ปตท.ปรับแผน สู้ศึกรถอีวีจีน ต่อยอดโรงงานแบตเตอรี่ขาย OEM

บุรณิน รัตนสมบัติ
บุรณิน รัตนสมบัติ

ทัพรถอีวีจีนบุกไทย ทำ “ปตท.” ถึงขั้นต้องปรับแผนสู้ หลังคิกออฟโรงงานอีวี Foxconn ผลิตเฟสแรก 50,000 คันปี 2567 หันชูบริการหลังการขายครบวงจร ต่อจิ๊กซอว์ โรงงานแบตเตอรี่-มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า หวังชัพพลายให้ค่ายรถจีน “บุรณิน” เดินหน้าตามแผนธุรกิจใหม่ ปั๊ม EBITDA 30% ใน 5 ปี ทั้งโรงงานผลิตยา อาหารอนาคต พลังงานสะอาด

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึง ทิศทางการดำเนินธุรกิจ หลัง ปตท.ได้มีการวางแผนพัฒนาธุรกิจใหม่มาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยการพัฒนาธุรกิจใหม่จะใช้งบประมาณการลงทุนรวม 27,000 ล้านบาท

ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยลงทุนไปแล้วหลายด้าน ทั้งธุรกิจยา, ยานยนต์ไฟฟ้า(EV), พลังงานสะอาด และอาหารอนาคต ทำให้ปัจจุบันมีสัดส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย (EBITDA) จากธุรกิจใหม่ถึง 6% โดย ปตท.มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนกำไร EBITDA ให้ได้ 30% ในปี 2023

“ภาพรวมธุรกิจใหม่ ปตท.เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ บางธุรกิจดีกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะธุรกิจยาที่ลงทุนโดย บริษัทอินโนบิก (เอเซีย) บริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ที่เข้ามาลงทุนในบริษัทโลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Lotus Pharmaceutical Co., Ltd. : Lotus Pharmaceutical) บริษัทผู้ผลิตยาสามัญชั้นนำจากไต้หวัน ปรากฏเติบโตเกินกว่าเป้าหมาย

เพราะผลประกอบการค่อนข้างดี มียาใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการออกตลาดที่สหรัฐ ส่วนตลาดที่เกาหลีและไต้หวันก็เติบโตดี ทำให้ผลประกอบการอินโนบิกจะกลับมาเป็นบวกในปีนี้ สะท้อนว่าประสบควาสำเร็จ เพราะใช้เวลาลงทุนสั้นได้ผลตอบแทนเร็ว” นายบุรณินกล่าว

Advertisment

ปรับแผนสู้อีวีจีน

ส่วนธุรกิจ EV นั้น ในปี 2567 ปตท.จะเริ่มเดินเครื่องโรงงานรับจ้างผลิต (OEM) รถ EV ในประเทศไทย ที่บริษัทฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง อรุณ พลัส บริษัทย่อยของ ปตท. กับ Lin Yin International Investment บริษัทในกลุ่มของ Foxconn และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI

โดยโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตในเฟสแรก 50,000 คัน เซ็กเมนต์ที่จะเริ่มลงไปผลิตจะเน้นไทป์ที่เป็นตลาดก่อน เพราะต้องการ volume มากพอสมควร หลังจากเริ่มดำเนินการผลิตแล้ว บริษัทจะพิจารณาแผนการขยายการลงทุนในเฟสต่อไป โดยขนาดพื้นที่ปัจจุบัน 350 ไร่ สามารถรองรับได้ 2 เฟส ขายได้ถึง 150,000 คัน

“ในระหว่างนี้เราจะเห็นว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนรถ EV ของรัฐบาล ทำให้มียอดจดทะเบียนรถ EV ในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 30,000 คันแล้ว คาดว่า ทั้งปีจะได้ 70,000-80,000 คัน หรือคิดเป็น 10% ของตลาดรถในประเทศไทย ถือว่าเป็นความสำเร็จของนโยบาย 30@30 และถ้าเทียบกับช่วงแรกที่ ปตท.ลงทุนโรงงานรับจ้างผลิต

ปรากฏตอนนี้ตลาดเปลี่ยนไป ความต้องการรถ EV เพิ่มมากขึ้น การแข่งขันก็มากขึ้นตามไปด้วย มีบริษัทผู้ผลิตรถ EV หลายรายโดยเฉพาะจากจีน แต่ภายหลังเศรษฐกิจชะลอตัวจีนก็หันมาลงทุนใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ทำให้ตลาด EV เปิดกว้างและไม่ได้มีแค่โมเดลเดียว” นายบุรณินกล่าว

