
หลังจากเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการ เมื่อธันวาคม 2564 มูลค่าส่งออกจากไทยทางด่านหนองคายผ่านแดน สปป.ลาวไปจีน จาก 90.41 ล้านบาท ในปี 2564 เพิ่มเป็น 1,964.89 ล้านบาท ในปี 2565 และเป็น 2,848.41 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2566
ซึ่งในจำนวนนี้ 72% ของมูลค่าส่งออกดังกล่าว หรือ 2,073.18 ล้านบาท เป็นการส่งออกทุเรียนสดจากไทยไปจีน ขยายตัว 364.69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ล่าสุด นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำคณะร่วมประชุมหารือกับผู้บริหารโครงการท่าบก (Dry Port) ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถึงแนวทางการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-สปป.ลาว
พร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจท่าบกท่านาแล้ง และสถานีรถไฟเวียงจันทน์ใต้ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ส่งออกจากด่านหนองคายไปยัง สปป.ลาว เพื่อขึ้นรถไฟไปจีน
แลนด์ล็อกสู่แลนด์ลิงก์
ท่าบกท่านาแล้งนั้น ตั้งอยู่ภายในเวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค เป็นหนึ่งในโครงการที่ สปป.ลาวพัฒนาขึ้น เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (landlocked) สู่ประเทศที่เชื่อมต่อทางพรมแดน (landlinked) ได้ โดยเป็นจุดอำนวยความสะดวกอย่างครบวงจรในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ขนส่งจากไทย ผ่านจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์) เข้าสู่ สปป.ลาว
สินค้าที่ผ่านเส้นทางนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อเข้าสู่ตลาด สปป.ลาว และอีกส่วนหนึ่งเพื่อขึ้นรถไฟจีน-ลาว สู่ตลาดจีน โดยรถไฟจีน-ลาว ได้ช่วยลดระยะเวลาการขนส่งจากที่เคยใช้เวลาผ่านถนนเส้นทาง R3A ประมาณ 2 วัน แต่เส้นทางนี้ใช้เวลาบนรถไฟไม่เกิน 15 ชั่วโมง
ปัจจุบันรถไฟจีน-ลาว มีขบวนขนส่งสินค้าเข้า-ออก 14 ขบวนต่อวัน ขาเข้าและขาออกอย่างละ 7 ขบวน ซึ่งนับตั้งแต่จีนสร้างจุดตรวจเช็กด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ที่ด่านรถไฟโมฮานแล้วเสร็จ และเปิดให้นำเข้าผลไม้จากไทย เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่นที่ส่งออกเพื่อขึ้นรถไฟจีน-ลาว ไปจีน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลายข้าวเหนียว ยางพารา แร่ฮีมาไทต์และหัวแร่ เม็ดพลาสติก และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
เกษตรกรไทยตีปีก
นอกจากทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปจีนแล้ว ปัจจุบันยังมีผลไม้สดของไทยชนิดอื่นที่มีแนวโน้มทำตลาดได้ดีในจีน โดยในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2566 การส่งออกมะม่วงของไทยไปจีน มูลค่า 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 218.35% สับปะรด มูลค่า 6.24 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขยายตัว 84.04% ลำไย 108.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.82% และมังคุด 219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.18% เป็นต้น สะท้อนว่าผลไม้ไทยได้รับความนิยมในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งเอกชนไทยอาจใช้ประโยชน์จาก FTA ทั้งกรอบอาเซียน-จีน (ACFTA) และความตกลง RCEP ที่ทำให้จีนไม่เก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าผลไม้ที่ส่งออกจากไทยแล้ว
โดยในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปี 2566 มีผู้ประกอบการไทยได้ใช้สิทธิ ACFTA ส่งออกทุเรียนสดไปจีน มูลค่า 2,022 ล้านเหรียญสหรัฐ และใช้สิทธิความตกลง RCEP ส่งออก มูลค่า 7.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
ท่าเรือบกครบวงจร
ด้าน นายสาคอน พิลางาม ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าบกท่านาแล้ง จำกัด กล่าวว่า โครงการท่าเรือบกท่านาแล้ง (Dry Port) และเขตโลจิสติกส์ (Logistics Park) นครหลวงเวียงจันทน์ มีพื้นที่ 2,000 ไร่ ตั้งอยู่บ้านดงโพสี เมืองหาดซางฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ อยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เพียง 1.5 กิโลเมตร
โดยภายในจะประกอบไปด้วย 1.ท่าบก-ท่านาแล้ง เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า ด่านสากลสำหรับการขนส่งสินค้า ขาเข้า-ขาออก ระบบคลังสินค้า ระบบชำระภาษีศุลกากรครบวงจร 2.มีคลังน้ำมันและคลังเก็บสินค้าของเหลว มีคลังสินค้าชั่วคราว 3 แห่ง และคลังสินค้าทัณฑ์บน 1 แห่ง พื้นที่รวม 18,000 ตร.ม. ขณะที่ลานตู้สินค้ามีช่องภาคพื้นดิน 2,890 ทีอียู
ทำให้สามารถจัดเก็บได้เต็มพื้นที่ 14,450 ทีอียู 3.เขตโลจิสติกส์ครบวงจรทั้งเก็บรักษา และศูนย์กระจายสินค้า 4.เขตพาณิชย์และอาคารสำนักงาน และ 5.เขตอุตสาหกรรมผลิตสินค้าเพื่อส่งออก
รับสินค้า 1.9 พันคันต่อวัน
ปัจจุบัน พื้นที่สามารถรองรับรถบรรทุกได้ 1,900 คันต่อวัน ปัจจุบันมีรถบรรทุกมาใช้สูงสุด คือ 800 คันต่อวัน โดยยังสามารถรองรับการมาให้บริการอีกมาก หากขยายเวลาการผ่านแดนเป็น 24 ชั่วโมงทุกวัน สามารถรองรับรถบรรทุกได้ 2,700 คันต่อวัน
เป้าหมายในอนาคตจะเชื่อมต่อระดับภูมิภาคอาเซียนและจีน เพิ่มโอกาสทางการค้าและการขนส่ง เพื่อรองรับห่วงโซ่ความเย็นและ e-Commerce รองรับการค้าและการขนส่งในกรอบความตกลง RCEP เพิ่มเติมด้วย