ไทยขยับเข้าใกล้ ศูนย์กลางผลิตแบตเตอรี่รถอีวี หลังให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแหล่งแร่ลิเทียม 3 บริษัท “สยามโลหะอุตสาหกรรม-พีวีเคไมนิ่ง-สลามมาลาโค” พบปริมาณสำรอง(แร่ดิบ)ลิเทียม 14.8 ล้านตันที่ จ.พังงา แถมยังมีโซเดียมจากเหมืองแร่โพแทชอีสาน 18 ล้านล้านตันพัฒนาเป็น “แบตเตอรี่โซเดียมไอออน” ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า “แบตเตอรี่ลิเทียม” ครึ่งต่อครึ่ง ใช้ 100 ปีก็ยังใช้ไม่หมด
รัฐบาลกำลังพยายามผลักดันในประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ด้วยการกำหนดเป้าหมายการผลิตและการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle หรือ (ZEV)ในปี 2573 หรือ 30@30 มีการออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ช่วงปี 2567-2570 โดยหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญก็คือ “แบตเตอรี่” ที่จะใช้กับรถยนต์ EV
จากข้อมูลล่าสุดของ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ประเทศไทยสำรวจพบ (Resources) แร่ลิเทียมมากกว่า 14,800,000 ล้านตัน ทำให้ไทยกลายเป็นที่ค้นพบแร่ลิเทียมมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศโบลิเวีย และอาร์เจนตินา โดยลิเทียมจากการสำรวจพบจำนวนนี้กำลังรอการพัฒนาจากการทำเหมืองแร่ลิเทียมผ่านกระบวนการแปรรูป-สกัดเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าต่อไป
เปิด 3 บริษัทขอสำรวจลิเทียม
นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลงเพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โดยผลการสำรวจพบหินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาว หรือหินเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพา “แร่เลพิโดไลต์สีม่วง” หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียมมาเย็นตัวและตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% กับแหล่งบางอีตุ้ม กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง “ลิเทียมจากแหล่งเรืองเกียรติ หากมีการอนุญาตประทานบัตรเพื่อทำเหมือง คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน”
ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ออกอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ลิเทียมให้กับผู้ประกอบการจำนวน 3 ราย ได้แก่ 1) บริษัท สยามโลหะอุตสาหกรรม อาชญาบัตรพิเศษเลขที่ 1/2562 2/2562 และ 3/2562 ต.ท่าอยู่ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา มีเนื้อที่ 7,670-7,933-7,417 ไร่ ชนิดแร่ ดีบุก-ทองแดง-ตะกั่ว-สังกะสี-ทังสแตน และลิเทียม วันอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ 5 กุมภาพันธ์ 2562 2) บริษัท พีวีเค ไมน์นิ่ง คำขออาชญาบัตรพิเศษ รบ1/2565 (พ) กับ รบ2/2565 (พ) ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี มีเนื้อที่ 9,824-9,641 ไร่ ชนิดแร่ลิเทียม และ 3) บริษัท สลามมาลาโค คำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ ยล1/2566 (ผ) กับ ยล2/2566 (ผ) ต.ถ้ำทะลุ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เนื้อที่ 2,500-2,205 ไร่ ชนิดแร่ดีบุก ทังสแตน ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี และลิเทียม
จากการค้นข้อมูลของ “ประชาชาติธุรกิจ” พบว่า บริษัทสยามโลหะอุตสาหกรรม จดทะเบียนตั้งบริษัทในเดือนมิถุนายน 2546 ทุนจดทะเบียน 145,900,000 บาท แจ้งวัตถุประสงค์สำรวจและทำเหมืองแร่ มีกรรมการ 3 คน ได้แก่ นายกัมพล นิลพงษ์, นายพอล เดวิด ลอค และนายเดวิด ไมเคิล ดอคเฮอร์ตี้ ส่วนบริษัท พีวีเค ไมน์นิ่ง จดทะเบียนตั้งบริษัทในเดือนกรกฎาคม 2551 ทุนจดทะเบียน 50,000,000 บาท แจ้งวัตถุประสงค์ทำการสำรวจและหาแหล่งแร่ กรรมการบริษัท ได้แก่ นายพอล โพลี กับนายรัฐ เขียวขำแสง และบริษัทสลามมาลาโค จดทะเบียนตั้งบริษัทในเดือนเมษายน 2566 ทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท มีที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดยะลา แจ้งวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงงานสกัดแร่ มีกรรมการ 2 คน นายมาหามะรอซาลี บือแน กับนายสุไลมาน แก้วดำรงชัย
สยามโลหะอุตฯสำรวจที่ตะกั่วทุ่ง
สำหรับความคืบหน้าในการสำรวจแร่ลิเทียมนั้น นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ปัจจุบันกรมได้ออกอาชญาบัตรพิเศษหลังจากที่ได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง หรือเนื้อที่ 31,206 ไร่ เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ให้กับบริษัท สยามโลหะอุตสาหกรรม จำกัด เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2562 โดยอาชญาบัตรพิเศษดังกล่าวจะครบกำหนดอายุในวันที่ 14 ก.พ. 2567
“ถามว่าแหล่งแร่ของไทยคุ้มที่จะลงทุนหรือไม่ ในส่วนนี้ยังตอบแบบยืนยันไม่ได้ เพราะเรายังไม่เห็นรายงานสรุปผลการสำรวจสุดท้าย แต่เท่าที่ทราบผู้ประกอบการเตรียมการที่จะขอ ประทานบัตร ก็แสดงว่าน่าจะคุ้มต่อการลงทุนทำเหมืองแร่ลิเทียม ในส่วนของบริษัทสยามโลหะอุตสาหกรรม ซึ่งอาชญาบัตรพิเศษจะหมดอายุในวันที่ 14 ก.พ. 2567 นั้น อาชญาบัตรไม่สามารถต่ออายุได้ แต่สามารถยื่นขออาชญาบัตรใหม่ในพื้นที่เดิมได้ หากมีเหตุผลเพียงพอ เช่น ที่ผ่านมาสำรวจยังได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน คาดว่าบริษัท สยามโลหะอุตสาหกรรม กำลังจะยื่นขอประทานบัตรในพื้นที่สำรวจนี้ หรือพื้นที่ใกล้เคียงเร็ว ๆ นี้” นายอดิทัตกล่าว
สำหรับคุณภาพแร่ลิเทียมของไทยนั้น จากการสำรวจไว้ทั่วโลกพบว่า มีแร่ลิเทียมกว่า 17 ประเทศ ปริมาณสำรองทั้งหมด Reserves ปริมาณ 26,050,000 ตัน กับ Resource 112,118,000 ตัน ซึ่งเปรียบเทียบคุณภาพแร่จะได้ “ค่าลิเทียมออกไซด์” โดยคุณภาพแร่จะขึ้นอยู่กับแหล่งพื้นที่ เช่น Zimbubwa เกรด 1.5-4.00%, Brazil เกรด 1.5-4.00%, Portugal เกรด 1.5-4.00%, Bolivia เกรด 0.04-0.15%, Argentina เกรด 0.04-0.15%, Thailand เกรด 0.45%, USA เกรด 0.04-4.00%, Chile เกรด 0.04-0.15%, Australia เกรด 1.5-4.00%, China เกรด 0.04-4.00%, Germany เกรด 1.5-4.00%, Congo เกรด 1.5-4.00%, Canada เกรด 1.5-4.00%, Mexico เกรด 1.5-4.00%, Serbia เกรด 1.5-4.00%, Russia เกรด 1.5-4.00% และยังมีที่ Czechia ไม่ระบุเกรด
แหล่งแร่โพแทชในภาคอีสาน
นอกเหนือจากการพบแหล่งแร่ลิเทียมที่ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ของบริษัท สยามโลหะอุตสาหกรรม แล้ว ในประเทศไทยยังมี “แหล่งโซเดียม” ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาเป็น “แบตเตอรี่โซเดียมไอออน” ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าได้ด้วย โดยนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันได้เริ่มมีการใช้โซเดียมไอออนแก้ปัญหาวัตถุดิบลิเทียมในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทยแล้ว พร้อมกับมองว่าในอนาคต ไทยอาจจะเป็น “ศูนย์กลางผลิตแบตโซเดียมไอออน” ได้ เพราะประเทศไทยมีวัตถุดิบโซเดียมจำนวนมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยขณะนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำลังวิจัยเอา “แร่โพแทสเซียม” ที่มีโซเดียมเป็นองค์ประกอบมาผลิตแบตเตอรี่โซเดียมไอออน ที่สำคัญคือการใช้โซเดียมทำให้แบตเตอรี่รถไฟฟ้ามีราคาถูก และไม่อันตราย สามารถเก็บและใช้ได้ทุกอุณหภูมิ
“บริษัทผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ BYD เริ่มทำแบตเตอรี่โซเดียมไอออนออกมาแล้วสำหรับรถไฟฟ้าที่วิ่งระยะทางสั้น ๆ ในเมืองเพราะหนาและหนักกว่าลิเทียมไอออน เขาจึงเอาบางส่วนของโซเดียมไปรวมในแพ็กลิเทียมไอออนเพื่อความปลอดภัยและราคาถูกลง แตกต่างจากเทคโนโลยีโซลิตสเตจแบบแห้ง เพราะลิเทียมโดนน้ำอาจจะระเบิดได้” นายสุรพงษ์กล่าว
แบตโซเดียมไอออนต้นทุนถูกกว่า
