
“ประสิทธิ์” ซีอีโอซีพีเอฟ ขอบคุณนายกฯ “เศรษฐา” คุมเข้มปราบหมูเถื่อน ช่วยฟื้นราคาหมู ดึงอุตสาหกรรมหมูไทยพ้นภาวะขาดทุน มั่นใจรายได้โค้งท้ายฟื้นตัวพ้นวิกฤต ต้นทุนอาหารสัตว์ลง-ช่วงไฮซีชั่นปลายปีหนุนดีมานด์เพิ่ม ล่าสุดส่งบริษัทลูก CPFGS ชิมลางธุรกิจเทรดดิ้ง ผนึกญี่ปุ่นตั้งร้าน ซีพี อูโอริกิ กางแผนขยาย 100 สาขาใน 5 ปี ตั้งเป้ารายได้ 1 พันล้าน พร้อมสั่งมอนิเตอร์ภาวะสงครามอิสราเอลรายสัปดาห์ หวั่นยืดเยื้อ-ขยายวงดันราคาพลังงานพุ่ง
หลังจากเผชิญปัญหาหมูเถื่อนนำเข้าทะลักเข้ามามากจนทำให้ราคาหมูในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง จนราคาหน้าฟาร์มเคยต่ำสุดไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ผู้เลี้ยงขาดทุนจากการขายหมูตัวละ 3,000 บาท ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศนโยบายทำสงครามกับสินค้าเถื่อน และนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศให้เพิ่มความเข้มข้นในการดูแลแก้ไขปัญหา ส่งผลให้ราคาหมูหน้าฟาร์มเริ่มขยับตัวดีขึ้นมาก 2 งวดวันพระที่ผ่านมา รวมแล้วปรับขึ้นไปประมาณ กก.ละ 9-10 บาท โดยราคาเฉลี่ยตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศเมื่อวันพระล่าสุด (22 ต.ค. 2566) เพิ่มเป็น กก.ละ 62-64 บาท
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- พระราชทานอภัยโทษ คดีทักษิณ ที่มาวาระอันเป็นมงคล วโรกาสสำคัญ
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มธุรกิจไตรมาส 4 ของซีพีเอฟมีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะจากสถานการณ์การแก้ไขปัญหาหมูเถื่อนที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำชับและลงมากำกับดูแลด้วยตัวเอง ซึ่งจะมีส่วนช่วยอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของประเทศไทยให้กลับมาแข็งแรงมากขึ้น จึงต้องขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่เห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาเรื่องนี้ และการแก้ไขปัญหานี้จะทำให้อุตสาหกรรมฟื้นตัวได้
“ปัญหาหมูเถื่อนทำให้ทุกคนซัฟเฟอร์อย่างมาก ขาดทุนต่อกิโลกรัมค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงหมูเป็นธุรกิจหลักธุรกิจเดียว หลายคนใช้แหล่งรายได้จากการเลี้ยงหมูนี้เป็นรายได้หลัก การที่มีคนบางคน บางกลุ่มมาใช้เรื่องผลประโยชน์ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทำให้เกิดความเสียหาย เกษตรกรขาดทุนมาก และยังจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยที่รับประทานหมูที่นำเข้ามาโดยไม่มีการควบคุมคุณภาพที่ดี รวมถึงอาจจะนำไปสู่เชื้อใหม่ ๆ การนำเข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง ไม่มีการตรวจคุณภาพ ความปลอดภัย เรื่องเชื้อโรคหรือเรื่องสารตกค้างในเนื้อสัตว์ อาจจะนำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อโรคด้วย”
ดีมานด์พุ่งปลายปี
นายประสิทธิ์กล่าวว่า แนวโน้มในไตรมาส 4 นอกจากเรื่องราคาหมูที่ปรับตัวดีขึ้นมาระดับหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยเป็นปัจจัยเสริมต่อธุรกิจซีพีเอฟแล้ว ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่เป็นไฮซีซั่นการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ไปใช้ในการเฉลิมฉลองมากขึ้น หวังว่าทั้งสองเรื่องนี้จะทำให้เพอร์ฟอร์แมนซ์ในไตรมาสนี้กลับมาสู่สภาวะที่ดีขึ้น จากในไตรมาส 2 ก่อนหน้านี้ มีรายได้ 150,246 ล้านบาท ขาดทุน 792 ล้านบาท จากต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แพงขึ้น และราคาพลังงานสูงขึ้นจากค่าไฟฟ้า ขณะที่ราคาขายเนื้อสุกรปรับตัวลดลง
