ก้าวสู่ปีที่ 32 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งเป้าสู่สินทรัพย์ดิจิทัล

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเผยความสำเร็จในการดำเนินภารกิจด้านทรัพย์สินทางปัญญาแบบครบวงจร ตั้งเป้ายกระดับทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยสู่สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการประเมินมูลค่าและเข้าถึงแหล่งทุน

วันที่ 4 พฤษภาคม 2567 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ก้าวสู่ปีที่ 32 มุ่งมั่นดำเนินภารกิจให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชน ผ่านบริการสำคัญ

อาทิ นโยบาย Smart DIP ใช้เทคโนโลยีพลิกโฉมงานบริการ เช่น ระบบ Image Search ช่วยตรวจสอบความเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้ารวดเร็วยิ่งขึ้น บริการจดทะเบียนเร่งด่วน (Fast Track) เช่น จดเครื่องหมายการค้าภายใน 4 เดือน จากเดิม 12 เดือน ต่ออายุเครื่องหมายการค้าภายใน 30 นาที จากเดิม 60 วัน จดสิทธิบัตรภายใน 12 เดือน จากเดิม 55 เดือน เป็นต้น

ด้านการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ กรมได้ส่งเสริมการสร้างธุรกิจต้นแบบที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับธุรกิจ โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์กีฬาของคนไทยสู่สากล เช่น เจ็ตสกีชิงแชมป์โลก WGP#1 ของไทย จัดแข่งขันในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย ถ่ายทอดการแข่งขันไปยัง 121 ประเทศทั่วโลก มีผู้รับชมกว่า 500 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 5,000 ล้านบาท และจะมีการต่อยอดแนวทางดังกล่าวในอุตสาหกรรมกีฬาประเภทอื่นที่ไทยมีศักยภาพ เช่น มวยไทย ต่อไป

ด้านการยกระดับสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น ปัจจุบันกรมได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทย 203 สินค้า สร้างมูลค่าการตลาด 70,000 ล้านบาท รวมทั้งเร่งรัดการจด GI ไทยในต่างประเทศให้เร็วขึ้น ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนการจดทะเบียน GI ระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับวัตถุดิบ GI สู่เมนู Fine Dining โดยเชฟมิชลิน ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าท้องถิ่น สร้างความแปลกใหม่ และสร้างแรงบันดาลใจในการนำสินค้า GI มารังสรรค์เมนูใหม่ ๆ อีกด้วย

Advertisment

นายวุฒิไกรกล่าวอีกว่า อีกหนึ่งความท้าทายสำคัญคือการเชื่อมโยงผลงานทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยไปสู่โอกาสทางการค้าและแหล่งทุน โดยกรมอยู่ระหว่างพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติบนพื้นฐานเทคโนโลยี Blockchain เพื่อแปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งสะดวกต่อการซื้อขายแลกเปลี่ยน และสร้างความมั่นใจว่าผู้รับโอนสิทธิจะได้รับผลงานที่เป็นของแท้ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ซื้อขายผลงาน (Market Place) จากผู้สร้างสรรค์ได้โดยตรง และสามารถพัฒนาไปสู่การระดมทุนในลักษณะ Crowd Funding ได้อีกด้วย โดยจะนำร่องในการซื้อขายงานลิขสิทธิ์เพลงก่อนเป็นลำดับแรก

นอกจากการดำเนินภารกิจดังกล่าวแล้ว กรมยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน
ผ่านการประกาศเจตนารมณ์ กรม “ไม่เอาถ่าน” และวางมาตรการต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 ภายในปี 2573 เพิ่ม Carbon Stock ให้สภาพแวดล้อม ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ ชดเชย 30,000 ต้นอีกด้วย

Advertisment