
เปิดใจเลขา กกพ. ยืนยัน “ค่าไฟงวด 2″ ถูกแน่ ปัจจัยบวกเพียบทั้งค่าเงิน-ราคา spot LNG ถูกลง ย้ำค่าไฟไทยแข็งขันได้ในอาเซียนไม่แพ้เพื่อนบ้าน พร้อมอัพเดท UGT เตรียมขยายฐานไปกลุ่มห้างสรรพสินค้า–ค่าปลีก
เปิดปัจจัยบวก ลด “ค่าไฟ” งวด 2/67
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ค่าไฟงวด 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2567) มีปัจจัยบวกที่จะช่วยลดค่าไฟ อย่างแรกคืออัตราแลกเปลี่ยนจากงวดที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2567) อยู่ที่ 35.83 บาท ปัจจุบันลงมาเหลือ 35.34 บาท เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้เราซื้อเชื้อเพลิงถูกลง
รวมถึงอีกปัจจัยหนึ่งคือ ราคา spot LNG ซึ่งปกติอ้างอิงราคาจาก 2 แหล่งได้แก่ JKN คือราคาในตลาดเอเชีย และ TTF คือราคาในตลาดยุโรป คาดว่า น่าจะต่ำไปจนถึงเดือนกันยายนแล้วค่อยกลับขึ้นมาใหม่ ทำให้ต้นทุนราคา LNG น่าจะต่ำกว่าเดิมอย่างแน่นอน อยู่ที่ประมาณ 8-11 เหรียญสหรัฐ จากราคาเดิมในงวด 1 ที่ 14.32 เหรียญสหรัฐ
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือ ตอนนี้หลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและยุโรปมีปริมาณ LNG เพียงพอแล้ว ประกอบกับเศรษฐกิจจีนได้ฟื้นตัวอย่างที่คิด ซึ่งเป็นสัญญาที่ดีว่าต้นทุน spot LNG น่าจะถูกกว่าปีที่แล้วเพียงแต่ราคาเท่าไหร่นั้นต้องรอการพิจารณาอีก ทำให้คาดว่า ราคา Pool Gas ในงวด 2/67 น่าจะต่ำกว่างวดที่ 1/67 ที่ 3.33 บาทต่อหน่วย แม้จะไม่มีเงินชอร์ตฟอลเข้ามาช่วย แต่ก็น่าจะถูกลงอย่างแน่นอน
“แต่อย่างไรก็ตามยังไม่รวมว่า รัฐบาลจะมีนโยบายใช้หนี้คืนกฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท และหนี้ที่ค้าง ปตท. จากการคงราคา pool Gas ให้ใช้ก๊าซเรทเดียวกัน (single Pool Gas) ในการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เมื่องวด 1 ที่ผ่านมาอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท อีกทั้งต้องจับตาปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วยว่าจะมีสงครามปะทุขึ้นที่ไหนอีกหรือไม่”
ส่วนปัจจัยที่จะมีผลต่อค่าไฟในระยะยาว ปัจจัยแรกคือต้องจับตาแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา ประเทศเมียนมาร์ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2565 จึงอาจจะต้องหาแหล่งทดแทน ส่วนปัจจัยต่อมาคือการกลับมาของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมถึงความคืบหน้าเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) ที่อาจจะเป็นอีกแหล่งหนึ่ง
ราคาขายไฟไม่เท่ากับราคาซื้อ
นอกจากนี้ นายคมกฤช ยังกล่าวว่า ค่าไฟเฉลี่ยของประเทศไทยในปี 2565 อยู่ที่ 4.14 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบอื่น ๆ ในอาเซียน แต่การให้บริการของเราดีกว่าประเทศอื่น ๆ หลายประเทศทที่ขนาดใกล้เคียงกัน อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย ที่จะต้องมีโครงข่ายไฟออกไปต่างจังหวัดด้วย
โดยแต่ละประเทศจะมีทรัพยากรที่ใช้ผลิตไฟฟ้าแตกต่างกันไป อย่างอินโดนีเซียที่ราคาถูกเพราะใช้ไฟฟ้าจากถ่านหินซึ่งในนอาคตหากจะต้องเปลี่ยนเป็นพลังงานสีเขียวจะต้องริ้อโครงสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด ส่วนเวียดนามใช้ถ่านหินและพลังงานน้ำ ซึ่งหากเกิดภาวะแล้งก็จะขาดแคลนไฟฟ้า ทำให้การออกแบบการใช้ไฟฟ้าในแต่ละประเทศต้องคำนึงถึง 3 ด้าน ได้แก่ ราคา ความมั่นคงและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไอเทมใหม่ที่โผล่ขึ้นมาคือการลดโลกร้อน
