เปิดปัจจัยหนุน DELTA คว้ารางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมปี 2566 เพียงหนึ่งเดียว

DELTA

เปิดปัจจัยหนุน DELTA คว้ารางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมปี 2566

วันที่ 22 มกราคม 2567 ในปีก่อนหุ้น DELTA บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ถูกจับตามองในฐานะที่กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าธุรกิจสูงที่สุดในตลาดหุ้นไทย หลังจากที่ราคาหุ้นพุ่งจากหลัก 10 ทะยานสู่หลัก 100 ด้วยความรวดเร็วมาจากการปั่นหุ้นหรือไม่

มาปีนี้ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) กลับมาผงาดจากการได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ปี 2566 (The Prime Minister’s Best Industry Award) จากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567

รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลสูงสุดเหนือรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นประเภทอื่น ๆ ซึ่งจะมอบให้กับบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกเพียงแห่งเดียวในแต่ละปี

DELTA ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2555 เป็นการยกย่องการมีส่วนร่วมที่โดดเด่นในระยะยาวของบริษัทต่อเป้าหมายนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ด้วยโซลูชั่นการผลิตอัจฉริยะ การพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถ การสร้างชุมชน และโซลูชั่นสำหรับสังคมคาร์บอนต่ำ

จุดเริ่มต้น DELTA

เมื่อมาทำความรู้จัก DELTA หุ้นของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้า (Power Management Solutions) ที่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2531

โดยเดลต้า ประเทศไทย เป็นบริษัทในเครือของเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ อิงก์ (Delta Electronics, Inc.) ประเทศไต้หวัน ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย “บรูซ เฉิง” (Bruce Cheng) นักธุรกิจชาวไต้หวัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971)

และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2538 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หมวดธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยราคาเปิดการซื้อขาย 74 บาทต่อหุ้น ที่ราคาพาร์ (Par Value) 10.00 บาท ตอนนั้น มาถึงวันนี้ราคาหุ้น DELTA อยู่ที่ 84 บาท

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

สำหรับการได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมประจำปีนี้ ได้ยกย่องกลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืนของเดลต้า รวมถึงความสำเร็จและการดำเนินงานที่สำคัญทั้งหมดของบริษัทในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยตามที่ระบุไว้ในนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลและโมเดล BCG โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เดลต้าได้รับการยอมรับสูงสุดในปี 2566 ได้แก่

นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการพัฒนาธุรกิจ : เดลต้ามีผลิตภัณฑ์กำลังไฟประสิทธิภาพสูงสำหรับการใช้งานทั้งในด้านยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ใน S-Curve แรกของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next Gen Automotive) และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)

นอกจากนี้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ระบบอัตโนมัติ ระบบเครือข่าย และผลิตภัณฑ์พลังงานสำหรับศูนย์ข้อมูลของเดลต้า ยังมีส่วนช่วยในการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ควรปฏิรูป (Second S-Curve) ของระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และเศรษฐกิจดิจิทัลการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถ : เดลต้าได้ลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการฝึกอบรมวิศวกรในพื้นที่ โดยบริษัทได้เสนอโครงการฝึกอบรม PQM การพัฒนาทักษะ และทุนการศึกษาให้กับพนักงาน

นอกจากนี้บริษัทยังมีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์กำลังที่มีพร้อมทั้งอุปกรณ์ใหม่ ๆ และหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ในพื้นที่

การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) : เดลต้าทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในการสนับสนุนการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

โดยในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เดลต้าได้พัฒนาและบริจาคพัดลมมอเตอร์กระแสตรงประสิทธิภาพสูงสำหรับอุปกรณ์ PPE รวมทั้งพัฒนาและบริจาคระบบป้องกันน้ำท่วมเพื่อปกป้องเขตอุตสาหกรรมและชุมชน เดลต้ายังสนับสนุนชุมชนด้วยกองทุนนางฟ้าสำหรับสตาร์ตอัพ สมาร์ทฟาร์ม และสนับสนุน SMEs สำหรับธุรกิจสีเขียวในท้องถิ่น

นี่จึงเป็นเหตุปัจจัยที่หนุนให้เดลต้าได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดและยังการันตีด้วยรางวัลอีกหลายประเภท อาทิ รางวัลด้านการผลิต การจัดการคุณภาพ และการจัดการพลังงานในปี 2538, 2553, 2554, 2563 และรางวัลอุตสาหกรรมศักยภาพ และความรับผิดชอบต่อสังคมในปี 2561 และ 2565 นับเป็นอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในปีนี้