กลุ่มประมงยื่นหนังสือเร่งรัฐบาลหยุดนำเข้าสินค้าประมง “ธรรมนัส” ออก 3 มาตรการด่วน

Thammanas

กลุ่มประมงยื่นหนังสือเร่งรัฐบาลหยุดนำเข้าชั่วคราว-ขึ้นค่าธรรมเนียม หลังสินค้าประมงเพื่อนบ้านทะลักฉุดราคาประมงไทยเข้าขั้นวิกฤต ด้าน “ธรรมนัส” รับปากจี้คณะกรรมการเคาะข้อสรุป พร้อมออก 3 มาตรการแก้ปัญหาชั่วคราว ประสานทัพเรือสกัดอาหารทะเลเถื่อน

วันที่ 27 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า องค์กรภาคประมงในจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมด้วยกลุ่มชาวประมงจากจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ และระนอง กว่า 150 ราย ร่วมยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าประมงตกต่ำ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีร้อยเอกธรรมนัสลงมารับหนังสือด้วยตัวเอง

สาระสำคัญระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันชาวประมงได้ประสบปัญหาราคาสินค้าสัตว์ตกต่ำรุนแรง เนื่องมาจากการนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้าน มาจำหน่ายภายในประเทศจำนวนมากเกินความต้องการบริโภค ส่งผลให้ราคาสินค้าสัตว์น้ำภายในประเทศตกต่ำอย่างรุนแรง จนทำให้ชาวประมงขาดทุนต่อเนื่องมาหลายเดือนและก่อเป็นหนี้สินจำนวนมาก ทั้งยังส่งผลให้ต้องเลิกอาชีพประมงไปโดยปริยาย

ทางองค์กรภาคประมงจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ให้รัฐโปรดพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการสั่งห้ามการอนุญาตนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามด่านชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำเป็นการชั่วคราว

พร้อมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์ในการจัดการทำประมงตามหลักเกณฑ์ของประเทศไทยที่เราได้จัดระเบียบตามพันธสัญญาระหว่างประเทศ ในการจัดการทำประมงถูกต้องตามกฎหมาย ตามหลักแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) ที่ต้องการให้ประเทศต่าง ๆ ได้ปฏิบัติทางเดียวกันกับชาวไทย

ขอรัดเร่งแก้ ไม่มีไฮด์ปาร์กแน่

นางสาวิกา ศิริบุญญาวงศ์ ประธานกรรมการสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด กล่าวว่า การมายื่นหนังสือครั้งนี้ของชาวประมง เป็นเพราะเดือดร้อนจากราคาสินค้าประมงตกต่ำเป็นอย่างมาก จึงอยากให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือ

“เราก็เข้าใจว่าปัญหาราคาสินค้าประมงเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องประสานกับหลายฝ่ายและใช้เวลาในการแก้ไข เราก็คาดหวังว่า อย่างน้อยเมื่อมาแล้วก็ต้องสัมฤทธิผล ต่อให้จะได้แค่ 20% หรือ 70% ตามที่เสนอก็ตาม และมั่นใจว่าจะไม่มีถึงไฮด์ปาร์กแน่นอน”

“นับตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันผกผันกับราคาสินค้าประมงเป็นอย่างมาก ทำให้ชาวประมงต้องแบกต้นทุนที่สูง ค่าแรงงานที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงเรายังโดนสินค้าจากเพื่อนบ้านมาขายแข่งกับเรา โดยไม่มีข้อจำกัดหรือข้อติดตาม ซึ่งไม่ยุติธรรมกับเรา หวังว่ารัฐจะมีวิธีการและกฎระเบียบที่จะมาระงับ สกัดกั้นหรือชะลอการนำเข้า เพราะชาวประมงอยากทำอาชีพประมงต่อ อีกทั้งอุตสาหกรรมประมงถือเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งหากปล่อยไว้นานกว่านี้จนชาวประมงล้มหายตายจากหมด วันนั้นก็อาจจะเป็นการล่มสลายของเศรษฐกิจ”

ราคาปลาหมึกเหลือกิโลกรัมละ 15 บาท

ผู้สื่อข่าวสอบถามชาวประมงที่เข้าชุมนุมยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ประสบปัญหาราคาตกต่ำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหมึกที่ราคารับซื้อหน้าเรือเหลือ 15 บาทต่อกิโลกรัม จากอดีตที่เคยสูงถึง 60 บาท เป็นปัญหารุมเร้าจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งคิดเป็น 60% ของต้นทุนทั้งหมด รวมถึงการปรับกิจการให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย IUU ก็ทำให้ต้นทุนเราสูงขึ้นไปอีก

ขณะที่สินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้านกลับมีต้นทุนถูกกว่า เพราะไม่ต้องปรับตัวตามกฎหมาย IUU และสามารถเข้ามาโดยเสรี มีการตรวจเอกสารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นเราจึงอยากขอให้หยุดการนำเข้า หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรจะใช้มาตรฐานเดียวกัน

ธรรมนัสเร่งช่วยเหลือลดขาดดุล

ด้านร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากที่สุดคือการปล่อยเวลาผ่านไปโดยไม่มีข้อสรุป แล้วจะทำให้พี่น้องชาวประมงล้มหายตายจากไป ดังนั้น อนุกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำต้องเร่งหาข้อสรุปให้มีความชัดเจน โดยจะต้องมีการพูดคุยกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชาวประมง ผู้ประกอบการ และกรมประมง ซึ่งจะต้องรักษาสมดุลราคาให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ได้

“จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยขาดดุลการค้าชายแดนบริเวณด่านสิงขร ด่านสังขละบุรีมหาศาล โดยเฉพาะอาหารทะเลที่เข้ามาปีละ 2-3 พันล้าน ขณะที่เราส่งออกแค่ 600 ล้านบาท ซึ่งไม่คุ้มเลย ดังนั้นเราต้องใช้การตรวจสอบที่มาและตรวจสอบย้อนกลับตามหลักกฎหมาย IUU เพื่อลดปริมาณสินค้าทะเลที่ทะลักเข้าเขตแดนและโต้ตอบแทนการสั่งห้ามนำเข้า เพราะปัญหาเกิดจากการนำเข้าสินค้าประมงต่างประเทศมาง่ายเกินไป” ร้อยเอกธรรมนัสกล่าว

เคาะ 3 ทางแก้ชั่วคราว

ทั้งนี้ ในที่ประชุมพูดคุยระหว่างชาวประมงและร้อยเอกธรรมนัส ได้ข้อสรุป 3 แนวทาง เพื่อแก้ปัญหาชั่วคราว ได้แก่ 1.การขึ้นค่าธรรมเนียมเฉพาะหมึก 2.ขอให้ใช้มาตรา 92 ที่ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ แห่ง พ.ร.ก.การประมงปี 2558 ในทันที และ 3.ขอให้เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่โดยอาศัยความร่วมมือจากกองทัพเรือในพื้นที่จังหวัดระนอง

ซึ่งร้อยเอกธรรมนัสเตรียมจะทำหนังสือประสานไปยังนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อประสานขอความร่วมมือจากกองทัพเรือให้เพิ่มความเข้มงวดในมาตรการตรวจสอบ พร้อมพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีด่านตะเข็บชายแดนเพื่อหาแนวทางป้องกัน