Advertisment

ดังนั้น ปตท.จะต้องกลับมา “ทบทวน” แผนการทำการตลาดรถ EV โดยบริษัทได้หารือและสอบถามไปยัง Foxconn ก็ยังยินดีที่จะใช้ไทยเป็นฐาน โดย ปตท.มุ่งพัฒนาการลงทุนต่อยอดครอบคลุม eco system ของ EV โดยเฉพาะการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในรถ EV สำหรับลูกค้าที่ต้องการชิ้นส่วนเป็นทางเลือกให้ลูกค้า และอาจต้องมองระยะยาวถึงตลาดรถ EV มือสอง (aftersale market) ที่ยังไม่ชัดเจนมากว่าจะเป็นอย่างไร

“ตอนนี้หลายค่ายก็ยังคงรอดูมาตรการส่งเสริมแพ็กเกจ EV ใหม่ 3.5 ที่จะมาแทนอันเดิม 3.0 ทำให้หลายค่ายยังไม่ได้ตัดสินใจเข้ามา อาจต้องพิจารณาเงื่อนไขแพ็กเกจก่อน แต่ก็มีลูกค้าหลายรายมาหารือ เพราะตลาดรถ EV โตเร็วมาก จากหลัก 1,000 คัน เพิ่มเป็น 10,000 คัน บางค่ายเห็นวอลุ่มก็จะเข้ามาลงทุนเอง แต่บางค่ายก็อาจจะเข้ามาประกอบในไทย

ซึ่งต้องทำให้เขามั่นใจว่าโรงงานที่เรามีอยู่ได้มาตรฐาน และมั่นใจว่าการลงทุนของเราจะสามารถทำให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้เป็นเป้าหมายหลัก และต้องให้มั่นใจว่าจะได้ลูกค้าก่อนโรงงาน EV เฟสแรกจะเสร็จ การลงทุนอุตสาหกรรมนี้ในระยะสั้นแน่นอนว่าการนำเข้ารถ EV มาอาจจะสำคัญกว่า แต่ในระยะกลาง-ยาวการมีโรงงานผลิตรถ EV ในประเทศไทยจะดีกว่า จะได้เปรียบในการแข่งขัน”

ลุยต่อยอดแบต จับลูกค้า B2B

สำหรับในส่วนของแบตเตอรี่ ปตท.ได้ร่วมลงทุน 2 ด้านคือ ได้ร่วมทุนกับจีนคือ Gotion High-tech ตั้งบริษัทเอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบ และจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนคุณภาพสูง จะสร้างโรงงานเสร็จภายในปลายปี 2566 เฟสแรก และต้นปี-กลางปี 2567 จะเสร็จเฟส 2 รวมกำลังการผลิต 4 จิกะวัตต์ และอรุณ พลัส ร่วมกับ บริษัท Contemporary Amperex Technology Co., Ltd (CATL) จัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ Cell-To-Pack (CTP)

ตอนนี้กำลังหาที่ดิน น่าจะได้ในปี 2567 กำลังการผลิต 6 จิกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้ไม่เพียงลงทุน แต่ยังมี “ลูกค้า” มาด้วย เพราะ 2 โรงงานนี้ผลิตซัพพลายแบตเตอรี่ให้กับโรงงาน EV ของจีนอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ลูกค้าที่มา OEM สามารถเลือกได้ว่า จะใช้แบตเตอรี่จากเราหรือไม่

นอกจากนี้ทางบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) จะมุ่งมั่นให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า EV Station PluZ (อีวี สเตชั่น พลัซ) และยังได้มีการพัฒนาแอปลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ที่ต้องการทดลองเริ่มใช้อีวี และใช้บริการชาร์จรถอีวี

“เรามองว่าตลาดผู้ใช้รถ EV ยุคใหม่ที่จะเป็นลักษณะของการเช่าใช้สำหรับลูกค้าในองค์กร (B2B) จะเติบโตมากขึ้น เพราะตลาดอีวีทั่วโลกมุ่ง B2B ก่อน แต่ไทยสวนทางกับประเทศอื่น คือจำหน่ายไปที่ผู้บริโภค (B2C) ก่อนแล้วจึงกลับมาสู่ B2B”

รับมือการแข่งขันด้าน “ราคา”

สำหรับภาพการแข่งขันด้านราคารถ EV นั้น นอกจากมาตรการให้ส่วนต่างราคา EV แล้ว รัฐบาลมีข้อกำหนดสำหรับผู้ที่จะมาลงทุนผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทย จะต้องใช้วัตถุดิบในประเทศสัดส่วน 40% ด้วย ซึ่งภาพสถานการณ์ตลาดหลังจากมาตรการต่าง ๆ จะทำให้ราคารถ EV ในตลาดมี 3-4 ระดับราคา ซึ่งต่อไปจะเริ่มเห็นคือ ราคารถไฟฟ้าขนาดกลาง

