
ท่ามกลางวิกฤตด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบเชื่อมโยงต่อการติดต่อค้าขายและการลงทุนของโลกที่ยังไม่รู้จะคลี่คลายลงไปในทิศทางใด แต่ไทยยังจำเป็นต้องเดินหน้าการเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ซึ่งเป็นความตกลงในภาพใหญ่ที่จะมาช่วยตลาดไปยังสหภาพยุโรปในอนาคต เพราะหากจะรอสถานการณ์การเมืองโลกคลี่คลายแล้วค่อยมาเจรจาก็คงยากที่จะสำเร็จได้ในชั่วข้ามคืน
FTA ไทย-อียู รอบ 3 กลางปี
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2566 ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ได้เริ่มเจรจาความตกลงเอฟทีเอกันมาแล้ว 1 รอบ และปีนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจา FTA ไทย- อียู รอบที่ 2 ในวันที่ 22-26 มกราคม 2567 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพ
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลการเจรจารอบ 2 ในภาพรวมถือว่าเป็นไปด้วยดีทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงรายละเอียดของแต่ละประเด็น พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อเสนอเพิ่มเติม และสร้างความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น
เปิด 19 หัวข้อเจรจา
สำหรับการเจรจารอบนี้ ประกอบด้วย การประชุมระดับหัวหน้าคณะ และการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) กฎถิ่นกำเนิดสินค้า 3) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4) มาตรการเยียวยาทางการค้า 5) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) 6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) 7) การค้าบริการและการลงทุน 8) การค้าดิจิทัล 9) ทรัพย์สินทางปัญญา 10) การแข่งขันและการอุดหนุน
11) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 13) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 14) รัฐวิสาหกิจ 15) พลังงานและวัตถุดิบ 16) ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17) ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18) การระงับข้อพิพาท และ 19) บทบัญญัติเบื้องต้น บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน และข้อยกเว้น
ระดมเสียงเตรียมเจรจารอบ 3
“หลังจากนี้กรมเตรียมเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมการประชุมสรุปผลความคืบหน้าการเจรจาครั้งที่ 2 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจารอบที่ 3 ทางอียูจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ที่กรุงบรัสเซลส์ และจะเจรจาอีก 1 รอบช่วงเดือนตุลาคม 2567 ที่ประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าเจรจาให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2568 เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน”
สำหรับฝ่ายไทยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ปี’66 ไทยได้ดุลการค้าอียู
ในส่วนของภาพรวมการค้าของไทย-อียู ในปี 2566 มีมูลค่า 41,582.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 21,838.37 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้า มูลค่า 19,743.87 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 2,094.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์
หลังจากนี้ต้องมารอติดตามว่า การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูจะมีความคืบหน้าอย่างไรในอีก 3 เดือนข้างหน้า