
บิ๊กธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทุนไต้หวัน “Delta” โชว์ผลงาน 9 เดือนกวาดรายได้ทะลุ 1 แสนล้าน ปี’67 เตรียมเทงบฯลงทุน 1 หมื่นล้านบาท เสริมแกร่งการผลิต-บุคลากร ดีเดย์ มี.ค.นี้ เตรียมคิกออฟโรงงานใหม่พร้อมศูนย์ R&D รับบทบาท “ทูตการลงทุน” ดึงพันธมิตรซัพพลายลงทุนฐานผลิตในไทย
ถึงแม้เทรนด์เศรษฐกิจปี 2567 มีความเปราะบางและเต็มไปด้วยปัจจัยท้าทายนานาประการ แต่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีทิศทางเป็นดาวรุ่งมาโดยตลอด ปัจจัยหนุนมาจากความต้องการใช้จากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้มีการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติเดินหน้าขยายการลงทุนฐานผลิตในประเทศไทยต่อเนื่อง
นายแจ็คกี้ จาง ประธาน บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลประกอบการรอบ 9 เดือนปี 2566 มีรายได้ 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ โต 29% รวมทั้งกําไรก็มีการเติบโตเช่นกัน
“สัดส่วนรายได้ ตัวหลักมาจากอีวี ต้นปีมีสัดส่วน 20% ณ ไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 33% ของรายได้รวม ขณะที่ 9 เดือนสัดส่วนรายได้อีวีคิดเป็น 29% ส่วนดาต้าเซ็นเตอร์ค่อนข้างทรงตัว ไม่ได้เติบโตแรงเท่าอีวี สัดส่วนรักษาระดับที่ 25% ที่เหลือเป็นธุรกิจโซลูชั่นบิสซิเนส ทั้งอินฟราสตรักเจอร์ ออโตเมชั่น รวมกัน 15-20% โดยอีวีเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเดลต้า”
มองบวกเศรษฐกิจไทยโตสดใส
ประธานเดลต้าฉายภาพมุมมองเศรษฐกิจปีนี้ว่า เดลต้าเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออกถึง 95% ไปยังตลาดยุโรป อเมริกา และมีธุรกิจโซลูชั่นบิสซิเนส อีวีชาร์จเจอร์ ระบบอัตโนมัติสําหรับภาคอุตสาหกรรม อาคารอัจฉริยะ และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนเกี่ยวกับสาธารณูปโภคไอซีทีต่าง ๆ ที่ทำตลาดในอาเซียน ออสเตรเลีย อินเดีย จึงมองถึงปัจจัยความท้าทายจากภายนอกเป็นหลัก
โดยปีนี้ เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ อัตราเงินเฟ้อ สงครามการค้า ทะเลแดง เสถียรภาพเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ยังเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังสําหรับเดลต้า ไทยแลนด์ เมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจและความท้าทายในปี 2024 อาจจะไม่ได้โตแรงเท่าปีที่แล้ว ภาพรวมในครึ่งปีแรก 2024 เดลต้ายังคงมีมุมมองที่เฝ้าระวัง มอนิเตอร์สถานการณ์ต่าง ๆ
ขณะที่เศรษฐกิจไทย เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีในครึ่งปีหลังมากกว่าครึ่งปีแรก โดยภาพรวมคาดว่าจะดีขึ้นจากรายได้ภาคการท่องเที่ยว และผลพวงจากสงครามการค้า ทําให้หลายบริษัทอยากลงทุนในอาเซียนมากขึ้น