โดยเฉพาะค่ายที่มาจากจีน EV ที่เป็นซีดาน ในอนาคตจะมีราคารถอีวีประเภท “SUV” ส่วนรถ EV ที่เป็นลักเซอรี่คาร์ จะเห็นจากค่ายยุโรป โดยบริษัทกลุ่มนี้เปลี่ยนจากรถสันดาปลักเซอรี่คาร์มาเป็นรถยนต์ EV

เรื่องนี้มองว่าเป็นข้อดีของการมีระดับราคาแตกต่างหลากหลาย ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้ตัดสินใจเลือกซื้อ EV แทนรถยนต์สันดาปภายในได้ง่ายกว่า ทั้งยังมีส่วนช่วยในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ส่วนสถานีชาร์จและหัวชาร์จเจอร์ก็เริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพราะมีการลงทุนจากหลายค่าย EV เมดอินไทยแลนด์ ราคาและคุณภาพเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจซื้อ

ถ้าราคาในประเทศไม่สามารถสู้กับราคารถ EV นำเข้าได้ โรงงานในประเทศก็อยู่ไม่ได้ อันนี้เป็นหลักการทั่วไป แต่การผลิตในประเทศสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราต้องการได้ ราคา EV ณ วันนี้ลดลงมามาก และทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ EV แต่ผู้จ้างจะมีสเป็กและราคาในใจที่จะมาจ้างผลิตอยู่แล้ว ดังนั้น การที่ ปตท.มีโรงงานแบตเตอรี่ก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งให้กรณีที่ผู้ผลิต-ผู้นำเข้าไม่มีสแปร์พาร์ตเข้ามาด้วย

อาหารอนาคตเดินเครื่องปลายปี

ส่วนความคืบหน้าของการผลิตสินค้าใหม่ “โปรตีนจากพืช” (plant-based) นั้น โดยบริษัทนิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด (Nutra Regenerative Protein Co., Ltd. : NRPT) บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัทอินโนบิก กับ บริษัทโนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ปรากฏโรงงานที่กำลังก่อสร้างที่ อ.วังน้อย จ.อยุธยา “มีความคืบหน้าไปมาก”

ในส่วนของกระบวนการขออนุญาตผ่านแล้วและอยู่ระหว่างยื่นขอจดเรื่องมาตรฐานการผลิต plant-based แห่งแรกที่ได้รับการรับรองและจะเริ่มผลิตได้ในไตรมาส 3-ต้นไตรมาส 4 กำลังผลิต 3,000 ตัน ขณะนี้เริ่มให้มีการ site visit เพราะโรงงานแพลนเบสต์นี้จะนำพืชมาผลิตเป็นเนื้อเทียมและขายไปยังผู้ผลิตอาหารให้นำไปผลิตอาหาร ซึ่งโรงงานนี้ต้องใช้ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย

“ในปีนี้มีปัจจัยเรื่องภัยแล้ง เอลนีโญที่อาจจะมากระทบทำให้ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าโปรตีนจากเนื้อสัตว์ก็ถูกลง ทำให้ราคาแตกต่างกันมาก ดังนั้น ในส่วนของการเตรียมพร้อมวัตถุดิบก็จะมีการเลือก source จากหลายแหล่ง จากเดิมใช้จากยุโรป จีน สหรัฐ แต่ตอนนี้เรามองถึงการใช้วัตถุดิบในประเทศด้วย ทั้งถั่ว ทั้งเห็ด เพื่อจะสร้างผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้ผลิตอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่จะนำไปต่อยอด”

เอไอ-พลังงานสะอาดไปได้ดี

นายบุรณินได้กล่าวถึงธุรกิจเอไอ (AI) ว่า ได้มีการตั้ง บริษัทเมฆา วี จำกัด (Mekha V) ซึ่งขณะนี้มีลูกค้ามากขึ้น เพราะบริษัทได้พัฒนาใช้เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งและต่อยอดไปถึงออโตเมติก ในเรื่องการใช้ระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะตอบโจทย์ประเทศในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต สร้างความสามารถในการแข่งขันประเทศ ซึ่งเป็นที่มาที่ให้ ปตท.มองว่าจะต้องมีสร้างแฟลกชิปใหม่เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้

ส่วนธุรกิจพลังงานหมุนเวียน renewable) ของ Avaada Energy Private Limited (AEPL) ซึ่งบริษัทโกลบอลรีนิวเอเบิลซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) บริษัทย่อยของ GPSC ถือหุ้นอยู่ ได้ชนะประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นอีก 2 จิกะวัตต์-ชั่วโมง (GW) ถือเป็นการดำเนินการในทิศทางตามเป้าหมายของ ปตท.