ไฟฟ้าสีเขียวคืออะไร ค่าไฟ UGT แพงกว่าหรือไม่

ไฟฟ้าสีเขียว

ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์อันคุกรุ่นระหว่างประเทศมหาอำนาจที่ส่งผลต่อการย้ายฐานการผลิต ทำให้ไทยต้องคว้าโอกาสดึงฐานการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่อย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ทว่ากลับติดปัญหาเรื่องไฟฟ้าพลังงานสะอาด 100% ที่ทำให้นักลงทุนหลายรายยังไม่ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย

และแล้ววันนี้ก็มาถึง เมื่อประเทศไทยก็ได้ปลดล็อกไฟฟ้าพลังงานสะอาดหรือ “ไฟฟ้าสีเขียว” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการแถลงข่าวภายใต้หัวข้อ “เดินหน้าพลังงานสะอาด ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และการลงทุน” เพื่อประกาศเดินหน้าโครงการอย่างเป็นทางการ

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างนำ (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในเดือนมกราคมนี้ แล้วจะปิดซื้อขายภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ถ้าไม่มีใครคัดค้าน

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปให้ชัด ไขข้อสงสัยว่า UGT คืออะไร กระทบค่าไฟหรือไม่ แล้วใครสามารถใช้ได้บ้าง รวมถึงเราจะซื้อไฟสีเขียวนี้ได้จากที่ไหน

UGT คืออะไร

UGT ย่อมาจาก  Utility Green Tariff หรืออัตราการเก็บค่าบริการสำหรับไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งไฟฟ้าสีเขียวจะได้มาจากพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น โดยจะมีใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) ควบคู่มาด้วย ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นรายแรก ๆ ของภูมิภาคเอเชียที่มีการเปิดซื้อขายไฟสีเขียวในรูปแบบนี้รองจากอินเดีย มาเลเซีย เกาหลี และญี่ปุ่น

ที่มาภาพ : สำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

โดยรูปแบบของประเทศไทย ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดจะทำสัญญาซื้อขายและจำหน่ายไฟฟ้าให้ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แล้วหลังจากนั้นทั้ง 3 การไฟฟ้าจะส่งจ่ายไฟฟ้าสีเขียวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ทำสัญญาซื้อไฟสีเขียว

ซึ่ง UGT มีเป้าหมายเพื่อลดอุปสรรคข้อกีดกันทางภาษี โดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ อย่างสหภาพยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย ได้ประกาศให้มีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBMA) ที่เริ่มให้มีการรายงานคาร์บอนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา และจะเริ่มบังคับเก็บค่าธรรมเนียมอย่างอย่างจริงจังในปี 2569

รวมถึงในอนาคตที่คู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยอย่างสหรัฐเองก็มีแผนที่จะออกมาตรการในลักษณะเดียวกัน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก

ไฟฟ้าสีเขียว 2 ประเภท ค่าไฟแพงขึ้น ?

จากการพิจารณาของ กกพ. เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 เรื่อง (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว สามารถสรุปได้ว่า ประเทศไทยจะมีอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว 2 ประเภท โดยอยู่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้จัดจำหน่าย ได้แก่

แบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียว (UGT1) โดยจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่แล้วของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แล้วจะส่งมอบ REC ของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

หลักการคิดอัตราค่าบริการ UGT1 อ้างอิงจากค่าไฟฐานเบื้องต้นที่คิดค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) บวกกับอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium หรือ P) ซึ่งมีราคาเฉลี่ยที่ 0.0594 บาทต่อหน่วย เช่น ค่าไฟปัจจุบันในงวดมกราคมถึงเมษายน 2567 อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย จะต้องบวกเพิ่มอีก 0.0594 บาท ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟสีเขียวรูปแบบนี้ต้องเสียค่าไฟประมาณ 4.23 บาทต่อหน่วย คาดว่าการคิดอัตราค่าไฟสีเขียวแบบ UGT1 จะสามารถเริ่มใช้ได้ทันทีภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

โครงสร้างค่าไฟสีเขียว UGT1

แบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวได้ (UGT2) เป็นประเภทที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติหลายประเทศ เพราะสามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าพร้อมสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแห่งใหม่

กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวกลุ่มนี้จะได้รับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) ปี 2565-2573 โดยผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะสามารถเลือกรับ REC จากกลุ่มโรงไฟฟ้าใหม่ใน Portfolio ใดก็ได้ตามที่เลือก ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 2 Portfolio ได้แก่ Portfolio A และ Portfolio B

Portfolio A สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2568-2570 โดยจะมีค่าไฟต่อหน่วยอยู่ที่ 4.56 บาท และ Portfolio B สำหรับโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการระหว่างปี 2571-2573 ซึ่งจะมีค่าไฟต่อหน่วยอยู่ที่ 4.54 บาท โดยจะเก็บอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวสำหรับ UGT2 ทั้ง Portfolio A และ Portfolio B เฉลี่ยที่ 4.55 บาทต่อหน่วย

