จะเห็นความร่วมมือระหว่าง บี.กริมและพันธมิตรท้องถิ่นเวียดนาม ในการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซ

ตลอดจนโครงการพลังงานทดแทนที่ค้างท่อมาจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับที่ 7 ของเวียดนาม ที่ได้ยกมาอยู่ในแผนพีดีพีฉบับที่ 8 ที่เวียดนามเพิ่งจัดทำขึ้นมา รวม 2-3 โครงการ โดยการลงทุนในโครงการเหล่านี้ อาทิ โครงการพลังงานลมพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ (IPP) ขนาด 700-800 เมกะวัตต์ คาดว่าเริ่มลงทุนปีนี้ และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ได้ในปี 2568

“บี.กริมได้เข้าไปลงทุนในเวียดนามมา 25 ปี จนถึงปัจจุบัน บี.กริมในเวียดนามมีกำลังผลิตประมาณเกือบ 1,000 เมกะวัตต์ หากได้โรงไฟฟ้า 2-3 โครงการ ก็จะเพิ่มประมาณ 1,000-2,000 เมกะวัตต์ รวมเป็น 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะยาว”

ปัจจัยหนุนจากพีดีพีใหม่เวียดนาม

นายนพเดชกล่าวว่า การขยายการลงทุนในเวียดนามดังกล่าว มาจากรัฐบาลเวียดนามมีนโยบายชัดเจน ด้วยการมุ่งเพิ่ม LNG เพื่อบาลานซ์พอร์ตโฟลิโอของประเทศ หลังจากเวียดนามมีปัญหาเรื่องไฟดับ เพราะที่ผ่านมาเวียดนามเน้นเปิดรับซื้อโซลาร์จำนวนมาก ที่ผ่านมา เศรษฐกิจเวียดนามมีอัตราการขยายตัวในระดับ 7% มาตลอด แต่การพัฒนาโรงไฟฟ้าไม่สอดคล้องกับการเติบโต

เนื่องจากมีการโปรโมตพลังงานทดแทนมากไป ทั้งโซลาร์และวินด์ ซึ่งเมื่อมีอุปสรรคด้านภูมิอากาศ การเกิดปัญหาโลกร้อนทำให้มีปัญหา รัฐบาลจึงต้องเร่งแผนพีดีพีฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อผลิตไฟฟ้าจาก LNG ถ่านหิน รวมถึงขยายเปลี่ยนไปใช้ไฮโดรเจน (กรีนไฮโดรเจน)

“เดิมบริษัทมีโซลาร์ฟาร์ม 677 เมกะวัตต์ หรือโครงการลมอีก 100 เมกะวัตต์ ส่วน LNG มีการบรรจุอยู่ในแผน ขนาดที่จะทำเป็น IPP 700-800 เมกะวัตต์ขึ้นไปก็มีโอกาสอีกมาก เพราะคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอีก 20-30 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็น 150,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ปัจจุบันการใช้พลังงานอยู่ที่ 40,000 เมกะวัตต์ สูงกว่าไทยซึ่งอยู่ที่ 36,000 เมกะวัตต์

สำหรับพลังงานหมุนเวียน ในแผน PDP ใหม่ เวียดนามมีแผนจะเพิ่มพลังงานลมให้มากขึ้น จากเดิมที่เพิ่มในส่วนของโซลาร์ โดยเฉพาะในพื้นที่แถบเทือกเขาที่มีช่องลมดี เรียกว่า ออนชอร์ และจุดที่ 2 อยู่บริเวณริมทะเล หรือเนียร์ชอร์ ประมาณ 2-3 กม.จากทะเล ส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้”

ปั้น 3 นิคมใหม่รับยุโรป

นายนพเดชกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการขยายการลงทุนในเมืองไทยสำหรับเรื่องไฟฟ้ายังค่อนข้างจำกัด ดังนั้น บริษัทจึงไปเน้นเรื่องการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และการพัฒนานวัตกรรม พลังงานทดแทน และการทำ smart city ทั้งในนิคมปัจจุบันและนิคมในอนาคต ล่าสุด ขณะนี้ บี.กริมได้ร่วมกับอมตะ คอร์ปอเรชั่น ขยายนิคมใหม่ใน จ.ชลบุรีและระยองเพิ่มเติม เรียกว่า European Smart City เพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนสัญชาติยุโรป และกำลังหาพันธมิตรที่เป็นนักลงทุนจากยุโรปเข้ามาเพิ่มเติมด้วย

