สุราพื้นบ้าน ขึ้นทะเบียน GI อย่างไร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า

สุราพื้นบ้าน

สุราพื้นบ้าน หลังจาก ครม. ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต หวังกระตุ้นท่องเที่ยวและขานรับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมดันขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน ทำอย่างไรจะขึ้นทะเบียนได้

วันที่ 17 มกราคม 2567 จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงสุราพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ อีกทั้งยังเป็นนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล กรมทรัพย์สินทางปัญญาชนพร้อมสนับสนุนแนวทาง และลงพื้นที่หาแหล่งผลิตสุราพื้นบ้านชั้นดีและมีชื่อ เพื่อประเมินว่ากรรมวิธีและกระบวนการผลิตเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียน GI หรือไม่

และจะจัดประชุมระดมความเห็นคนในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมสุราพื้นบ้าน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องแบบองค์รวมต่อไป ปัจจุบันยังไม่มีสุราพื้นบ้านขึ้นทะเบียนจีไอเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จะมีเพียงสินค้ากลุ่มประเภทไวน์สุราของไทย ที่ได้ขึ้นทะเบียน GI แล้ว อย่างเช่น ไวน์ที่ราบสูงภูเรือ และไวน์เขาใหญ่เท่านั้น

ลุ้นสุรากลั่นจังหวัดแพร่ ขึ้นทะเบียน GI ตัวแรก

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ลงพื้นที่แหล่งผลิต “สุราสักทองแพร่” เมื่อวันที่ 15-16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าผลักดัน ขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตัวใหม่ของจังหวัดแพร่ หวังสร้างมูลค่าเพิ่ม หากสุราสักทองแพร่ สามารถขึ้นทะเบียนจีไอได้ จะเป็นสุราพื้นบ้านตัวแรกที่ขึ้นทะเบียน

“ลักษณะเด่น สุรากลั่นจังหวัดแพร่ ผลิตจากข้าวเหนียว หมักด้วยลูกแป้งหัวเชื้อสูตรลับเฉพาะ และใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่รวมถึงน้ำพุร้อน ปัจจุบันมีผู้ผลิตสุรากลั่น ในจังหวัดแพร่กว่า 200 ราย ส่งรายได้ให้แผ่นดินจากการจ่ายอากรแสตมป์สุรากว่า 370,000,000 บาท/ปี“

ผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้

ผู้ที่สามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสินค้า จีไอ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

ส่วนราชการ คือ หน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล และมีเขตรับผิดชอบครอบคลุมบริเวณแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้านั้น

บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคล ต้องประกอบกิจการเกี่ยวกับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และอยู่ในพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์นั้น

กลุ่มผู้บริโภค หรือองค์กรผู้บริโภคสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

โดยสินค้าที่สามารถขึ้นทะเบียนจีไอได้ เช่น สินค้าเกษตร สินค้าหัตถกรรม สินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรแปรรูป นอกจากนี้ ต้องมีคุณภาพและลักษณะของสินค้าที่แตกต่างจากสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตจากที่อื่น อีกทั้งมีความสัมพันธ์ระหว่างสินค้ากับแหล่งผลิต

เช่น มีวัฒนธรรมท้องถิ่น ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่ส่งผลต่อลักษณะพิเศษของสินค้า มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก มีประวัติความเป็นมา และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค มีการกำหนดคุณภาพ มีขบวนการควบคุมตรวจสอบชัดเจน รวมไปถึงมีพื้นที่การผลิตที่ชัดเจนและใช้วัตถุดิบจากพื้นที่ด้วย

ขั้นตอนขอขึ้นทะเบียน GI

สำหรับการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอตามกฎหมาย ผู้ที่มีสิทธิยื่นสามารถเข้าไปรับคำขอการขึ้นทะเบียนที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา จากนั้นคำขอดังกล่าวจะถูกตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญว่าจะรับหรือไม่รับคำขอนั้น

หากรับคำขอจะประกาศโฆษณา 90 วัน ถ้าไม่มีการคัดค้านสินค้าดังกล่าวสามารถขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอได้ แต่หากกรณีมีการคัดค้านเจ้าของคำขอก็สามารถยื่นอุทธรณ์เพื่อชี้แจงได้ต่อไปเช่นกัน

ส่วนกรณีผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบคำขอ แล้วไม่รับคำขอนั้น ผู้ยื่นสามารถอุทธรณ์คำขอนั้นได้

แผนการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ปี 2567

นอกจากนี้ กรมยังมีแผนในการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ในปีหน้าด้วย เพื่อสร้างมูลค่าการค้าสินค้าและรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน ได้แก่

    1. ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด จังหวัดตราด
    2. มะม่วงแรดฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา
    3. ข้าวหอมใบเตยนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
    4. เสื่อกกนาหมอม้า จังหวัดอำนาจเจริญ
    5. ส้มสายน้ำผึ้งฝาง จังหวัดเชียงใหม่
    6. ลิ้นจี่จักรพรรดิฝาง จังหวัดเชียงใหม่
    7. ปลิงทะเลเกาะยาว จังหวัดพังงา
    8. หินอ่อนพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร
    9. เนื้อโคขุนกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
    10. ปลาสลิดบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
    11. อะโวคาโดตาก จังหวัดตาก

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยแล้ว 195 สินค้า ซึ่งครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ส่วนในต่างประเทศ ปัจจุบันมีสินค้า GI ไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ รวม 8 รายการ ครอบคลุมกว่า 30 ประเทศ ได้แก่ 1.ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ในสหภาพยุโรป จีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 2.ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ในสหภาพยุโรป มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

3.กาแฟดอยช้าง ในสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น 4.กาแฟดอยตุง ในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และกัมพูชา 5.เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ในเวียดนาม 6.ผ้าไหมยกดอกลำพูน ในอินเดีย และอินโดนีเซีย 7.มะขามหวานเพชรบูรณ์ ในจีน และเวียดนาม และ 8.ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ในเวียดนาม