ต้นทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ราคาซื้อไฟฟ้า (ต้นทุน) ในปี 2565 จะเห็นได้ว่าราคาไฟฟ้าที่ผลิตหน้าโรงจะเฉลี่ยที่ 3.77 บาทต่อหน่วย แต่การผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) อยู่ที่ 4.02 บาทต่อหน่วย ขณะที่ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จะอยู่ที่ 4.87 บาทต่อหน่วย จะเห็นได้ว่า SPP ต้นทุนสูงกว่า เพราะประสิทธิภาพยังไม่เท่ากับ IPP ประกอบกับเวลานั้นเราเจอปัญหาก๊าซในอ่าวไทยขาดแคลน ทำให้ราคา pool gas แพงขึ้น
“จะเห็นได้ว่าโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซจะแพงกว่าต้นทุนเฉลี่ยจากเดิมปกติที่ต่ำกว่า รวมถึงใช้น้ำมันดีเซลเข้ามาผลิตไฟฟ้าทำให้ต้นทุนไฟฟ้าสูงมากที่ 8.4 เหรียญสหรัฐ แต่อย่างไรก็ตามต้นทุนยังถูกกว่าการนำเข้าก๊าซ ซึ่งต้นทุน _3.77 บาทต่อหน่วยยังไม่รวมถึงค่าสายส่งหรือค่าไฟสาธารณะอีก ทำให้ราคาขายให้กับประชาชนอยู่ที่ 4.14 บาทต่อหน่วย”
โดยราคาขายไฟฟ้าของแต่ละกลุ่มการคิดค่าไฟจะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นบ้านที่อยู่อาศัยจะเป็นการคิดแบบขั้นบันได ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมจะเป็นแบบ TOU (อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ หรือ Time of Use Tariff) ที่ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ไฟของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟมากกว่า 150 หน่วยจะมีราคาถูกที่สุดจะอยู่ที่ 3.80 บาทต่อหน่วย บ้านอยู่อาศัยที่ใช้เกิน 150 ขึ้นไปอยู่ที่ 4.49 บาทต่อหน่วย ส่วนอุตสาหกรรมขนาดเล็กเฉลี่ย 4.55 บาทต่อหน่วย อุตสาหกรรมขนาดกลาง 4.31 ทต่อหน่วย และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งมีราคาถูกที่สุดเฉลี่ย 3.81 บาทต่อหน่วย เพราะใช้ค่าไฟฟ้าแบบ TOU ทำให้หลบเลี่ยงช่วงไฟฟ้าพีกได้และบริหารจัดการได้
ค่าไฟไทยไม่ได้แพงในอาเซียน
ต้องอธิบายก่อนว่า ค่าพีกของแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน คือค่าไฟปกติตามตารางจะบวกค่าเอฟทีทุก 4 เดือน โดยตารางคิดค่าไฟจะไม่มีการปรับเลย จะปรับแค่เฉพาะค่าเอฟที เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนจะพบว่า อินโดนีเซียมีค่าไฟในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ถูกที่สุดเพราะใช้พลังงานถ่านหินและเงินรัฐอุดหนุน จากนั้นก็เป็นเวียดนามที่ 2.62 บาทต่อหน่วยและไทยที่ 3.46 บาทต่อหน่วย
ซึ่งในช่วงเริ่มต้นปี 2565 ค่าไฟระหว่างไทยกับเวียดนามอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่เรามาเจอปัญหาในเรื่องราคาก๊าซที่หายไปและต้องเพิ่มการนำเข้า ซึ่งตอนนี้กลับลงมาไม่ต่างกันเท่าไหร่แล้ว ซึ่งหากเราสามารถรักษาระดับราคาให้อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยก็สามารถแข่งขันได้ แต่ต้องบอกก่อนว่าเป็นเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น เพราะเวียดนามคิดค่าไฟของแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน

ส่วนธุรกิจขนาดกลาง เมื่อเดือนพฤศจิกายนปรับค่าไฟขึ้น 3.98 ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟขึ้นค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับไทยที่ 3.46 แล้ว ค่าไฟของธุรกิจขนาดกลางในเวียดนามมีราคาสูงกว่าของประเทศไทย ส่วนบ้านอยู่อาศัยจะใช้การคิดค่าไฟแบบขั้นบันได
“หากเป็นบ้านที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 300 หน่วยจะพบว่า มาเลเซียเป็นประเทศที่มีค่าไฟฟ้าในบ้านที่อยู่อาศัยถูกที่สุดเพราะให้ความสำคัญกับบ้านที่อยู่อาศัยเป็นพิเศษ จึงใช้เงินรัฐเข้าอุดหนุน รองลงมาด้วยเวียดนาม ส่วนบ้านอยู่อาศัยใช้ไฟมากกว่า 600 หน่วย มาเลเซียก็ยังมีราคาที่ถูกกว่า เช่นเดียวกับเวียดนามที่ค่าไฟในบ้านที่อยู่อาศัยราคาถูกกว่าไทย”
จากการคิดค่าไฟที่แตกต่างกันระหว่างอุตสาหกรรมและครัวเรือนของแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับการออกแบบนโยบายของภาครัฐว่าสนับสนุนด้านไหนเป็นพิเศษ บางประเทศเน้นดูแลประชาชน ส่วนบางประเทศให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม
ทำความเข้าใจไฟฟ้าสีเขียว (UGT)
ค่าไฟสีเขียว (Utility Green Tariff หรือ UGT) มี 2 แบบคือ ผู้ใช้ไฟฟ้าจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวได้ (UGT1) และผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้ (UGT2) โดยทั้ง 2 รูปแบบจะใช้สายส่งเดียวกัน ซึ่งจะมีระบบที่ใช้ยืนยันว่าไฟฟ้าที่ใช้เป็นพลังงานสีเขียวอย่าง REC (Renewable Energy Certification) ที่ทำร่วมกับ IREC (Interstate Renewable Energy Council) โดยจะต้องซื้อขายไฟฟ้าผ่านรัฐหรือก็คือ 3 การไฟฟ้าเท่านั้น ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซี่งจะมีความสะดวกสบายและมั่นคงมากกว่า ส่วนการซื้อขายกันเองระหว่างเอกชนจะไม่ใช่ UGT
UGT1 จะใช้การคำนวณค่าไฟคือ ค่าไฟที่มีค่า Ft (คิดค่าไฟแบบ TOU) บวกกับ Premium (P) ซึ่งเป็นค่าบริการจัดการและราคาตลาดของ REC ประมาณ 0.59 สตางค์ โดยกลุ่มที่ใช้ไฟ UGT1 จะเป็นกลุ่มกิจการขนาดเล็ก กลางและขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถนำ REC ไปใช้ยืนยันได้ว่า โรงงานของคุณใช้ไฟฟ้าสีเขียว
ส่วน UGT2 จะรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่ผ่านโครงการจำนวน 4,852 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโครงการโซลาร์ประมาณ 2,300 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,400 เมกะวัตต์ และพลังงานโซลาร์กับแบตเตอร์รี่อีก 1,000 เมกะวัตต์ รวมกับราคาตลาด REC ค่าบริหารจัดการและค่าเสริมความมั่นคง (AP) ก็จะได้ราคาแบ่งออกเป็น 2 พอร์ตด้วยกัน ได้แก่ พอร์ต A (2568-2570) ที่ราคา 4.56 บาทต่อหน่วย และพอร์ต B (2571-2573) ที่ราคา 4.54 บาทต่อหน่วย รวมถึงในอนาคตเตรียมรับซื้อเพิ่มอีก 3,600 เมกะวัตต์ โดยคาดว่า UGT2 จะเริ่มใช้ได้ปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568

ผลตอบรับไฟฟ้าสีเขียว
กลุ่มลูกค้า Data Center
- สมัครใจที่จะใช้ เพราะเป็นการบังคับมาจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ
- พอใจในกลไก UGT และราคาเป็นที่ยอมรับได้
- การประกาศ UGT ทำให้เกิดความมั่นใจในการลงทุน
- ความมั่นคงด้านไฟฟ้าเป็นวัตถุประสงค์หลักและอยากให้รัฐดูแลเรื่องความมั่นคงควบคู่กับพลังงานสะอาดไปพร้อมกัน
- มีความเข้าใจเรื่อง UGT และพลังงานสีเขียวเป็นอย่างดี
กลุ่มลูกค่าอุตสาหกรรม
- กังวลเรื่องกลไก CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) และความสามารถในการแข่งขัน แต่อย่างไรก็ตามมาตรการ CBAM ในปัจจุบันยังอยู่มี Scope 1 คือควบคุม 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ปุ๋ย อลูมิเนียม และกระแสไฟฟ้า ที่ในกระบวนการผลิตมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก จึงจำเป็นต้องใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อมาทดแทน ยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับ UGT โดยตรง
- อยากให้มีการแยกระดับแรงดันหรือการคิดค่าไฟแบบ TOU ของ UGT
- ยังมีความสับสนเรื่องราคาซื้อและราคาขายไฟฟ้าของต่างประเทศ
กลุ่มลูกค้าขายปลีก
- ลูกค้าขายปลีกมีความต้องการ UGT
- ห้างสรรพสินค้าอยากมี Green energy ให้บริการลูกค้า
- อยากให้มีสัญญาซื้อขายไฟที่ยืดหยุ่น เพื่อให้บริหารลูกค้าพร้อมต้องการคำแนะนำจากรัฐ
- โดยกลุ่มนี้จะเป็นแผนของ UGT ในอนาคตที่จะปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับธุรกิจค้าปลีก
“ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศแรก ๆ ในอาเซียนที่ใช้ค่าไฟสีเขียว UGT2 แบบสาธารณะครั้งแรก มาเลเซียใช้รูปแบบการให้บริหารแบบ GET ที่มีลักษณะคล้ายกับ UGT1 อยู่ที่ราคาประมาณ 4.9 บาทต่อหน่วย หรือของอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์จะให้ไฟสีเขียวกับเอกชนบางรายเท่านั้น”