ชู “ทรัพย์สินทางปัญญา” ต่อยอด “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย”

Wutthikrai
สัมภาษณ์

นโยบายส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ใน 11 สาขาสำคัญ เพื่อต่อยอดในการสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า นับเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งเชื่อมโยงกับการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจดทะเบียนคุ้มครองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อสร้างการรับรู้และเพิ่มมูลค่าให้สินค้าท้องถิ่น “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ถึงทิศทางการทำงานปี 2567

นายวุฒิไกร ฉายภาพว่า ในช่วงการทำงานในหลายปีที่ผ่านมาผมและทีมงานมุ่งยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลและความต้องการประชาชน แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนสำหรับคนภายนอก แต่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการยกระดับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ”

“ผมอยากให้มองเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นภาพใหญ่ 4 บวก 1 คือ การสร้างสรรค์ (Creation) การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (Commercialization) การคุ้มครอง (Protection) การปกป้องสิทธิ (Enforcement) และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่ง GI เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากตลอดการทำงาน”

ลุย “ซอฟต์พาวเวอร์”

แผนงานช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2567 จะมุ่งส่งเสริมการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการสำคัญอย่างการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้วยทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการค้าใน 11 อุตสาหกรรม เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาในการยกระดับประเทศ

“เรื่องการส่งเสริม Soft Power เราวางบทบาทกรมให้เป็นที่ปรึกษาในการวางกลยุทธ์ด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (IP Strategy) ให้กับคณะอนุกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติทั้ง 11 คณะด้วย จากที่ผ่านมาได้นำ IP Strategy มาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจแบบใหม่ที่ใช้ IP เป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับธุรกิจ สร้างผู้ประกอบการหลัก 100 ราย สร้างมูลค่ากว่า 800 ล้านบาทแล้ว”

ซึ่งกรมจะสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่อยอดการสร้างต้นแบบธุรกิจ ที่มี IP Strategy เป็นอาวุธและโล่กำบัง โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการไทยในตลาดโลกด้วยทรัพย์สินทางปัญญา จากที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในกรณีของ WGP#1 สู่กีฬาอื่น ๆ เช่น มวยไทย นอกจากนี้เชื่อมโยงไปยังทูตพาณิชย์ไทยในต่างประเทศ รวมถึงการใช้เครือข่ายภาคเอกชนที่เข้มแข็ง นำผู้ประกอบการไทยออกสู่ตลาดโลก

เร่งสร้างสรรค์-ดันรายได้

การสร้างทรัพย์สินทางปัญญาต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ เห็นได้จากการที่เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาแบบครบวงจรหรือ IPAC มากว่า 3 ปีแล้ว เพื่อเป็นจุดให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา

ภายในศูนย์จะมีระบบวิเคราะห์ แนวโน้มเทคโนโลยีสิทธิบัตร ช่วยให้ธุรกิจรู้เท่าทันคู่แข่งคู่ค้า และมองเห็นช่องว่างของการพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งยังช่วยวางแผนกลยุทธ์หรือแนวทางพัฒนาสินค้า

ซึ่งที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยเดือนหนึ่งจะมียอดเข้ารับคำปรึกษา 1,000 เคส คิดเป็น 10,000 เคสต่อปี หมายความว่ามีผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องการข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญา

ในอนาคตอยากจะตั้งกองทุนส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาใน EU จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และช่วยเหลือเมื่อบริษัทไทยโดนละเมิด IP เช่น เครื่องหมายการค้า ในต่างประเทศ พัฒนาระบบบริหารจัดการงานลิขสิทธิ์ทั้งการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ และระบบเพลงซ้ำซ้อน เพื่อให้ผู้ใช้งานลิขสิทธิ์สืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และเจรจาขออนุญาตใช้งานจากเจ้าของจริงได้สะดวก

ทำให้เกิดการใช้งานลิขสิทธิ์ในเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมงานสร้างสรรค์ของคนไทยสู่ตลาดต่างประเทศ

