เปิดเหตุผลสหรัฐ คงสถานะ ‘ไทย’ บัญชี WL ต้องจับตามองละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เผยรายงานทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าของสหรัฐ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 301 พิเศษ กฎหมายการค้าสหรัฐ ประจำปี 2567 ไทยยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Watch List : WL) ต่อเนื่องอีกปีนับตั้งแต่ปี 2560 แม้ไทยมีพัฒนาการปกป้อง คุ้มครองการละเมิด และบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดขึ้นก็ตาม

วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้เผยแพร่รายงานผลการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าของสหรัฐ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 301 พิเศษ กฎหมายการค้าสหรัฐ ประจำปี 2567 โดยไทยยังคงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Watch List : WL) ต่อเนื่องอีกปีนับตั้งแต่ปี 2560

แม้ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะการมีพัฒนาด้านการป้องกัน คุ้มครองการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จนสร้างความพึงพอใจให้กับเจ้าของสิทธิ แต่ปัญหาการละเมิดก็ยังคงมีอยู่

สำหรับกลุ่ม WL ปีนี้ มี 20 ประเทศ คือ อัลจีเรีย, บาร์บาโดส, เบลารุส, โบลิเวีย, บราซิล, บัลแกเรีย, แคนาดา, โคลอมเบีย, เกวาดอร์, อียิปต์, กัวเตมาลา, เม็กซิโก, ปากีสถาน, ปารากวัย, เปรู, ไทย, ทรินิแดด แอนด์ โทบาโก, เตอร์เกีย, เติร์กเมนิสถาน และเวียดนาม

สำหรับรายงาน USTR  ระบุว่า แม้ไทยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WPPT), แก้กฎหมายสิทธิบัตร เพื่อปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนให้รวดเร็ว แก้ปัญหาการตรวจสอบคำขอจดทะเบียนที่คั่งค้างสะสมจำนวนมาก และเพื่อเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญากรุงเฮก, หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกับเจ้าของสิทธิในการป้องกัน และปราบปรามการละเมิดอย่างเต็มที่

Advertisment

แต่ยังมีสินค้าละเมิดวางขายต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางออนไลน์ ซึ่งหน่วยงานของไทยมุ่งปราบผู้ค้ารายย่อยมากกว่าจะมุ่งปราบผู้ผลิตและจำหน่ายรายใหญ่ รวมถึงกังวลอาจไม่มีการดำเนินคดีทางอาญา อีกทั้งแม้ไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ในการปราบปรามการขายสินค้าละเมิดทางออนไลน์ แต่การละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงมีอยู่ เพราะมีอุปกรณ์ต่าง ๆ และแอปพลิเคชั่นที่สามารถสตรีม หรือดาวน์โหลดเนื้อหาได้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ สหรัฐเรียกร้องให้ไทยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์เพิ่มเติม เพราะสหรัฐรัฐบาลต่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ยังมีข้อกังวล และยังมีอุปสรรคในขั้นตอนการบังคับใช้การป้องกันการแอบถ่ายหนังโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงเร่งแก้ปัญหาการพิจารณาคำขอจดสิทธิบัตรที่ยังคั่งค้างจำนวนมาก ส่วนการที่ไทยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้น สหรัฐเรียกร้องให้ไทยดำเนินการอย่างโปร่งใส และมีกระบวนการที่เหมาะสมในการคุ้มครอง

นอกจากนี้ สหรัฐมีข้อกังวลอื่น ๆ อีก เช่น ภาคเอกชนของไทยยังคงใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ, การดำเนินคดีทางแพ่งยืดเยื้อ และความเสียหายทางแพ่งอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงเรียกร้องให้ไทยมีระบบปกป้องที่มีประสิทธิภาพเกี่ยวกับการใช้งานเชิงพาณิชย์โดยไม่เป็นธรรม การเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการเปิดเผยผลการทดสอบ หรือข้อมูลทั่วไปเพื่อการเข้าสู่ตลาดของผลิตภัณฑ์ยา และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร