
ผ่าแผนธุรกิจแบตเตอรี่ครบวงจร “ปตท.” ส่งบริษัทลูก Nuovo Plus ผนึก 3 พันธมิตรรุกตลาดแบตเตอรี่อีวี เปิดเดินเครื่องไตรมาส 4/66 กวาดลูกค้าอีวีจีน 2 หมื่นคัน พร้อมลุยผลิตระบบกักเก็บพลังงาน ESS จับกลุ่มลูกค้าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน-เรสซิเดนต์ รับเทรนด์พลังงานสะอาดมาแรง วางอนาคตบุกตลาดรีไซเคิลแบตเตอรี่
หลังจากรัฐบาลมีนโยบาย 30@30 ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นหัวจักรขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างระบบนิเวศเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทั้งระบบ โดยได้มีการตั้งโรงงานรับผลิตรถอีวี ที่จะเริ่มการผลิตในปี 2567 เป็นเฟสแรก จากการร่วมทุนของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด บริษัทลูกของอรุณ พลัส ในเครือ ปตท. กับ Lin Yin International Investment หรือ Foxconn
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
นอกจากนี้ ปตท.ยังได้ส่งบริษัทลูก “Nuovo Plus” เข้าสู่ธุรกิจแบตเตอรี่อีวี พร้อมทั้งก้าวสู่ธุรกิจการผลิตระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS)
ทั้งนี้ ธุรกิจแบตเตอรี่ของ ปตท.เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจใหม่ที่จะตอบโจทย์ประเทศที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป็นไปตามเป้าหมาย ปตท.ที่ต้องการเป็น Net Zero ในปี 2050
เทลงทุน 4,200 ล้านบาท
นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจแบตเตอรี่ และ ESS ของ ปตท.ว่า บริษัทได้ลงทุนผ่านบริษัท Nuovo Plus จำกัด มีทุนจดทะเบียน 4,200 ล้านบาท เป็นการถือหุ้นร่วมกันระหว่าง อรุณ พลัส สัดส่วน 51% และ GPSC 49% โดยจะมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานในอนาคต ปัจจุบันมีสินค้าทั้งแบตเตอรี่อีวี และ ESS ทยอยออกสู่ตลาดแล้ว
ล่าสุดโรงงานต้นแบบ ที่ร่วมทุนกับ Gotion ที่ จ.ระยอง จะเริ่มผลิตในไตรมาส 4 นี้ โดย Gotion มีกลุ่มลูกค้าอีวีจากจีนอยู่แล้ว และ ปตท.ได้เจรจากับลูกค้าอีวีจีนเพื่อส่งแบตเตอรี่อีวีลอตแรก โดยจะซัพพลายให้ประมาณ 1 กิกะวัตต์ ใช้กับรถอีวี 15,000-20,000 คัน จะทยอยส่งมอบในช่วง 1-2 ปี
“เป็นไปตามนโยบายการส่งเสริมอีวีที่ให้โรงงานที่จะได้สิทธิประโยชน์จากไทยต้องมาตั้งผลิตรถอีวีในไทย สร้างสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศให้ได้ 40% และระหว่างรอโรงงานอีวี เราก็ยังมีการจัดหาตลาดสำหรับ ESS ไว้รองรับการผลิตช่วงแรกด้วย”
เปิดแผนธุรกิจ 3 โรงงาน
สำหรับขอบเขตธุรกิจ Nuovo Plus นอกจากการทำธุรกิจซัพพลายเรื่องแบตเตอรี่ และ ESS แล้ว ยังมีทีมที่ทำหน้าที่ ทั้งจัดหาลูกค้า จัดซื้อจัดจ้าง ทำการตลาด ออกแบบโซลูชั่น ให้บริการทางการเงิน บริการติดตั้ง ตลอดจนบริการหลังการขายให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม และขายธุรกิจไปต่างประเทศร่วมกับพันธมิตร รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ครบวงจร
