รู้จักโครงการลดต้นทุนปลูกข้าว 1.5 หมื่นล้าน ต้นเหตุปมร้อน “พี่ศรี-อธิบดีกรมการข้าว”

ปมร้อน

เปิดที่มาที่ไปโครงการลดต้นทุนปลูกข้าว 15,000 ล้านบาท ก่อนที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา จะถูกกล่าวหาเรียกรับเงิน ซึ่งเดิมเตรียมยื่นร้องเรียนให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผู้บริหารกรมการข้าว

วันที่ 29 มกราคม 2567 จากกรณีตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) แจ้งข้อกล่าวหากับ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน รวมไปถึงนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋งดอกจิก ประธานกลุ่มรวมใจรักชาติ และนางสาวพิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรครวมไทยสร้างชาติ ฐานข่มขู่เรียกเงินจำนวน 3 ล้านบาท จากนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าวเพื่อแลกการยุติเรื่องร้องเรียนโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว วงเงิน 15,000 ล้านบาท

รู้จักโครงการลดต้นทุนปลูกข้าว 15,000 ล้านบาท

ย้อนไปที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ทั้งนี้ กรอบวงเงินดำเนินโครงการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยการจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ ไม่เกิน  20,000 บาท กรอบวงเงินจำนวนรวม 55,083.086 ล้านบาท

ทั้งนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้หารือแนวทางการดำเนินโครงการและวิธีการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวร่วมกัน โดยเป็นการจ่ายเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรโดยตรง มีผลสรุปดังนี้

1.เห็นควรให้กรมการข้าวสั่งจ่ายเช็คจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 15,225 ล้านบาท ให้ ธ.ก.ส.ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565

2.รับทราบแผนการจ่ายเงินของ ธ.ก.ส. ซึ่งจะทยอยจ่ายเงินตามโครงการฯ 5 วันต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2565 โตยกำหนดจัดกิจกรรม Kick off การจ่ายเงินในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ดังนั้น เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแผนการจ่ายเงินของ ธ.ก.ส. และมติคณะรัฐมนตรี จึงขอให้กรมการข้าวสั่งจ่ายเช็คให้ ธ.ก.ส. ภายในช่วงเช้าของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565

ADVERTISMENT

กรมการข้าวได้รับงบประมาณ

ทั้งนี้ เมื่องบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมการข้าวได้รับอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลผ่าน “โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว” เป็นจำนวนเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าทุกครั้งที่กรมการข้าวได้รับการจัดสรรงบประมาณ

สำหรับสาเหตุที่กรมการข้าวได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายการช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าว คือ นโยบายสร้างความยั่งยืนของการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนสนับสนุนค่าต้นทุนการผลิตข้าวและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.60 ล้านครัวเรือน พื้นที่ประมาณ 62 ล้านไร่ ใช้งบประมาณปีละประมาณ 54,000  ล้านบาท (โดยไม่รวมงบประมาณโครงการหรือนโยบายการช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวหลักของรัฐเช่น ประกันรายได้เกษตรกร และมาตรการคู่ขนานอื่น ๆ)

ADVERTISMENT

ซึ่งค่าลดต้นทุนและค่าเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รัฐจะจ่ายเงินสนับสนุนให้กับเกษตรกรโดยตรงผ่าน  ธ.ก.ส. โดยไม่ต้องมีการติดตามว่าเกษตรกรจะนำไปใช้จ่ายที่ตรงเป้าหมายที่รัฐกำหนดหรือไม่ จึงทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องของนโยบายวินัยการเงินและการคลังของประเทศไทย ที่จะต้องเพิ่มงบประมาณในการลงทุน (งบครุภัณฑ์) ของประเทศไทย เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดตั้งงบลงทุนต่ำ แต่เมื่อรัฐบาลต้องการสร้างความยั่งยืนและให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีความเข้มแข็งในอนาคต รัฐบาลจึงปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยเป็นการสนับสนุนค่าต้นทุนการผลิตข้าวและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

สำหรับโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีเป้าหมายในการสนับสนุนงบประมาณไปยังศูนย์ข้าวชุมชน 5,000 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยโครงการจะกำหนดการสนับสนุนงบประมาณตามศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก (ตามแผนการปฏิบัติงานที่จะดำเนินการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว)

และพิจารณาตามพื้นที่ทำนาปลูกข้าวในเขตการให้บริการของศูนย์ข้าวชุมชนคือ พื้นที่ให้บริการต่ำกว่า 2,000 ไร่ จะสนับสนุน 1 ล้านบาท พื้นที่ให้บริการมากกว่า 2,000 ไร่ จะสนับสนุน 2 ล้านบาท พื้นที่ให้บริการมากกว่า 4,000 ไร่ จะสนับสนุน 3 ล้านบาท และพื้นที่ให้บริการมากกว่า 6,000 ไร่จะสนับสนุน 4 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร และค่าซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร โดยจะกำหนดกรอบกว้าง ๆ ให้เกษตรกรทราบเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการเกษตรกรอย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีคณะกรรมการระดับต่าง ๆ ไปพิจารณาให้ตรงกับศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรจริง

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะทำให้กลุ่มเกษตรกรและศูนย์ข้าวชุมชนมีความเข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาการผลิตข้าวของประเทศและจะเกิดผลประโยชน์ทางตรงซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี ต้นทุนการผลิตต่อไร่ลดลงร้อยละ 5 ต่อปี เกษตรกรรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 (รายได้สุทธิเพิ่มขึ้นบาท/ไร่ หรือ บาท/กิโลกรัม) ต่อปี อีกทั้งเกษตรกร 4.60 ล้านครัวเรือน จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว

ที่สำคัญผลประโยชน์สุทธิที่ได้รับจากโครงการ 30,318 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบลงทุนภาครัฐ 15,260 ล้านบาท ได้ผลประโยชน์สูงถึง 15,058 ล้านบาท นอกจากนั้นประเทศไทยจะสามารถใช้จ่ายงบประมาณด้านงบลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ลดภาระ ตลอดจนประเทศสามารถลดงบประมาณในการช่วยหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวในอนาคตได้เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี จากการติดตามการจ่ายไร่ละ 1000 ให้กับชาวนา ปัจจุบันพบว่ามีการจ่ายไปแล้วกว่า 14,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรได้รับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว