เปิดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวครั้งแรกในไทย 4.55 บาท

นับว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวเกิดขึ้น และถือว่าเป็นประเทศแรก ๆ ในโลกที่เปิดให้มีการซื้อขายกัน ภายในการแถลงข่าว “เดินหน้าพลังงานสะอาด” Utility Green Tariff ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และการลงทุน” เพื่อสร้างมาตรฐานไฟฟ้าสีเขียวครั้งแรกในไทย พร้อมหนุนนโยบายรัฐบาลต้อนรับการลงทุนข้ามชาติขยายฐานเข้าไทย ลดอุปสรรคข้อกีดกันภาษีคาร์บอนข้ามแดนให้ผู้ประกอบการไทย

ทำไมต้องมีซื้อขายไฟสีเขียว

ไฟฟ้าสีเขียว คืออีกหนึ่งเงื่อนไขที่นักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะมาจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวันและจีนต่างสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่อย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เน้นส่งออกให้กับประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐ ซึ่งให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดอย่างมาก

เนื่องจากหลายประเทศเริ่มมีมาตรการปรับราคาคาร์บอนกันอย่างจริงจัง อย่างสหภาพยุโรปที่มีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรปหรือ CBMA รวมถึงสหรัฐอเมริกาเองก็เริ่มมาตรการในลักษณะเดียวกันในอนาคต ดังนั้นการเปิดซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวในครั้งนี้จะช่วยปลดล็อกเงื่อนไข เพิ่มความมั่นใจให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ ตลอดจนดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) เข้ามา

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน มีความพร้อมในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว หรือไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาด อย่างมีมาตรฐาน

พร้อมด้วยกลไกการรับรองมาตรฐานแหล่งที่มาซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมั่นใจว่าจะมีไฟฟ้าสีเขียวในปริมาณเพียงพอสนองตอบต่อความต้องการ และรองรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดและเพิ่มปริมาณการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

“เป็นครั้งแรกที่ไทยจะมีกระบวนการผลิต จัดหา และรับรองไฟฟ้าสีเขียวใช้ และผมมั่นใจว่าประเทศไทย มีความพร้อมด้านการให้บริการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ หรือบริษัทข้ามชาติและรองรับที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนได้เป็นอย่างดี”

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตระหนักดีถึงความต้องการใช้พลังงานสีเขียวของภาคธุรกิจ รวมถึงพันธกิจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนภาคพลังงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมเตรียมพร้อมไฟสีเขียว

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐาน และมีปริมาณเพียงพอรองรับแนวโน้มความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรมไทยและต่างชาติ นอกจากจะเป็นการยกระดับภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว

ยังจะเป็นการสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ สร้างโอกาสให้กับประเทศในการเป็นฐานการผลิตรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่จากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

“กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) และภายใต้โครงการ UGT ของภาครัฐ จะเป็นการต่อยอดและยกระดับอุตสาหกรรม สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้มากยิ่งขึ้น” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพราะมาตรการกีดกันทางการค้าในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ผู้ผลิตพร้อมที่จะหันมาใช้ไฟฟ้าสีเขียวกันมากขึ้น จากการสำรวจความต้องการใช้ไฟในนิคมอุตสาหกรรม 14 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงท่าเรือมาบตาพุด ร่วม 60,000 โรงงาน พบว่า

มีความต้องการใช้ไฟสีเขียวไม่น้อยกว่า 10,000 เมกะวัตต์ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีผู้ประกอบการหลายรายที่กังวลถึงความคุ้มทุนในระยะสั้น โดยเฉพาะภายหลังการประกาศราคาไฟสีเขียว ซึ่งมองว่า หากต้นทุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดน้อยจะยิ่งทำให้คนหันมาใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น

นายยุทธศักดิ์ สุภสร
นายยุทธศักดิ์ สุภสร

“ไฟสีเขียวจะกลายเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่จะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพราะประเทศไทยมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ห่วงโซ่อุปทาน มาตรฐานการผลิตซีึ่งสิ่งเดียวที่นักลงทุนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ติดกันอยู่ คือเรื่องพลังงานสะอาดแบบ 100% รวมถึงยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทของประเทศไทยในฐานะพลเมืองดีของโลกที่มุ่งหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน”

กกพ. เดินหน้าไฟสีเขียว 4.55 บาท

จากราชกิจจานุเบกษาเล่ม 141 ตอนพิเศษ 7 ลงวันที่ 8 มกราคม 2567 ลงประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว ระบุว่า อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff หรือ UGT) คือ ราคาไฟฟ้าสีเขียวต่อหน่วย ค่าตอบแทน หรือ