โดยได้จับคู่กับพันธมิตร 3 บริษัท ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน คือ 1) นูออโว พลัส ลงทุนถือหุ้น 51% ร่วมกับบริษัท Gotion Singapore Ple.,Ltd (บริษัทจีน) ถือหุ้น 49% ตั้งบริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) นำเข้าวัตถุดิบ เซลล์แบตเตอรี่จากจีนเข้ามาประกอบเป็นแบตเตอรี่ แบบโมดูลแพ็ก ที่โรงงาน จ.ระยอง บนพื้นที่ 20 ไร่ มีกำลังการผลิตเฟสแรก 1 กิกะวัตต์ เริ่มในไตรมาส 4 และทยอยเพิ่มสูงสุด 4 กิกะวัตต์
2) ปตท.ได้มีการร่วมทุน โดย อรุณพลัส กับบริษัท Contemporary Amperex Technology Co., Ltd หรือ CATL ตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่แบบ cell to pack อีกแห่งหนึ่ง และ 3) การตั้งโรงงาน G cell โดยใช้เทคโนโลยีของ 24M จากจีนที่จะมาตั้งเป็นโรงงานต้นแบบ ที่ระยอง
ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรกที่อยู่ต่างประเทศของ 24M ทำหน้าที่ผลิตระบบกักเก็บพลังงาน ESS จากลิเทียมไออน ระบบเซมิโซลิตแห่งแรกในอาเซียน มีกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ต่อปี นอกจากนี้ 24M ยังจับมือกับ AXXIVA ผู้ผลิตรถยนต์อีวีแบรนด์เชอรี่ จากจีน และเคียวเซล่า จากญี่ปุ่น ซึ่ง ปตท.หวังว่าโรงงานนี้จะช่วยให้วิศวกรไทยมีประสบการณ์มากขึ้นด้วย
สำหรับไทม์ไลน์การดำเนินการแบ่งเป็น 4 ช่วง นับจากเริ่มก่อสร้างโรงงานในปี 2020-2021 ช่วงที่ 2 โรงงานต้นแบบแล้วเสร็จ ปี 2022-2023 ช่วงที่ 3 คือการกระตุ้นดีมานด์ ในปี 2024-2025 มีกลุ่มเป้าหมายคืออีวีบัส รถยนต์อีวี ระบบ ESS และช่วงที่ 4 ปี 2026 เป็นต้นไปจะเริ่มทำการตลาดเชิงพาณิชย์
“ความแตกต่างของแบตเตอรี่ โมดูลแพ็ก กับ cell to pack คือ โมดูลแพ็ก จะแพ็กเป็นกล่อง ๆ หากเสียจะเปลี่ยนเฉพาะกล่องที่เสีย ส่วน cell to pack จะประกอบกันโดยมีลวดเชื่อม หากเสียจะต้องเปลี่ยนทั้งหมด นอกจากวิธีประกอบต่างกันแล้ว ระยะเวลาชาร์จยาวนานต่างกัน น้ำหนักต่างกัน จึงเหมาะกับแต่ละประเภท ส่วนเซมิโซลิต หรือกึ่งแห้งกึ่งเปียก
มีจุดเด่น 3 ด้าน คือ จะลดการใช้พวกกาว และโซเวน ซึ่งเป็นสารทำละลายเวลาติดกาวเชื่อมระหว่างเซลล์ จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ลดการใช้พลังงาน ทำให้ไปสู่การกรีน เพราะลดการใช้พลังงานได้ถึง 50% และช่วยลดต้นทุนการใช้สารได้ 30% และที่สำคัญมีความปลอดภัยสูง”
ด้วยความแตกต่างของทั้ง 3 ประเภทนี้ จึงเหมาะกับกลุ่มลูกค้า 3 แบบ คือ กลุ่มลูกค้าโมบิลิตี้ ทั้งผู้ใช้รถอีวีบ้าน รถบัส รถบรรทุกและเรืออีวี จะมีสินค้าพวก LFP battery pack และกลุ่ม stationary segment เช่น สถานีไฟฟ้า โรงไฟฟ้า (แบบที่ไม่เคลื่อนที่) มีทั้ง ESS-Micro Grid รวมถึง ESS C&I กลุ่มบ้านที่อยู่อาศัย และกลุ่ม UPS ส่วน G cell จะจับกลุ่มลูกค้าพิเศษ
2 ปัจจัยหนุนยอดขายโต
นายบุรณินกล่าวว่า ปัจจัยหนุนในการขับเคลื่อนธุรกิจนี้ เป็นผลจากการที่เทรนด์ทั่วโลกมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รัฐบาลดำเนินนโยบายสนับสนุนอีวี คาดว่าปีนี้จะมียอดการจดทะเบียนรถอีวีเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 คัน ในบางประเทศอย่างยุโรปมีการประกาศแผนการลดและเลิกใช้รถยนต์สันดาป ทำให้แนวโน้มความต้องการแบตเตอรี่อีวีจะเพิ่มขึ้น
ประกอบกับการเดินหน้าสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน และสู่การเป็นเน็ตซีโร่ ทำให้จะต้องเร่งพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (renewable) เช่น แสงแดดหรือลม ซึ่งพลังงานชนิดนี้ยังไม่เสถียรขึ้นอยู่กับความแรงของลม หรือความเข้มข้นของแสงแดด เช่น ไฟฟ้าโซลาร์ หากผลิตได้ช่วงกลางวันใช้ไม่หมดก็จะต้องสูญเสียไป ดังนั้นจึงต้องมีระบบ ESS มาช่วยเสริมเก็บพลังงานไว้ใช้เวลากลางคืน ทำให้แผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศจะมุ่งไปสู่ RE มากขึ้น
การจะไปสู่จุดนั้นจะต้องมีการลงทุน ESS เพิ่มขึ้น เป็นต้นทุนผู้ผลิตไฟฟ้า ภาครัฐจึงมีการจูงใจโดยรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่ใช้ระบบ RE+ESS สูงกว่าไฟฟ้าที่มีเฉพาะ RE เพียงอย่างเดียว ซึ่งแนวโน้มความต้องการสินค้า ESS จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สิ่งที่สำคัญคือการกระตุ้นความต้องการซื้อ เพื่อจะเป็นการเพิ่ม economy of scale และการดูแลเรื่องวัตถุดิบ แร่หายากต่าง ๆ อาทิ ลิเทียม นิกเกิล โคบอลต์ เป็นต้น ซึ่งตอนนี้เราใช้วิธีนำเข้ามาประกอบในประเทศ ราคาช่วงก่อนหน้านี้ลิเทียมสูงขึ้น
แต่ปัจจุบันลดลงมาแล้วหลังจากจีนเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ราคาแร่นี้ลดลง แต่ต่อไปหากตลาดมีความต้องการ แร่หายากเพิ่มขึ้นก็อาจจะเป็นโอกาสให้กับธุรกิจในกลุ่ม ปตท. โดยเฉพาะ ปตท.สผ.ที่ปกติทำหน้าที่สำรวจแหล่งก๊าซและปิโตรเลียมก็อาจลงทุนเรื่องนี้ได้
นอกจากการผลิตและจำหน่ายแล้ว ยังมองโอกาสในการศึกษา เพื่อพัฒนาต่อยอดโรงงานที่เก็บซาก หรือรีไซเคิลแบตเตอรี่ประเภทต่าง ๆ ในอนาคตด้วย เพราะแบตเตอรี่แต่ละประเภทมีอายุการใช้งานประมาณ 8-10 ปี เมื่อหมดอายุต้องเปลี่ยน แต่ชิ้นส่วนของเซลล์แบตเตอรี่ยังใช้ประโยชน์ได้บางส่วน ดังนั้นต้องมีการนำแบตเตอรี่นั้นมาแยกชิ้นส่วนเพื่อมาใช้รีไซเคิล เช่น ที่เรียกว่า second life แบตเตอรี่ เป็นต้น
- ผวา “สงครามการค้า” รอบใหม่ “แบตเตอรี่ วอร์” อียู-จีน
- เส้นทางครองโลกของ “EV จีน” มีขวากหนาม เมื่อยุโรปเล็งตั้งกำแพงภาษี
- จีนโวยยุโรป “กีดกันการค้า” กรณีสั่งสอบ-เล็งขึ้นภาษี EV เตือนกระทบสัมพันธ์
- EV จีนกินแชร์ส่งออกพุ่ง เป็นไม่กี่ “ความหวัง” ของพญามังกรในเวลานี้
- เศรษฐา ต่อชีวิตรถสันดาป ถกค่ายญี่ปุ่นลดเหลื่อมล้ำ อีวีจีน
- ทำไม “จีน” ถึงกลายเป็นยักษ์ ในอุตสาหกรรม “อีวี” โลก
- ปตท.ปรับแผน สู้ศึกรถอีวีจีน ต่อยอดโรงงานแบตเตอรี่ขาย OEM