ปลดคนปิดโรงงานเอสเอ็มอี พิษเทรดวอร์ใหม่-สินค้าจีนท่วม

factory

โรงงานเอสเอ็มอีระส่ำ ปี’67 ปิดกิจการเฉลี่ย 102 แห่งต่อเดือน ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้แนวโน้มปี’68 โรงงานยังเสี่ยงปิดตัวต่อเนื่อง “สิ่งทอ-เฟอร์นิเจอร์-เหล็ก” สารพัดปัจจัยเสี่ยงกำลังซื้อเปราะบาง-สงครามการค้ารอบใหม่ ทั้งแรงกดดันสินค้าจีนทะลักมากขึ้น โรงงานดิ้นลดชั่วโมงทำงาน-ปลดคน ประธานสภาอุตฯฉะเชิงเทรายอมรับ โรงงานพื้นที่ EEC อ่วมแบกต้นทุนค่าแรงไม่ไหว ดิ้นหนีตายก่อนเจ๊ง เผยเดือนมีนาคมโรงงานชิ้นส่วนเตรียมปลดลูกจ้างอีกระลอก หอฯเชียงใหม่ชี้ SMEs นับพันทยอยปิดกิจการ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเผยเศรษฐกิจไทยซึมเร่งรัฐหาทางช่วยธุรกิจขนาดเล็ก

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าสถานการณ์โรงงานปิดตัวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อ โดยข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า ปี 2567 จำนวนโรงงานที่ปิดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 102 แห่งต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราการปิดเฉลี่ยมากกว่า 100 แห่งต่อเดือน เป็นปีที่ 2 ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ พบว่าช่องว่าง (Gap) ระหว่างการเปิดและปิดโรงงานมีแนวโน้มแคบลงเรื่อย ๆ สะท้อนว่าโรงงานมีการปิดมากขึ้น เห็นได้จากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2566-2567) โรงงานเปิดใหม่หักลบด้วยโรงงานปิดตัวเฉลี่ยเหลือเพียง 52 แห่งต่อเดือน จาก 127 แห่งต่อเดือนในช่วงปี 2564-2565

แข่งขันสินค้าจีนไม่ได้

นางสาวเกวลินกล่าวว่า สำหรับหมวดอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวค่อนข้างเยอะอยู่ในหมวด “เสื้อผ้า-สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ โลหะ และเหล็ก” ซึ่งเป็นเซ็กเตอร์ที่เจอแรงกดดันทางด้านการแข่งขันตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ตลอดจนหลังโควิด-19 เป็นปัญหาสะสมและไม่สามารถประคองตัวอยู่รอดได้ เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้แข่งขันยากขึ้นจากสินค้านำเข้าจากจีน ส่วนจะส่งออกไปต่างประเทศก็เจอการแข่งขันจากภายนอก ขณะที่ภายในประเทศฟื้นตัวไม่ทั่วถึง กำลังซื้ออ่อนแอ และช่วง 1-2 ปีหลังเริ่มเห็นเซ็กเตอร์ชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและกำลังซื้อ

และหากพิจารณาขนาดของธุรกิจที่ปิดตัว จะเห็นว่าโรงงานที่ปิดในปี 2567 มีทุนจดทะเบียนเฉลี่ยอยู่ที่ 39 ล้านบาทต่อโรงงาน เทียบกับปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 100 ล้านบาทต่อโรงงาน สะท้อนว่าโรงงานที่ปิดตัวลงเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ไม่สามารถแข่งขันทางด้านต้นทุนและมีสายป่านที่สั้น

ลดโอที-ลดกำลังผลิต

ขณะที่ในแง่มิติของ “คน” แม้ว่าการจ้างงานสุทธิยังเป็นบวก แต่ภาคการผลิตมีการปรับลดชั่วโมงการทำงาน หรือการทำงานล่วงเวลาลง (OT) สะท้อนจากจำนวนแรงงานที่ทำงานต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีทิศทางเพิ่มขึ้น ผลจากการลดกำลังการผลิต ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดี แม้ว่าจะไม่ได้ตกงาน แต่รายได้ไม่ดีเท่าเดิม

