สำนักงาน กขค. ลงนาม MOU กับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ใช้ประโยชน์จากกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เป็นเกราะในการป้องกันการผูกขาด ป้องกันถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำธุรกิจ และใช้เป็นแนวทางในการทำธุรกิจ ป้องกันทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SMEs ของไทย
วันที่ 5 กันยายน 2566 นายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า สํานักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สํานักงาน กขค.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการแข่งขันทางการค้าระหว่าง สำนักงาน กขค. กับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs เห็นถึงประโยชน์ของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ทั้งการส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน ป้องกันการผูกขาด เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า
โดยผู้ประกอบธุรกิจอยู่ภายใต้กฎกติกาของการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ป้องกันการกระทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว และใช้กฎหมายเป็นเกราะป้องกันกรณีถูกธุรกิจรายใหญ่หรือรายอื่นมาเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งจากนี้ไป สำนักงาน กขค.จะเริ่มเดินสายให้ความรู้แก่ SMEs ทั่วประเทศที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยต่อไป
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์แก่ SMEs ที่มีอยู่ 3.2 ล้านรายทั่วประเทศ โดยจะมีการร่วมมือกันในการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะเป็นการสร้างการรับรู้ และปลูกฝังวัฒนธรรมการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือในการพัฒนา ปรับปรุง หรือเสนอแนะกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกํากับดูแลการแข่งขันทางการค้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ SMEs
“สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับก็คือ จะมีความรู้ด้านกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และสามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมาย ทั้งในกรณีที่ถูกกลุ่มทุน หรือรายใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศมาเอาเปรียบ ก็จะสามารถใช้กฎหมายในการป้องกันตัวเองได้ ขณะเดียวกัน ก็จะมีความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย ไม่เป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง โดยเฉพาะเรื่องการผูกขาด” นายแสงชัยกล่าว
สําหรับ MOU ฉบับนี้ มีระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้ 1.การสร้างการตระหนักรู้ ส่งเสริม และปลูกฝังวัฒนธรรมการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม 2.การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในวงกว้าง
3.การสนับสนุนบุคลากรเป็นวิทยากร รวมถึงการร่วมกันจัดการอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับ หลักการ แนวคิด และการพิจารณาพฤติกรรมตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4.การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสนับสนุนการพัฒนา ปรับปรุงกฎระเบียบให้เท่าทันสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจที่เป็นปัจจุบัน 5.การสนับสนุนข้อมูลและสารสนเทศที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของทั้ง 2 หน่วยงานต่อไป