
กรมประมงออกประกาศเขตแพร่ระบาดปลาหมอคางดำพบแล้ว 19 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมห้ามครอบครองเคลื่อนย้ายโดยเด็ดขาด
วันที่ 17 สิงหาคม 2567 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กรมประมง จำนวน 2 ฉบับลงวันที่ 14 และ 16 สิงหาคม 2567
ฉบับแรกเป็นประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. 2567 มีสาระสำคัญอยู่ที่ ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำทั้งที่มีขีวิตและไม่มีชีวิตนอกพื้นที่การแพร่ระบาดตามที่อธิบดีกรมประมงกำหนด (ตามประกาศฉบับที่สอง)
ยกเว้น การเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำเพื่อนำไปใช้เป็นวัตุดิบตามโครงการของรัฐ เช่น การทำน้ำหมักขีวภาพ การนำไปแปรรูปเป็นปลาป่น แต่ต้องเคลื่อนย้ายแบบแห้งเท่านั้น
ส่วนประกาศฉบับที่สองที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเป็นประกาศกรมประมงเรื่อง กำหนดเขตพื้นที่การแพร่ระบาดปลาหมอคางดำมีบัญชีแนบท้ายประกาศ ใน 19 จังหวัด 76 อำเภอ โดยเฉพาะ กรุงเทพมหานคร ปรากฏเขตพื้นที่การแพร่ระบาดไปแล้วถึง 10 เขต ได้แก่
เขตบางขุนเทียน, ทวีวัฒนา, ดุสิต, ราชเทวี, ดินแดง, ทุ่งครุ, บางกอกน้อย, ลาดกระบัง, จอมทอง และ หนองแขม ส่วนจังหวัดนนทบุรีมีเขตพื้นที่ระบาดใน 6 อำเภอ (อ.เมือง-บางบัวทอง-ไทรน้อย-บางกรวย-บางใหญ่-ปากเกร็ด)
ขณะที่เขตพื้นที่ระบาดใต้สุดของประเทศอยู่ที่ จังหวัดสงขลา (ระโนด) กับ พัทลุง (ป่าพะยอม)
ทิศเหนือสุดอยู่ที่ จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี-อ.เมือง-ดอนตูม-สามพราน) กับจังหวัดราชบุรี (อ.เมือง-ดำเนินสะดวก-ปากท่อ-โพธาราม-บางแพ-วัดเพลง)
ส่วนทางด้านทิศตะวันออกสุดที่จังหวัดจันทบุรี (นายายอาม-ท่าใหม่) กับจังหวัดปราจีนบุรี (บ้านสร้าง)
ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่าเป็นครั้งแรกที่กรมประมงประกาศเขตการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างเป็นทางการถึง 19 จังหวัด จากที่ก่อนหน้านี้มีแต่การรายงานเข้ามาจากพื้นที่
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ปลาหมอคางดำ ปัจจุบันไม่ได้แพร่ระบาดเฉพาะในแหล่งน้ำจืดตามห้วย-หนอง-คลอง-บึง เท่านั้น แต่ปลาหมอคางดำยังมีความสามารถอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำและน้ำเค็มได้ ซึ่งมีรายงานจากเรือประมงเข้ามาเป็นระยะ ๆ ว่า พบปลาหมอคางดำในบริเวณนอกขายฝั่งบ้างแล้ว
- ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. 2567
- ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่การแพร่ระบาดปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567