โดยจะเน้นดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค เพื่อให้เป็นสมาร์ทปาร์ก โดยมี 3 นิคม แบ่งเป็นจุดที่ 1 มีขนาดพื้นที่ 1,000 ไร่ ใน จ.ชลบุรี และอีกจุดมีขนาดที่ดิน 6,000 ไร่ ที่ จ.ชลบุรีเช่นกัน และยังมีอีก 1 นิคม ขนาดพื้นที่ 1,000 ไร่ ที่ จ.ระยอง รวมแล้วจะมีพื้นที่ 7,000 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างทำมาสเตอร์ดีไซน์ที่จะต้องเชื่อมโยงสายส่งเข้าไปในพื้นที่ พร้อมหาพลังงานทดแทนให้กับนักลงทุน น่าจะเสร็จและพร้อมเปิดขายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี

สำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน (RE) 5,000 เมกะวัตต์ เฟสแรกที่บริษัทได้ร่วมมือกับพันธมิตร และผ่านการคัดเลือกไปแล้ว 339.3 เมกะวัตต์ อยู่ในกระบวนการทำสัญญา และขณะนี้รอดูแผนการเดินหน้าโครงการพลังงานหมุนเวียน เฟส 2 ที่จะเปิดต่อเนื่องอีก 3,000 เมกะวัตต์ว่าจะมีแนวทางดำเนินการเป็นอย่างไร

“เรื่องการเมือง สำหรับเราสามารถทำงานร่วมกับทุกพรรคการเมือง มองว่าเราตอบโจทย์ประเทศให้ได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดโดยพยายามให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ได้เข้าใจถึงโจทย์ ความท้าทายและปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการพัฒนาพลังงานของประเทศไทย เราอาจจะมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้องก็ต้องมาเคลียร์กัน

เรื่องค่าไฟแพง ค่าเอฟที ไม่ใช่เหตุผลเดียวก็มาจากต้นทุนก๊าซที่แพงด้วย การเข้าไปรับช่วงสัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ล่าช้า หลายอย่างมาประจวบเหมาะกัน และพีกความต้องการเพิ่มทำให้แพงโดยปริยาย ตอนนี้ก็มีโอกาสจะลดลงได้ 70 สตางค์ เพราะราคา LNG ลงไปเยอะ”

เป้าหมายรายได้ปี’66

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/2566 BGRIM มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 379 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 34 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตราคาก๊าซ ขณะที่กำไรสุทธิ-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ อยู่ที่ 399 ล้านบาท

สาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของกลุ่มโรงไฟฟ้าเพื่ออุตสาหกรรม (SPP) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ดีขึ้น สามารถลดอัตราการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (heat rate) เฉลี่ยถึง 4.6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมทั้ง 5 โครงการ และการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนประมาณ 200,000 ตันต่อปี

ทั้งยังได้เชื่อมเข้าระบบของลูกค้าอุตสาหกรรมรายใหม่ในประเทศไทย ทั้งในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เหล็ก และยางรถยนต์ รวมกว่า 12.2 เมกะวัตต์ จากที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 34.4 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมายการเชื่อมลูกค้าใหม่เข้าระบบตลอดทั้งปีที่ 50-60 เมกะวัตต์

ตลอดจนเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตรวม 90 เมกะวัตต์ ด้วยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 21 ปี กับ Tenaga Nasional Berhad (บริษัทสาธารณูปโภคไฟฟ้าหลักในประเทศมาเลเซีย)

ปีนี้ บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งขยายการลงทุนทั้งโครงการใหม่และการเข้าซื้อกิจการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ทวีปยุโรป และตะวันออกกลาง โดยในส่วนของกำลังการผลิตจากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 528 เมกะวัตต์ จาก 3,338 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2565 เป็น 3,866 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2566 จากโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม (BGPM2)

โครงการโรงไฟฟ้าแบบผสมผสานอู่ตะเภาเฟสแรก และโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 2 โครงการ (BGPAT2&3) รวมถึงการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในมาเลเซีย 2 โครงการ (BGMCSB และ ISSB) และในระยะยาว บริษัทตั้งเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 การขยายพอร์ตสู่กำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปี 2573