เงื่อนไขสำหรับการให้บริการไฟฟ้าสีเขียว รวมถึงค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ผู้มีหน้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า โดยไฟฟ้าสีเขียว คือไฟฟ้าที่ต้องมีใบรับรองการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC)

โดยประเทศไทยมีอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว  2 ประเภท ได้แก่ แบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ (UGT1) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่แล้ว สำหรับผู้ใช้ไฟประเภท 3 4 และ 5 ได้แก่ กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ และกิจการเฉพาะอย่าง

โดยจะมีหลักการคิดอัตราค่าบริการอ้างอิงจากค่าไฟฐานเบื้องต้นที่คิดค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) บวกกับอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium หรือ P) ซึ่งมีราคาเฉลี่ยที่ 0.0594 บาทต่อหน่วย คาดว่าจะสามารถใช้รูปแบบนี้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็น

ส่วนแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้ (UGT2) สำหรับผู้ใช้ไฟประเภท 4 และ 5 ซึ่งเป็นประเภทที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติหลายประเทศ เพราะสามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าพร้อมสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแห่งใหม่ ตลอดจนสามารถนำไปอ้างอิงได้ว่า โรงงานที่ซื้อไฟสีเขียวรูปแบบนี้มีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย ซึ่งรูปแบบนี้จะได้รับใบรับรอง REC ได้ทันที

โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อให้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจากกลุ่ม A ที่มีกำลังผลิต 5,000 เมกะวัตต์ได้จะเริ่มการซื้อขายได้ในปี 2568-2570 ส่วนกลุ่ม B จะเริ่มการซื้อขายได้ในปี 2571-2573 ซึ่งอัตราค่าบริการเฉลี่ยจากทั้ง 2 กลุ่มจะอยู่ที่ 4.55 บาท โดยจะต้องทำสัญญาซื้อขายไฟสีเขียวขั้นต่ำ 10 ปี

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ. ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแล้ว และอยู่ระหว่างนำ (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว

ซึ่งกำหนดภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเปิดบริการไฟฟ้าสีเขียวให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้อย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม และคาดว่าจะเปิดซื้อขายได้หลังจากอัตราค่าบริการฯ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้แล้วในเดือนกุมภาพันธ์

“การเตรียมความพร้อมในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว อัตราค่าบริการ และมาตรฐานกระบวนการรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียว กกพ. ได้ทยอยดำเนินการมาเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์”

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ

“ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573  ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้เสร็จเรียบร้อยทั้งหมด และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว” นายเสมอใจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การประกาศโครงการ UGT นับเป็นจุดเริ่มต้นโดยภาครัฐ เพื่อให้ผู้ให้บริการพลังงานทุกภาคส่วนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ในระยะเริ่มต้นอาจยังมีข้อจำกัด โดย กกพ. เล็งเห็นว่าจะสามารถขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้หลากหลายขึ้นและปรับปรุงข้อจำกัดต่าง ๆ ในระยะถัดไปได้ โดยอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงต้องได้รับความเห็นและเสียงสะท้อนจากผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวด้วย

ปั๊มไฟสะอาด 70% ในปี 93

ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด อยู่ที่สัดส่วน 25% และตามข้อตกลงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่ประเทศไทยเข้าร่วมนั้น ในส่วนของภาคพลังงาน มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 250 ล้านตัน จำนวนนี้คิดเป็นภาคไฟฟ้าถึง 100 ล้านตัน ซึ่งจะต้องลดลงให้เหลือ 75-76 ล้านตัน ภายในปี 2573

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ

โดยกระทรวงพลังงาน ตระหนักถึงเรื่องนี้จึงมุ่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดถึง 5,000 เมกะวัตต์ ในเฟส 1 และจะเปิดรับซื้อในเฟสที่ 2 อีกประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแตะ 50% ภายในปี 2580 และในจำนวนนี้ จะเป็นเชื้อเพลิงโซลาร์มากกว่า 20,000 เมกะวัตต์ รวมถึงเรื่องของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วย

ฉะนั้น ในอนาคตปี 2593 คาดว่าประเทศไทย จะมีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 70% โดยรายละเอียดการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะมีความชัดเจนอยู่ใน แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018 Rev.1) ที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นในเดือน ก.พ.นี้

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค