จับตาประชุมแก้ปัญหาราคาปลาตกต่ำ หลังชาวประมง-โรงงานแปรรูป ทำข้อตกลงเพิ่มราคารับซื้อปลา ส่วนการห้ามนำเข้าสัตว์น้ำด่านชายแดนยังทำไม่ได้ แค่เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบลอบนำเข้าสัตว์น้ำผิดกฎหมาย
วันที่ 8 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ซึ่งจะมีการประชุมในสัปดาห์นี้ว่า ที่ประชุมจะติดตามการเพิ่มราคารับซื้อสัตว์น้ำโดยใช้กลไกราคา ระหว่างกลุ่มชาวประมง ในฐานะผู้ขาย กับ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ในฐานะผู้ซื้อ
ล่าสุดทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงที่จะเพิ่มราคารับซื้อสัตว์น้ำที่ตกต่ำลงจากกรณีมีการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อนำมาแปรรูปเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งการนำเข้าอย่างถูกต้องและยังเกิดกรณีการลักลอบนำเข้า จนเต็มสต๊อกของห้องเย็นในประเทศ
โดยราคารับซื้อสินค้าสัตว์นำเพิ่มขึ้นจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1) กลุ่มปลาผิวน้ำ (ทูน่า-ซาร์ดีน-แมกเคอเรล) สมาคมประมงอวนล้อมจับแห่งประเทศไทย ได้ตกลงกับสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย-สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ตกลงที่จะรับซื้อปลาทูแขก-ปลาหลังเขียว ไม่ต่ำกว่า 20 บาท/กก. และห้ามโรงงานปฏิเสธการรับซื้อกรณีสต๊อกเต็ม ฝ่ายโรงงานจะต้องหาโรงงานเครือข่ายเข้ามารับซื้อแทน
2) กลุ่มปลาหน้าดิน (ปลาปากคม-ทรายแดง) ส่วนใหญ่จะถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการทำปูอัด-ลูกชิ้นปลา สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สหกรณ์ประมงแม่กลอง และชมรมผู้ค้าปลาสมุทรสาคร ตกลงที่จะเพิ่มราคารับซื้อให้สูงขึ้นอีก กก.ละ 2 บาท
3) กลุ่มปลาหมึก ยังไม่สามารถตกลงราคารับซื้อกันได้ เนื่องจากมีผู้ประกอบการหลายราย โดยกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมึกทั้งที่ถูกกฎหมายและลักลอบนำเข้ามาตีตลาดภายในประเทศ มีผลทำให้ราคาปลาหมึกตกต่ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
การประชุมครั้งนี้จะเป็นการติดตามราคาสัตว์น้ำในประเทศ หลังมีข้อตกลงเพิ่มราคารับซื้อสัตว์น้ำว่า สามารถแก้ปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำได้หรือไม่
หากยังไม่ได้ผล จะต้องไปพิจารณาการใช้มาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้าสัตว์น้ำหรือซากสัตว์ภายใต้ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558 ซึ่งเป็นมาตรการที่กลุ่มโรงงานแปรรูปไม่อยากให้นำมาบังคับใช้ เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบจะสูงขึ้นจนกระทบกับความสามารถในการแข่งขัน
ด้านการยื่นหนังสือของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ถึงนายธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้มีการออกประกาศห้ามอนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำจากด้านชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำเป็นการชั่วคราว เพื่อยับยั้งสัตว์น้ำที่เข้ามาตีตลาดในประเทศนั้น
ทางกระทรวงเกษตรฯได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ตรวจสอบแนวชายแดนเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำผิดกฎหมาย การยกระดับการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำ รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่จะนำมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือ Safeguard Measure มาใช้
ปรากฏว่าจากการหารือกับกรมการค้าต่างประเทศ พบว่า การใช้มาตรการ Safeguard ผู้ฟ้องจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ตนเองได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น
แต่กรณีการนำเข้าสินค้าในกลุ่มปลาและปลาหมึกกลับพบว่า มีตัวเลขการนำเข้าลดลง (กลุ่มปลาลดลง 18.70% ปลาหมึกลดลง 6.33%) ขณะที่ชาวประมงเห็นต่างว่า มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากการลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย
ประกอบกับชาวประมงผู้เสียหายไม่สามารถรวบรวมตัวเลขการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อพิสูจน์ความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดจากการนำเข้าสัตว์น้ำได้ อีกทั้งกระบวนการไต่สวนก็กินระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป
ดังนั้นจึงให้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ ได้หรือไม่
ส่วนข้อเสนอเดิมของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่ให้ใช้มาตรา 92 ของ พ.ร.ก.การประมง 2558 เพื่อหยุดการนำเข้าหรือชะลอการนำเข้าสัตว์น้ำโดยทันทีนั้น กรมประมงมีความเห็นว่า มีอำนาจการใช้ กม.ไม่เพียงพอ เนื่องจากเจตนารมณ์ของ กม.ในมาตรานี้เป็นการใช้เพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการมากกว่า