และส่งเสริมคนรุ่นใหม่สามารถสร้างสรรค์งานเพลง บุกตลาดสตรีมมิ่งในเอเชีย เช่น ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ปัจจุบันมีการรับชมกว่า 10 ล้านครั้ง

สร้างมูลค่าเพิ่ม สินค้าท้องถิ่น

การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น ผ่านการขึ้นทะเบียนจีไอไทยทั้งในและต่างประเทศนับว่ามีความสำคัญมาก ปัจจุบันมีสินค้าจีไอขึ้นทะเบียนไปแล้ว 200 สินค้า สร้างมูลค่ากว่า 58,000 ล้านบาท ในกลุ่มนี้มีสินค้าจีไอที่ได้รับการควบคุมคุณภาพแล้วถึง 162 สินค้า

คิดเป็น 82% ของสินค้าที่ขึ้นทะเบียนจีไอทั้งหมด และได้มีการต่อยอดการจดจีไอไปในต่างประเทศ เช่น ไทยและญี่ปุ่น แลกเปลี่ยนการจด จีไอ กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง กับเนื้อทาจิมะ เนื้อคาโงชิมะ เป็นต้น

“เป้าหมายปี 2567 กรมจะขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอเป็น 211 สินค้า คาดว่าจะสร้างมูลค่ากว่า 64,000 ล้านบาท พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้สินค้าจีไอไทย เช่น ร่วมกับนิตยสาร Gourmet & Cuisine ซึ่งเป็นนิตยสารด้านอาหารที่มีเครือข่ายร้านอาหารเพื่อนำสินค้าจีไอไปเป็นวัตถุดิบในร้านอาหาร การเปิดตัว GI Routing, GI GPS เที่ยวไทยมีจีไอนำทาง เป็นต้น”

คุ้มครอง-ป้องกันก๊อบปี้

อีกด้านหนึ่ง การให้ความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เป็นภารกิจหลัก กรมได้นำเทคโนโลยีมาช่วยบริการรับจดทะเบียนออนไลน์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถยื่นคำขอทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภทได้สะดวกรวดเร็ว และประหยัด

รวมถึงระบบการบริหารจัดการการพิจารณาคำขอของนายทะเบียนที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานยิ่งขึ้นด้วย และจัดทำกลไก Fast Track ลดเวลาในการจดคุ้มครอง เช่น เครื่องหมายการค้า ภายใน 4 เดือน อนุสิทธิบัตร ภายใน 6 เดือน และสิทธิบัตร ภายใน 12 เดือน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนให้ SMEs เช่น ร่วมมือกับภาคเอกชน บริษัท โฟโนไรท์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์รายใหญ่ของไทย ส่งเสริม SMEs กว่า 400,000 ราย ใช้เพลงถูกลิขสิทธิ์กว่า 10 ล้านเพลง ฟรี 3 เดือน และมอบส่วนลดค่าลิขสิทธิ์เพลง 50-55% ต่อเนื่องอีก 1 ปี

ส่วนการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ปี 2566 สามารถจับกุมทั้ง Offline และ Online กว่า 1,700 คดี ของกลาง 2.2 ล้านชิ้น มูลค่ากว่า 1,240 ล้านบาท โดยพัฒนามาตรการป้องปรามการละเมิดเชิงรุกทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งส่งเสริมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดจำนวนคดีขึ้นสู่ศาล ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้จะผลักดันการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ให้ตอบโจทย์การค้ายุคดิจิทัล และการจัดทําแผนพัฒนาด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย พ.ศ. 2567-2569 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบคุ้มครองและปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีหมุดหมายสำคัญในการเดินหน้านำพาประเทศไทยหลุดจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (Watch List : WL) ของประเทศคู่ค้าสหรัฐ

“กรมทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าของสิทธิ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมศุลกากร DSI กอ.รมน. วางมาตรการลดสินค้าละเมิด ซึ่งจะเป็นกลไกที่ผลักดันให้ไทยต้องหลุดจากบัญชี Watch List (กฎหมาย 301 พิเศษ ของสหรัฐ) ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำ IP Work Plan ร่วมกับ USTR คาดว่าจะสามารถหลุดจากบัญชี Watch List ได้ภายใน 2 ปี”