อินเดียสกัด “แอร์ไทย” ทุบส่งออกหมื่นล้านระส่ำ

อินเดีย

ส่งออกแอร์ไทยระส่ำ “อินเดีย” ประกาศใช้มาตรการทางเทคนิค สร้างอุปสรรคสกัดสินค้านำเข้า หลังเดินหน้านโยบายเมกอินอินเดีย หวั่นกระทบตลาดส่งออก 1 หมื่นล้านสะดุด ส.อ.ท.ร้องพาณิชย์โต้กลับ ผนึกญี่ปุ่นชงหารือ WTO หวังคืนความเป็นธรรม

นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งดูแลสายงานมาตรฐานสินค้า เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาจากการประชุมกับกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศที่ส่งออกไปตลาดอินเดีย ได้แจ้งว่า ประเทศอินเดียจะเริ่มใช้มาตรการทางด้านเทคนิค (technical barriers to trade :TBT) กับสินค้าส่งออกจากไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศได้รับผลกระทบ เพราะมีข้อกำหนดสำหรับผู้ที่ผลิตและส่งออกจากไทย จะต้องให้เจ้าหน้าที่อินเดียมาตรวจสอบและรับรองโรงงาน

พร้อมทั้งออกเอกสารรับรองให้ก่อนจึงจะสามารถส่งออกได้ และขณะนี้มีบางโรงงานไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลา และจะไม่สามารถส่งออกเครื่องปรับอากาศไปอินเดียได้

               

“ที่ผ่านมาเอกชนได้ประสานไปที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้ใช้มาตรการตอบโต้การดำเนินมาตรการนี้ของอินเดีย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่าจะนำประเด็นนี้ขึ้นหารือในการประชุมการค้าโลก ในกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ในตุลาคม 2566 นี้ ว่าหากเรื่องใดเป็น TBT ที่ตั้งขึ้นมาใหม่และกลายเป็นปัญหา ต้องมีการประกาศ lead time ให้ว่าต้องให้เวลาเท่าไรในการเตรียมการ

ขณะเดียวกัน เอกชนต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามมอนิเตอร์ว่ามีประเด็นทางการค้าใดที่สามารถนำมาใช้เป็นข้อต่อรองได้บ้าง เช่น อินเดียต้องการให้มีการลดภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์มายังประเทศไทย ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์เป็นสินค้าที่อินเดียผลิตจำนวนมาก แต่ไทยไม่ให้ไลเซนส์สินค้านี้ โดยไทยควรมีมาตรการเชิงรุกบ้าง ไม่ใช่เตรียมพร้อมเชิงรับอย่างเดียว การทำหนังสือไปท้วงอย่างเดียว เราว่ามันไม่พอ”

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ล่าสุดไทยมีการส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค. 2566) มีมูลค่า 151,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% โดยตลาดอินเดียถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 มีส่วนแบ่งการส่งออกประมาณ 5.5% มีมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 8,274 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% รองจากตลาดส่งออกอันดับ 1-3 คือสหรัฐมูลค่า 32,648 ล้านบาท เวียดนาม 12,084 ล้านบาท และออสเตรเลีย 9,309 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกปี 2565 ทั้งปี ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศไปอินเดียมูลค่า 9,790 ล้านบาท เป็นตลาดอันดับ 4 จากภาพรวมการส่งออกทั้งหมด 243,590 ล้านบาท

เดินหน้าช่วยเต็มที่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในเรื่องนี้ว่า กรมรับทราบว่าอินเดียมีการดำเนินการมาตรการทางเทคนิคกับสินค้านำเข้าหลายรายการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว และได้มีการหารือกับภาคเอกชนในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องปรับอากาศมาเป็นระยะ ๆ เพราะห่วงว่าจะส่งออกไม่ได้ และผู้ประกอบการจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