“แม้ว่าครึ่งปีแรกภาพรวมยังคลุมเครือ ไม่ได้เห็นสัญญาณของธุรกิจที่เข้มแข็งมากนัก เราพยายามเร่งการผลิต รีบส่งมอบเพื่อซัพพอร์ตดีมานด์ระยะกลาง-ยาว โดยยังมีมุมมองเชิงบวก เพราะผลิตภัณฑ์ของเราสอดคล้องกับเมกะเทรนด์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น AI ระบบเครือข่าย ดาต้าเซ็นเตอร์ ธุรกิจเกมมิ่งที่ใช้จีพียูเพื่อมาประมวลผล และต้องการพาวเวอร์ซัพพอร์ตที่มีกําลังไฟสูงมาก ทําให้เราค่อนข้างมีความมั่นใจว่าแนวโน้มต่าง ๆ เหล่านี้จะเติบโตที่เรียกได้ว่าสดใส”
เร่งขยายสวนทางเศรษฐกิจอ่อนตัว
นายจางกล่าวต่อว่า ปีนี้เดลต้าวางแผนลงทุนเพิ่ม 15-20% จากปีก่อน หรือจาก 250 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ผ่านมางบฯลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2022 มีวงเงิน 180 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2023 ต้นปีลงทุนเพิ่มขึ้น 20-30% เป้าหมายเดิมวางไว้ 200 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ แต่รอบ 9 เดือนลงทุนไปแล้ว 250 ล้านเหรียญสหรัฐ เกินจากเป้าหมายเมื่อรวมกับไตรมาส 4/66 ภาพรวมการใช้งบฯสูงเกือบ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปี 2024 ตั้งเป้าลงทุนเพิ่ม 15-20% หรือมากกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ตอนนี้เป็นจังหวะดีมากที่เราจะลงทุน ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีเราเห็นเป็นโอกาสในการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ให้ดีกว่าเดิม ทั้งในองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะการสร้างวิศวกรเพื่อเป็นตัวช่วยสนับสนุนภาคการผลิตของไทย บริษัทจึงร่วมกับพันธมิตรสถาบันการศึกษาหลายแห่งในการพัฒนาคน การสร้าง Power Electronics Lab ในมหาวิทยาลัย”
ล่าสุดในเดือนมีนาคมนี้ จะมีการเปิดตัว 2 อาคารสร้างเสร็จใหม่ ได้แก่ DET 8 และโครงการ 9 ศูนย์วิจัยและพัฒนาโปรดักต์ดีไซน์ ดาต้าเซ็นเตอร์ และเอ็นจิเนียร์ รองรับไทยเป็นฐานผลิตหลักของอีวีสําหรับภูมิภาคอาเซียน และเตรียมก่อสร้างโรงงานเพิ่มอีก 2 อาคาร ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ คาดว่าจะสร้างเสร็จภายในสิ้นปี 2025 เพื่อรองรับและสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าได้ทันที
รับบทบาท “ทูตการลงทุน”
ประธานเดลต้ากล่าวว่า ได้มีการเจรจากระตุ้นให้ซัพพลายเออร์ของบริษัทเข้ามาลงทุนปักฐานการผลิตที่เมืองไทย ไม่ใช่ต้องการลดต้นทุนเพราะค่าแรงในไทยไม่น่าจะถูกกว่าเวียดนามและจีน แต่มี 3 เหตุผลคือ 1.ปัจจัยหลักเรื่องการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสนับสนุนความต่อเนื่องในการทําธุรกิจของเดลต้า สถิติ 2 ปีก่อนบริษัทใช้วัตถุดิบในประเทศ 30% ปัจจุบันเกิน 45% เป้าหมายเพิ่มเป็น 60-70%
2.เพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมและดึงเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจไทย และ 3.เรื่องความยั่งยืน ถ้าขนส่งวัตถุดิบระยะทางไกลจะเพิ่มการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งไม่ดีต่อโลก
