“ป่าชุมชน” คือทางออก ที่ดิน ส.ป.ก. ทับซ้อนอุทยานฯ

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

หลังจากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ออกมาระบุว่า ที่ดินที่ออกโดย ส.ป.ก. บริเวณ ต.หมูสี จ.นครราชสีมา รุกล้ำพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พุ่งเป้ามาที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ออกโฉนด ส.ป.ก.ทับซ้อนอุทยานฯ นำมาสู่ปมร้อนที่ต้องหาทางออกร่วมกันในวันนี้

จุดยืน ส.ป.ก.

ล่าสุด “นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส” ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) และอดีตเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้เปิดแถลงข่าว โดยยืนยันจุดยืนของ ส.ป.ก.คือ ที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวต้องกลับมาเป็นของ ส.ป.ก.ตามพระราชกฤษฎีกาเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2505 ทำให้ต้องสู้

“แต่ว่าก็อาจมีคนถามว่า ถ้า ส.ป.ก.ได้ที่ดินบริเวณนี้คืนไปแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ต้องบอกว่า ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้นโยบายว่า ให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าชุมชน รวมถึงจะต้องเยียวยาชาวบ้านที่ถูกไล่ออกจากที่ ส.ป.ก.” นายสรรเสริญกล่าว

สรรเสริญ อัจจุตมานัส
สรรเสริญ อัจจุตมานัส

ย้อนไทม์ไลน์ที่ดิน ส.ป.ก.

นายสรรเสริญออกมาอธิบายถึงความเป็นมาในการจำแนกประเภทที่ดินป่าไม้ถาวร โดยไล่เรียงจากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2502 มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประกาศให้จำแนกประเภทที่ดินป่าไม้ถาวรและป่าเขาใหญ่ ได้จำแนกที่ดินประเทศไทยเป็นที่ดินที่จะสงวนเป็นเขตป่าไม้ และที่ดินที่จะจัดสรรให้ราษฎรทำกิน ต่อมามติ ครม.เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2504 เห็นชอบการจำแนกที่ดินเบื้องต้น เป็นเขตป่าไม้ถาวร 171 ล้านไร่ และให้ประชาชนทำกิน 34 ล้านไร่ โดยในเขตป่าไม้ถาวรมีป่าเขาใหญ่เนื้อที่ 219,375 ไร่

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2505 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.กำหนดเขตอุทยานแห่งชาติป่าเขาใหญ่ เนื้อที่ 1.33 ล้านไร่ ซึ่งมีเนื้อที่บางส่วนทับซ้อนกับเขตป่าไม้ถาวรเขาใหญ่ ทำให้มีมติจำแนกที่ดินของคณะกรรมการสำรวจจำแนกที่ดินเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506 ซึ่งเนื้อที่ป่าไม้ถาวรตามมติของคณะกรรมการดังกล่าวมีเนื้อที่ 219,437.5 ไร่

ปี 2527 พิจารณานำพื้นที่ 37,625 ไร่ ซึ่งจำแนกให้ ส.ป.ก.นำไปปฏิรูปเป็นที่ดินทำกิน 33,896 ไร่ จำแนกเป็นป่าไม้ถาวรตามเดิม 3,729 ไร่

Advertisment

ปี 2530 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาที่ดินตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเนื้อที่ 33,896 ไร่ ไปดำเนินการตามกฎหมายว่าการปฏิรูปที่ดินว่าด้วยการเกษตรกรรม

ปี 2535 กรมป่าไม้ได้ดำเนินการโดยใช้กองทุนสิ่งแวดล้อมตัดแนวถนนกันไฟรอบเขตอุทยานฯ ผู้รับเหมาตัดถนนเข้ามาในเขต ส.ป.ก.ประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เริ่มออกจับกุมประชาชนที่เข้าไปทำกินในบริเวณนั้น ทำให้ประชาชนไม่กล้าเข้าไปทำประโยชน์ จนปล่อยให้ที่ดินมีสภาพเหมือนป่าธรรมชาติ

Advertisment

เขาใหญ่

พื้นที่นั้นไม่ใช่ป่าตั้งแต่ต้น

สำหรับพื้นที่ป่าถาวรป่าเขาใหญ่มีประมาณ 219,375 ไร่ จำแนกเป็น พื้นที่อุทยานฯ 181,000 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่ไม่ทับซ้อน จะแบ่งการใช้ประโยชน์ออกเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกให้เป็นป่าถาวร 3,000 กว่าไร่ และเป็นเสมือน “แนวกันชน” ระหว่างพื้นที่อุทยานฯ กับพื้นที่ ส.ป.ก.