โดยที่ผ่านมาไทยเคยจัดคณะไปหารือกับอินเดียแล้ว โดยอาศัยเวทีต่าง ๆ ในการพูดคุยกัน แต่ในที่สุดเอกชนก็ต้องแก้ไขและต้องหาวิธีแก้ไขกันไปก่อน เช่น อินเดียออกข้อกำหนดบอกว่ายังไม่ต้องบรรจุสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ เพราะกลัวว่าเครื่องปรับอากาศที่บรรจุสารไปแล้วหากบรรจุไม่ดีอาจก่อให้เกิดอันตรายระหว่างการขนส่งได้ และให้ไปบรรจุสารทำความเย็นที่อินเดียแทน

ที่ผ่านมาเอกชนก็ต้องหาวิธีแก้ปัญหา โดยไปบรรจุสารที่อินเดียหลังจากนำเข้าไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจจะสร้างความลำบากและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เบื้องต้นขณะนี้หากเอกชนสามารถปรับตัวได้ และดำเนินการปรับตัวแล้วก็ต้องดำเนินการไปก่อน อีกด้านหนึ่ง กรมพยายามช่วยผู้ประกอบการขยายตลาดไปยังตลาดใหม่ที่จะสามารถส่งออกไปได้

ส่วนการแก้ไขปัญหาการส่งออกในตลาดอินเดียนั้น กรมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการกดดันหลายวิธี ทั้งระดับนโยบาย ระดับรัฐมนตรีก็ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ เดินเรื่องให้กับท่านทูตและจะมีการยกประเด็นนี้ไปหารือในเวทีการประชุมองค์การการค้าโลก (WTO) เพราะการดำเนินมาตรการบางอย่างอาจจะไม่สอดคล้องกับความตกลง WTO และไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ผลิตสินค้าอย่างเช่นเครื่องปรับอากาศ เช่นประเทศญี่ปุ่นก็จะหยิบยกเข้าหารือในเวที WTO เช่นกัน

“ขณะนี้อินเดียจะมีการใช้นโยบาย made in india ที่มุ่งจะดึงผู้ผลิตเข้าไปผลิตสินค้าภายในอินเดีย ซึ่งอินเดียก็เป็นสมาชิก WTO มีการทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างอาเซียน-อินเดียสิ่งที่มองว่าผิดกติกาที่คุยกันไว้ ก็จะคุยกับอินเดียว่าสิ่งที่ดำเนินการนั้นไม่ได้ ควรจะมีการยกเลิก หากเขาจะยังดำเนินการจะมีการตอบโต้หรือไม่ ในเบื้องต้นยังคงไม่ใช้วิธีการนี้”

อินเตอร์แบรนด์ผุด รง.ในอินเดีย

นายวีรพล สวรรค์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต-จัดจำหน่ายแอร์แบรนด์ อีมิแน้นท์ ทั้งในไทยและต่างประเทศ กล่าวว่า การที่อินเดียกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าแอร์จากต่างประเทศนี้ นับเป็นความท้าทายตามปกติที่ผู้ส่งออกต้องศึกษา เตรียมตัว และปรับตัวตามอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้น่าจะกระทบกับผู้ผลิตแอร์แบรนด์จีนที่ตั้งฐานผลิตในไทย และอาจรวมถึงแอร์แบรนด์ไทยบางรายส่วนบริษัทไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากส่งออกไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเป็นหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ผู้ผลิตแอร์ระดับอินเตอร์แบรนด์หลายรายได้เข้าไปตั้งฐานการผลิตในอินเดียแล้ว ไม่ว่าจะเป็น มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ที่เริ่มสร้างโรงงานผลิตแอร์และคอมเพรสเซอร์ มีกำหนดเปิดทำการในเดือนตุลาคม 2568 ส่วนแอลจี เริ่มเดินเครื่องโรงงานผลิตคอมเพรสเซอร์ในอินเดียเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่ไดกิ้นมีโรงงานในอินเดีย 3 แห่ง และมีกำลังผลิตรวมกัน 2.5 ล้านยูนิต ด้าน ไฮเออร์ ก็มีสวนอุตสาหกรรมสำหรับผลิตแอร์ เครื่องซักผ้า และตู้เย็น ซึ่งฉลองการผลิตครบ 2 ล้านยูนิตไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2566