ส่วนปัจจัยที่เคยส่งผลต่อธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาอย่างต้นทุนราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มดีขึ้น ช่วงนี้สถานการณ์ราคาเริ่มปรับลดลงมา เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ราคาล่าสุดอย่างข้าวโพดปรับลดลงมาเป็น กก.ละ 7.40 บาท จาก 10.90 บาท ตามราคาข้าวโพดในตลาดชิคาโก ข้าวสาลีก็ลดลง ราคาส่งมอบเดือนธันวาคม 2566 กก.ละ 7.66 บาท เป็นต้น
สั่งมอนิเตอร์สงครามทุกสัปดาห์
นายประสิทธิ์ยังกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากสงครามอิสราเอล ว่าจะกระทบต่อราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในตลาดโลกหรือไม่ ที่สำคัญยังต้องติดตามเรื่องสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก โดยเฉพาะน้ำมัน เพราะยังไม่รู้ว่าผลกระทบจากเหตุอิสราเอลจะอยู่ในวงจำกัดหรือแพร่กระจายออกไปยังพื้นที่อื่นหรือไม่มากน้อยเพียงใด หากมีผลกระทบขยายวงกว้างขึ้นก็น่าเป็นห่วงเรื่องราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลต่อค่าครองชีพ เงินเฟ้อ และการจับจ่ายของผู้บริโภค
“หากสงครามขยายวงกว้างขึ้นก็น่าเป็นห่วงเรื่องราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนทำให้ระมัดระวังการจับจ่าย ซึ่งเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม แต่ก็หวังว่าสงครามจะอยู่ในภาวะที่จำกัดและจะหาโซลูชั่นร่วมกันได้”
นายประสิทธิ์กล่าวว่า ในด้านทิศทางราคาสินค้าโค้งสุดท้าย ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดในด้านเศรษฐกิจ ทำให้ราคาและต้นทุนสินค้าไม่ได้สอดคล้องกัน จากช่วงที่ผ่านมาปัญหาเรื่องเศรษฐกิจต่าง ๆ
ทำให้กำลังซื้อลดลง แต่หวังว่าในช่วงปลายปีภาพของกำลังซื้อจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งซีพีเอฟได้มีการมอนิเตอร์สถานการณ์อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์
ส่ง CPFGS น้องใหม่ลุยตลาด
สำหรับการรุกตลาดโค้งสุดท้ายของปี ล่าสุด ซีพีเอฟ ได้เปิดตัวร้าน ซีพี อูโอริกิ เป็นการร่วมทุนผสานความแข็งแกร่งกับ อูโอริกิ ผู้นำระดับโลกด้านปลาสดและอาหารทะเลมากว่าร้อยปี เพื่อให้คนไทยเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพพรีเมี่ยม ระดับโอมากาเสะ ในราคาที่เข้าถึงได้
นายสุจริต มัยลาภ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CPFGS เปิดเผยว่า ซีพี อูโอริกิ เป็นการร่วมทุนระหว่าง CPFGS ผู้จัดจำหน่ายอาหารสดและอาหารแปรรูป ในกลุ่มซีพีเอฟ และอูโอริกิ (UORIKI) ผู้จำหน่ายปลารายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ให้บริการจัดจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลสดแช่เย็น-แช่เข็ง ซูชิ ซาชิมิ มากิ และเครื่องปรุงรสต่าง ๆ
รวมถึงสินค้าแปรรูปจากอาหารทะเล โดยขณะนี้ได้เปิดสาขา 2 แห่งที่ห้างโลตัส สุขุมวิท 50 และห้างแม็คโคร ศรีนครินทร์ ซึ่งในปี 2567 มีแผนจะเปิดเพิ่มอีก 10 สาขา โดยจะกระจายไปยังจังหวัดหัวเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ และมีแผนจะขยายต่อเนื่องในครบ 100 สาขา และวางเป้าหมายรายได้ 1,000 ล้านบาท ใน 5 ปี
“จุดเด่นของร้านนี้คือ บริษัทมุ่งเน้นการนำสินค้าที่มีคุณภาพดีมาจำหน่าย โดยจะไม่แข่งขันด้านราคาเป็นหลัก ที่สำคัญ อูโอริกิ ยังมีการฝึกอบรมพนักงานและเชฟที่จะมาให้บริการในร้านให้กับไทยด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์จากอาหารที่มีคุณภาพดีจากเชฟ เปรียบเสมือนร้านโอมากาเสะ และไม่ต้องเดินทางไปถึงญี่ปุ่น”