“การดึงพันธมิตรเข้ามาลงทุนในไทย เดลต้าพร้อมจะดำรงบทบาทแอมบาสซาเดอร์ หรือทูตที่จะดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนอุตฯอิเล็กทรอนิกส์ในไทย โดยมีบางส่วนเข้ามาลงทุนกันไปบ้างแล้ว เช่น PCB หรือ Printed Circuit Board”
เป้าหมายดึงพันธมิตรโฟกัสไปที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักบรรทุกเยอะ เช่น เคส บรรจุภัณฑ์กล่องเหล็กต่าง ๆ หรือชิ้นส่วนที่บริษัทใช้จำนวนมาก และซัพพลายเออร์เพื่อมาซัพพอร์ตวัตถุดิบที่เรียกว่า “แอ็กทีฟ อิเล็กทรอนิกส์ อีควิปเมนต์” ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยจะชักชวนกลุ่มเคเบิล ไวท์ฮาร์ทเน็ต สเปเชียลคอนเน็กเตอร์จากจีนและไต้หวัน
“ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้ตัดสินใจมาลงทุนไทย มีทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาครัฐ ซึ่งเราเป็นตัวกลางกระตุ้นให้เขาตัดสินใจ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโควิด-19 การเกิดดิสรัปชั่นของโลจิสติกส์ซัพพลายเชน ทำให้มีการตั้งฐานการลงทุนในไทยมากขึ้น เพื่อซัพพอร์ตลูกค้าและสร้างยอดขายได้ดีขึ้น”
ต้องนำหน้าคู่แข่ง 1 ก้าวเสมอ
สำหรับการเติบโตของยอดขายอีวีในปี 2022 มีจำนวน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วง 9 เดือนแรกปี 2023 ยอดขายเพิ่มเท่าตัวเป็น 880 ล้านเหรียญสหรัฐ การขยายโรงงานแห่งที่ 8 ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จึงรองรับการเติบโตเป็นทริปเปิลหรือ 3 เท่าตัว เพราะแนวโน้มความต้องการชิ้นส่วนและโซลูชั่นที่เกี่ยวกับอีวี ซึ่งเดลต้าป้อนให้ฝั่งยุโรปและอเมริกา รวมทั้งเทรนด์อีวีค่อนข้างจะเร่งตัวขึ้นเรื่อย ๆ
โดยข้อมูลบลูมเบิร์กประมาณการปีนี้ อีวีจะเพิ่ม 20% จากปีแรก 27% แนวโน้มในปี 2029 คาดว่าตลาดอีวีจะมีสัดส่วน 40% จากเทรนด์ดังกล่าวทำให้ต้องมีการลงทุนล่วงหน้า เพราะโปรเจ็กต์ออโตโมทีฟแต่ละไลน์ผลิตใช้เวลายาว 5-6 ปี ไม่ใช่แค่ระยะสั้น จึงต้องเผื่อกำลังการผลิตรองรับล่วงหน้า
ปัจจุบันเดลต้าอยู่ทำเนียบแถวหน้า ซัพพอร์ตให้ลูกค้าอุตฯยานยนต์เทียร์ 1-เทียร์ 2 ความท้าทายอยู่ที่การออกแบบเครื่องยนต์สันดาปใช้เวลาเฉลี่ย 5 ปี แต่ธุรกิจอีวีการแข่งขันสูงมาก ความต้องการลูกค้าเปลี่ยนเร็ว มีความหลากหลาย การออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มมีเวลาลดน้อยลงมาก ต้องสนองให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า และต้องนําหน้าคู่แข่ง 1 ก้าวเสมอ
“ปัจจัยท้าทายในเรื่องการพัฒนาการสื่อสารกับตัวซอฟต์แวร์ หรือเฟิร์มแวร์ของตัวอีวี ซึ่งเราไม่ใช่แค่ทําพาวเวอร์ซัพพลายแต่ไม่สามารถจะเชื่อมต่อหรือสื่อสารกับอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อควบคุมการทํางานของรถอีวีได้ อันนี้เป็น Challenge ที่เราต้องอัพเกรดให้ไว แล้วก็พัฒนาปรับปรุงไปพร้อม ๆ กับการออกแบบ” นายจางกล่าว