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งประมาณ 33,000 ไร่นั้น มติ ครม.ได้มอบให้ทาง ส.ป.ก.เป็นผู้จัดสรรดูแล จะเห็นได้ว่าพื้นที่ทั้งสอง “ไม่ได้ทับซ้อนกัน” โดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2508 จนถึง 2535 พื้นที่ ส.ป.ก.ก็ยังมีสภาพใช้งานตามเดิม

ทว่าปี 2535 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เริ่มโครงการตัดถนนกันไฟในพื้นที่อุทยานเขาใหญ่ โดยกินพื้นที่เข้ามาในบริเวณ ส.ป.ก.ประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งระหว่างการตัดถนนก็มีการไล่จับชาวบ้านที่เข้ามาทำกินในพื้นที่ ส.ป.ก. จนชาวบ้านไม่กล้าที่จะเข้ามา ทำให้ที่ดิน ส.ป.ก.ถูกทิ้งร้างและฟื้นกลับเป็นป่า แต่ตามเดิมตั้งแต่ปี 2506 เป็นต้นมา “พื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ป่ามาตั้งแต่ต้น”

กฎหมายมาทีหลัง

นายสรรเสริญกล่าวว่า ในปี 2535 กรมอุทยานฯ ได้ตันถนนกันไฟ โดยระหว่างการตัดถนนกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็จัดทำแนวเขตอุทยานฯใหม่ โดยใช้ Shapefile เป็นการถ่ายทอดแผนที่ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งฉายได้แค่สภาพที่ดินในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้บ่งบอกว่าอดีตเคยเป็นอะไรมา ทำให้เขตอุทยานฯเขาใหญ่มาทับซ้อนกับพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งเขาก็แจ้งว่าสิ่งที่เขาทำมานั้นถูกต้อง ก็จะเท่ากับว่าพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2505 ผิด ทั้ง ๆ ที่มีการตราเป็นกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรและมีการประกาศใช้แล้ว

“แม้พระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2505 จะผิด แต่ก็ได้มีการประกาศใช้กฎหมายและเริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่ว่าสิ่งที่คุณดำเนินการทีหลังที่ไม่ตรงกับกฎหมาย กลับสามารถใช้บังคับได้มากกว่ากฎหมายที่มีอยู่ การขยายเขตอุทยานฯออกไป 1 กิโลเมตรนี้ นอกจากจะกระทบกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านแล้ว เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยังไล่จับชาวบ้านในบริเวณนั้น ผมจึงเรียกพื้นที่ตรงนั้นว่าเขตอุทยานฯเถื่อน”

นอกจากนี้ พบเอกสารที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับกรมที่ดินว่า จะไม่มีรูปร่างที่ดินในเขตนี้ ซึ่งเขาก็ระบุเองว่าเป็นพื้นที่รอเตรียมผนวกเข้ากับเขตอุทยานแห่งชาติ หรือแม้แต่ตอนทำ MOU ร่วมกับ ส.ป.ก.เอง เขาก็เขียนว่า พื้นที่รอการกำหนดขยายเขตแดนเขาใหญ่ เพราะฉะนั้น เราค่อนข้างแน่ใจว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นของ ส.ป.ก. เพียงแต่ระหว่างที่มีความขัดแย้งทางด้านกฎหมายนี้ คน ส.ป.ก.ไม่ควรที่จะไปทำสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย

เคสตัวอย่าง

พร้อมกันนี้ ได้ยกกรณีตัวอย่างข้อพิพาทที่ดินระหว่างบริษัท ก. จำกัด กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเฉพาะหลักเขตอุทยานที่ 48, 49, 50, 51, 52 และ 53 ซึ่งบริษัท ก.ได้ขอสำเนาสมุดจดบันทึกการรังวัดแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พ.ศ. 2505 เฉพาะแนวเขตที่ดินที่พิพาท

ทว่าทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ระบุว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารส่วนบุคคล ไม่สามารถเปิดเผย ท้ายที่สุดคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ระบุให้ “บริษัท ก.” เป็นฝ่ายชนะ เพราะที่ดินบริษัท ก. ไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตอุทยานฯ

ระวังขัดหน้าที่ ส.ป.ก.

นายสรรเสริญกล่าวอีกว่า การที่อยากให้เอาข้อพิพาทไปให้คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 (One Map) เพราะอาจเห็นเป็นที่พึ่งสุดท้าย แต่ถ้าหากย้อนไปดูมาตรา 36 ของการจัดการที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งระบุให้ที่ดินที่ ส.ป.ก.ได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. ดังนั้น การมอบพื้นที่คืนให้กรมอุทยานฯ ใช้หลักกฎหมายใด รวมถึงอาจเป็นการขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ป.ก. โดยคณะกรรมการ One Map จะต้องดูข้อกฎหมายให้ดีว่า ส.ป.ก.ไม่ได้มีอำนาจ ถ้าจะใช้มติ ครม.โอนอำนาจให้ ส.ป.ก. ก็ต้องไปแก้ไขกฎหมายและในกฎหมายเอง

ส.ป.ก.จะต้องยึดหลักว่าพูดคุยเฉพาะปัญหาของพื้นที่ทับซ้อนเท่านั้น ส่วนเรื่องขยายพื้นที่อุทยานฯก็ต้องไปคุยกับหน่วยงานอื่น เพราะไม่เกี่ยวกับ ส.ป.ก.

ตอนนี้ทางกรมอุทยานฯจะส่งแผนที่มาให้ ส.ป.ก.ตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อน และจะพูดคุยกันอีกทีใน One Map หากสามารถตกลงกันได้ก็จะจบใน One Map แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องให้ One Map เป็นผู้ตัดสิน