โครงสร้างค่าไฟสีเขียว UGT2 ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ตกลงแล้วไฟฟ้าสีเขียวแบบ UGT2 จ่ายแพงหรือถูกกว่าไฟฟ้าปกติหรือไม่ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) อธิบายไว้ว่า ค่าไฟฟ้าปกติต้องอ้างอิงตามราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก ซึ่งจะมีความผันผวนด้านราคา ทำให้บางครั้งไฟฟ้าสีเขียวรูปแบบ UGT2 อาจจะมีทั้งช่วงราคาที่ถูกกว่า แพงกว่า หรือราคาใกล้เคียงกับค่าไฟปกติ

เงื่อนไขการใช้ไฟฟ้าสีเขียว

การซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวในครั้งนี้ ให้เฉพาะกับภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น เพราะตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าด้วยค่าปรับคาร์บอน ทำให้ “ไฟฟ้าสีเขียว” ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในช่วงโอกาสทองของการดึงฐานการผลิตและการลงทุน ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องการจะส่งออก แต่อย่างไรก็ตาม ไฟสีเขียวนี้ก็ยังมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละ UGT1 และ UGT2

สำหรับ UGT1 จะให้สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง (ประเภท 3) กิจการขนาดกลาง (ประเภท 4) และกิจการเฉพาะอย่าง (ประเภท 5) อาทิ โรงแรมหรือกิจการให้เช่าพักอาศัย โดยมีระยะเวลาการใช้ไฟสีเขียว 1 ปี โดยได้ REC จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 7 โรงของ กฟผ. ในราคาตลาด ซึ่งจะเริ่มต้นขายขั้นต่ำที่ 1 Block หรือประมาณ 100 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป และสามารถไถ่ถอนสิทธิ REC ในนามผู้ใช้ไฟฟ้าปีละ 1 ครั้ง อีกทั้งยังไม่มีบทปรับสัญญา

ขณะที่ UGT2 ให้บริการเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้ากิจการขนาดกลาง (ประเภท 4) และกิจการเฉพาะอย่าง (ประเภท 5) เท่านั้น โดยใช้วิธีการนับหน่วย และได้ REC จากโรงไฟฟ้าใหม่ตามระเบียบรับซื้อ FIT 2565-2573 ซึ่งมีระยะเวลาการใช้ตามสัญญาขั้นต่ำ 10 ปีนับจากวันที่เริ่มรับ UGT2 และมีบทปรับสัญญา หากผิดสัญญา อีกทั้งยังไถ่ถอนสิทธิ REC ในนามผู้ใช้ไฟฟ้าได้ปีละ 1 ครั้ง และการปรับปรุงหน่วยจริงตามรอบค่าไฟฟ้าฝันแปร (ค่าเอฟที หรือ Ft) อีกด้วย

โดยผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะต้องจ่ายค่าบริการต่าง ๆ เช่นเดียวกับผู้ใช้ไฟฟ้าปกติ รวมถึงปรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องตามรอบเอฟทีและรอบการปรับค่าไฟฟ้าฐาน ทั้งยังปรับปรุงหน่วยการใช้ไฟฟ้าให้ถูกต้องและสอดคล้องกับ REC

เราซื้อไฟ UGT จากใครบ้าง

สำหรับ UGT1 ต้องซื้อจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำทั้ง 7 แห่งของ กฟผ. ซึ่งสัญญาซื้อขาย ณ ปัจจุบัน ยังไม่ได้ระบุชื่อโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่เข้าร่วม ส่วน UGT2 ทาง กฟผ.จะรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากเอกชนที่ผ่านโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) ปี 2565-2573 จำนวน 175 ราย รวมทั้งสิ้น 175 ราย ปริมาณเสนอขายรวม 4,852.26 เมกะวัตต์

จากการรวบรวมข้อมูลของ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ระบุว่า พลังงานลม มีผู้ผ่านเกณฑ์ 22 ราย รวมปริมาณการเสนอขาย 1,490.20 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 20 ราย กำลังผลิตรวม 1,474.20 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) จำนวน 2 ราย กำลังผลิตรวม 16.00 เมกะวัตต์

ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 24 ราย รวมปริมาณการเสนอขาย 994.06 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดิน รวม 129 ราย ปริมาณการเสนอขาย 2,368.26 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) 39 ราย รวมปริมาณ 1,877.96 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) 90 ราย รวมปริมาณ 490.04 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังมีเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณา จำนวน 13 ราย จากเสนอขายรวม 100 เมกะวัตต์ ส่วนก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือก รวมทั้งสิ้น 175 ราย ปริมาณเสนอขายรวม 4,852.26 เมกะวัตต์ โดยมีทั้งกลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มเกษตรและอาหารกลุ่ม ทั้งรายเล็กและรายใหญ่

โดยสามารถดูรายชื่อทั้ง 175 รายอย่างละเอียดได้ ที่นี่ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 ข้อมูลจากการรวบรวมของ “ประชาชาติธุรกิจ” ระบุว่า เอกชนรายหลักที่ชนะสูงสุดคือ บริษัทเครือข่ายจากกลุ่ม บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ (GULF) ได้รับการคัดเลือกรวม 34 โครงการ รวมกำลังการผลิต 1,972 เมกะวัตต์

รองลงมาคือ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) จำนวน 18 โครงการ รวม 1,596 เมกะวัตต์ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ และเอสซีจี (SCG&BGRIM) จำนวน 340 เมกะวัตต์ บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) จำนวน 112 เมกะวัตต์ บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) จำนวน 168 เมกะวัตต์ และ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) จำนวน 189 เมกะวัตต์