ด้าน รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าคณะวิจัยการพัฒนาแบตเตอรี่โซเดียมไอออน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการวิจัยแบตเตอรี่โซเดียมไอออนต้นแบบเสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการหานักลงทุนเข้ามาลงทุนเพื่อผลิตให้ได้ความคุ้มค่าต่อหน่วยในการผลิต ซึ่งจากผลงานวิจัยพบว่า หากผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม และแบตเตอรี่โซเดียม ในปริมาณที่เท่ากัน เทียบความคุ้มค่าในด้านราคาแล้ว แบตเตอรี่โซเดียมไอออนจะมีต้นทุนต่ำกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมครึ่งต่อครึ่ง หรือประมาณ 40-50% เพราะมีแหล่งวัตถุดิบโซเดียมอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นส่วนหนึ่งในเหมืองโพแทสเซียม ซึ่งปัจจุบันตามข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มีประมาณ 18 ล้านล้านตัน คิดเป็นปริมาณสูงมากแห่งหนึ่งในโลก หรืออาจจะเรียกว่าสามารถนำไปใช้ผลิตแบตเตอรี่ได้หลายร้อยปีก็ไม่หมด
“งานวิจัยของเราทำทั้งแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและแบตเตอรี่โซเดียมไอออน โดยเริ่มวิจัยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนก่อน จากนั้นเพิ่งเริ่มมาวิจัยแบตเตอรี่โซเดียมไอออนเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะโซเดียมไอออนเป็นแบตเตอรี่ชนิดใหม่ สาเหตุที่ต้องทำเพราะเรารู้ว่า ลิเทียมไอออนมีข้อจำกัดบางอย่าง ดังนั้นเราต้องทำเพราะรู้ว่ามีทรัพยากรโซเดียมจำนวนมาก โซเดียมจึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการสร้างทางเลือกเพื่อแก้โจทย์เรื่องวัตถุดิบให้กับประเทศ และแบตเตอรี่โซเดียมมีค่ายรถ EV ได้แก่ BYD ได้เริ่มทดลองทำแล้วที่ประเทศจีน แต่ยังไม่มีโรงงานแบบนี้ในประเทศไทย เพราะโครงการนี้ต้องอาศัยการลงทุนหลัก 10,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนั้นรถ EV ยังไม่ได้มีปริมาณมากในไทย แต่โซเดียมมีอยู่แล้วในเหมืองโพแทช เท่าที่ทราบมีคนทำโซเดียมอยู่แล้วคือ บริษัทเกลือพิมาย ของกลุ่มอาซาฮี ที่ จ.นครราชสีมา เอาสารที่ได้คือ โซเดียมคลอไรด์ ไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการทำกระจก และยังมีแหล่งโพแทชที่จังหวัดสกลนคร และอุดรธานีอีกด้วย” รศ.ดร.นงลักษณ์กล่าว
แร่ลิเทียมของบางจาก
ส่วนบริษัทด้านพลังงานที่สนใจในการพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำคือ แร่ลิเทียม ได้แก่ บริษัท บางจากฯนั้น นายนิวัฒน์ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บางจากฯยังมองถึงโอกาสการลงทุนพัฒนาเรื่องแบตเตอรี่รถ EV โดยบริษัทจะรับหน้าที่ดูแลแร่ลิเทียมคาร์บอเนต ที่ได้จากแหล่งแร่ลิเทียมที่บางจากฯได้เคยซื้อและทำสัญญาขายไปแล้ว (Lithium Americas Corp. หรือ LAC ) แต่มีเงื่อนไขว่า ขายแหล่งแต่จะยังได้รับแร่ลิเทียมจากแหล่งนั้นอยู่ในปริมาณ 6,000 ตันต่อปี เพื่อนำมาผลิตเซลล์แบตเตอรี่และคอมแพ็กต์แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และมีการเตรียมขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งทางเรือ มีแผนจะขยายไปสู่ธุรกิจขนถ่ายแอมโมเนีย ซึ่งจะเป็นส่วนผสมสำคัญสำหรับใช้ในการขนถ่ายไฮโดรเจน
ทั้งนี้มีรายงานข่าวระบุว่า เมื่อปี 2017 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนไทยรายเดียวที่ได้เคยไปลงทุนในแหล่งลิเธียมที่ประเทศอาร์เจนตินา แต่ภายหลังได้ขายเหมืองไปเมื่อปี 2022 แต่บางจากฯยังมีแผนจะอาศัยวัตถุดิบลิเทียมจากเหมืองลิเทียมเดิมมาใช้สำหรับผลิตแบตเตอรี่รถ EV โดยได้รับเงื่อนไขพิเศษที่กำหนดให้สามารถซื้อ “ลิเทียม” จากเหมืองได้ปริมาณ 6,000 ตันต่อปี เป็นเวลา 20 ปี เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ได้ โดยสถานการณ์ขณะนั้นเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ของทั่วโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง และปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังไม่มากนัก