ADVERTISMENT

โดยหากดูตัวเลขกำลังการผลิตจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2567 ตัวเลขกำลังการผลิตอยู่ที่ 58.4% ลดลงจากปี 2566 ที่อยู่ 59.6%, ปี 2565 อยู่ที่ 63.6% และปี 2564 อยู่ที่ 64.3% ทั้งนี้ กำลังการผลิตเฉลี่ยต่ำกว่า 60% สะท้อนสถานการณ์ที่เริ่มน่าเป็นห่วง แม้ว่าจะมีบางอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างสูง เช่น อาหารและเครื่องดื่ม หรือปิโตรเคมีอยู่ที่ 60-70% แต่หากดูอุตสาหกรรมสิ่งทอ-เฟอร์นิเจอร์ไม่ถึง 40% ถือว่าค่อนข้างน้อย

ปี’68 โรงงานเสี่ยงปิดต่อ

ผู้บริหารศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุว่า ในปี 2568 สถานการณ์การปิดโรงงาน มองว่ายังเป็นปีที่เสี่ยงอยู่ของการปิดโรงงานและเห็นการปิดต่อเนื่อง ภายใต้มุมมองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 2.4% การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจยังไม่สามารถพลิกกลับมาดีได้ในระยะสั้น เนื่องจากต้องอาศัยการปรับโครงสร้างการผลิต และการลดต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ยังต้องใช้เวลา

ADVERTISMENT

ขณะที่ในฝั่งตลาดภายใต้เศรษฐกิจชะลอ กำลังซื้อยังเปราะบาง หนี้ครัวเรือนสูง ยังเป็นแรงกดดัน และการส่งออกยังมีประเด็นนโยบายการค้าของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาเป็นปัจจัยซ้ำเติม (On Top) และแรงกดดันต่อภาคการผลิต

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าอัตราการปิดโรงงานคงไม่ได้สูงเกิน 100 แห่งไปมากนัก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาโรงงานปิดไปเยอะพอสมควร ทำให้สถานการณ์การปิดโรงงานจะทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งมาจากยังไม่มีปัจจัยบวกที่จะมาเปลี่ยนแปลงภาคผลิตได้ และยังคงเป็นโรงงานกลุ่มเอสเอ็มอี เช่นที่เห็นการประกาศปิดโรงงานกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่ยังมีให้เห็นอยู่

อุตสาหกรรมที่ยังมีความเสี่ยง ยังเป็นอุตสาหกรรมเดิม คือเหล็ก-โลหะยังเจอผลกระทบที่จีนเข้ามาตั้งโรงงานในไทย และสินค้าที่นำเข้ามามากขึ้น หรือกลุ่มเคมีภัณฑ์-เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ยังคงเจอปัญหาแรงกดดันจากสินค้านำเข้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ยังเจอเรื่องของรถอีวีและกำลังซื้อภายในประเทศ

ลดชั่วโมงทำงานพุ่ง

นางสาวเกวลินกล่าวว่า ตัวแปรที่ต้องจับตาและติดตาม คือชั่วโมงการทำงานที่น้อยลง หรืออัตราการว่างงาน หรือตกงาน ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคและการใช้จ่ายของครัวเรือนในพื้นที่รอบ ๆ ที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และหากมีการลดชั่วโมงทำงาน หรือตกงานมีจำนวนมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อปัจจัยแวดล้อม ทั้งการก่อหนี้ และการใช้จ่าย ร้านอาหาร และลามไปสู่ส่วนอื่น ๆ กระทบโดยรอบได้เช่นกัน

“ส่วนภาพของการลดการทำงานยังมีโอกาสอยู่ เพราะตัวเลขในครึ่งหลังปี’67 ทั้งตัวเลขปิดโรงงาน ชั่วโมงการทำงาน และดัชนีภาคผลิตอุตสาหกรรม (PMI) ก็ยังไม่ค่อยดี เทรนด์น่าจะเห็นการลดชั่วโมงการทำงานอยู่ในปีนี้”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า แม้จำนวนการจ้างงานสุทธิยังเป็นบวก แต่ภาคการผลิตมีการปรับลดชั่วโมงการทำงาน หรือการทำงานล่วงเวลาลง (OT) สะท้อนจากจำนวนแรงงานที่ทำงานต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 4.57 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ราว 4.12 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 11% หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ย่อมจะส่งผลต่อรายได้และความสามารถในการใช้จ่ายของแรงงานในภาคการผลิตที่ลดลง

รง.แปดริ้ว “ปลดพนักงาน”

นายสุกัณฑ์ โสรัจจกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าสถานการณ์โรงงานใน จ.ฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะ SMEs ยังเสี่ยงปิดตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยสาเหตุหลักจากตามที่บอร์ดค่าจ้างมีมติให้ จ.ฉะเชิงเทราปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น เฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านบาท/เดือน ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs บางรายจำเป็นต้องลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานชั่วคราว หรืออนาคตอาจหันไปใช้หุ่นยนต์ในการผลิต ซึ่งจะทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สุดท้ายหากประคองธุรกิจไม่ได้ก็ต้องปิดกิจการ

โดยเฉพาะโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ ต้องเผชิญปัญหาทั้งจากต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนผ่านมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้โรงงานต้องปรับตัวลดต้นทุน โดยมีการลดจำนวนพนักงานซับคอนแทร็กต์ รวมถึงลดการบรรจุพนักงานประจำกว่า 50% ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้มีโรงงานแห่งหนึ่งเตรียมปลดพนักงานชั่วคราวออกอีก 700 คน และอีกหลายแห่งก็เตรียมเปิดโครงการสมัครใจลาออกเพิ่มเติม

ตอนนี้ต้นทุนทุกอย่างเพิ่มขึ้น ทั้งค่าไฟ ภาษีโรงเรือน ค่าธรรมเนียมผู้ประกอบการ การลดต้นทุนแบบง่ายที่สุด คือการเอาสิ่งที่เคยอยู่ในระบบออกนอกระบบให้หมด เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะให้ความสำคัญน้อยลง เพราะมีต้นทุนการจัดการสูง แม้กระทั่งการตรวจตราอาคารจะลดลง ทุกอย่างจะกลับมาต้นทาง คือผู้ประกอบการจะกลายเป็นตัวสร้างปัญหาหลายอย่างในสังคม

นายสุกัณฑ์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ใน จ.ฉะเชิงเทรา ได้ใช้วิธีไปว่าจ้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ จ.ปราจีนบุรี กรุงเทพฯ จ.สมุทรปราการ ผลิตชิ้นส่วนบางอย่างแทนในลักษณะ Outsource เนื่องจากโรงงานใน 3 จังหวัดผลิตสินค้าเหมือนกับโรงงานที่ จ.ฉะเชิงเทรา แต่เป็นจังหวัดที่ไม่ถูกปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ขณะที่ จ.ฉะเชิงเทรากลับมีต้นทุนสูงกว่า เลยเหมือนเป็นการรังแกผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) งานเท่าเดิม แต่ภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น

แฮนดิคราฟต์เชียงใหม่ส่อเจ๊ง

นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2568 ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีของจังหวัดเชียงใหม่ต้องมีการปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นคือค่าแรง ล่าสุดในพื้นที่เขตอำเภอเมืองได้มีการปรับขึ้นของค่าแรงเป็น 380 บาท ตั้งแต่ต้นปี 2568 ซึ่งแรงงานถือเป็นต้นทุนหลักที่สำคัญ การปรับตัวคืออาจมีการลดขนาดของการจ้างงานลง มีการใช้นวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งธุรกิจที่ไม่มีการปรับตัว ไม่มีการคำนวณเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย และธุรกิจที่ไม่มีการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยจะอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก

โดยธุรกิจที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องปิดกิจการหากไม่มีการปรับตัว คือธุรกิจหัตถกรรมหรือแฮนดิคราฟต์ (Handicrafts) เนื่องจากเป็นกิจการที่ใช้คนหรือแรงงานจำนวนมาก จึงได้รับผลกระทบมาก ล่าสุดได้ข้อมูลว่าเริ่มมีการวางแผนปลดคนออกในหลายธุรกิจของกลุ่มเอสเอ็มอี เช่น ธุรกิจแฮนดิคราฟต์ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดโลกเปลี่ยนไป งานแฮนดิคราฟต์เริ่มได้รับความนิยมลดลง จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนค่าแรง และพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาด

SMEs เชียงใหม่ปิดตัวนับพัน

นอกจากนี้ จากการที่หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้ดูข้อมูลเชิงลึก พบว่าธุรกิจที่เริ่มมีการปิดตัวสูงมากในช่วงปีที่ผ่านมา คือธุรกิจร้านกาแฟ โดยเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบ และไม่มีการสำรวจตลาดเชิงลึกความเป็นไปได้ของธุรกิจ ทั้งเรื่องทำเลที่ตั้งและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยในช่วงปี 2566-ครึ่งปีแรกปี 2567 มีธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่จดทะเบียนเปิดกิจการราว 2,000-3,000 ราย แต่ขณะเดียวกันธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกกิจการมากถึง 1,000 ราย หรือราว 50% ของกิจการที่เปิดใหม่

อย่างไรก็ตาม อาจเร็วเกินไปที่จะประเมิน หรือคาดการณ์ว่าจะมีธุรกิจเอสเอ็มอีใน Sector ใดบ้างที่มีแนวโน้มจะปิดกิจการในปีนี้ เนื่องจากเพิ่งมีการปรับค่าแรงในช่วงต้นปี 2568 และต้องรอดูว่าภาครัฐจะมีมาตรการใดมาช่วยส่งเสริมเอสเอ็มอีหรือไม่ โดยเฉพาะการลดต้นทุนด้านสาธารณูปโภค มาตรการด้านการเงินในการเข้าถึงสินเชื่อ คาดว่าราวไตรมาส 2 น่าจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจเอสเอ็มอีชัดเจนมากขึ้น

เศรษฐกิจไทยซึมเศร้า

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะอยู่ในสภาวะซึมเศร้า GDP ของกลุ่มเอสเอ็มอีมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 3% และจากข้อมูล สสว.ไตรมาส 4/2567 พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 22% เผชิญปัญหากำลังซื้อลดลง, 19% เผชิญปัญหาคู่แข่งจำนวนมาก, 19% เผชิญปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน การเข้าถึงแหล่งทุนได้ยากขึ้น, 18% เผชิญปัญหาต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูง, 12% เผชิญปัญหาพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ช่องทางการตลาดสมัยใหม่จากโซเชียลมีเดีย และการใช้ Influencer เพื่อช่วยการตลาด, 6% เผชิญปัญหาสินค้าขายไม่ได้ เนื่องจากไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ขาดการสร้างแบรนด์, 4% เผชิญปัญหาภาระด้านการจ้างงาน และยังรวมถึงการทดแทนแรงงานโดยเครื่องจักรและ AI

ดังนั้น มีแนวโน้มการปิดโรงงานของ SMEs จำนวนสูงกว่า 100 แห่งแน่นอน และหากดูจากตัวเลข กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปี 2567 ที่ปิดกิจการจะสูงถึง 23,000 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีและคาดว่าปี 2568 จะสูงกว่านั้น เพราะปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างสูงกว่า

หยุดกิจการ รอประเมิน

นายแสงชัยกล่าวว่า ตัวเลขการปิดกิจการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือตัวเลขนิติบุคคลที่ยื่นปิดกิจการอย่างเป็นทางการ แต่ยังมีอีก 2 กลุ่มยังไม่ได้รวมอยู่ในตัวเลข ก็คือผู้ประกอบการนิติบุคคลที่ยังไม่ยื่นปิดกิจการ แต่ชะลอหรือไม่ดำเนินธุรกิจต่อ โดยรอประเมินสถานการณ์ปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ รอบด้านก่อนปิดกิจการจริง และกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย บุคคลธรรมดา และนอกระบบที่มีการปรับเปลี่ยนอาชีพธุรกิจไปแล้ว หรือไปเป็น Freelance ประกอบอาชีพอิสระที่มีภาระต้นทุนต่ำกว่า เป็นต้น

ดังนั้น แนวทางที่ภาครัฐและเอกชนต้องดำเนินการร่วมกันคือ การสร้างโอกาสเปลี่ยนผ่านให้กับธุรกิจที่ยังมีโอกาสสามารถประคองช่วงเปลี่ยนผ่านให้อยู่รอดได้ โดยสร้างกลไกการส่งเสริม ส่งต่อให้ความช่วยเหลือด้วยระบบพี่เลี้ยง ที่ปรึกษาธุรกิจที่เชี่ยวชาญให้คำแนะนำเสริมความเข้มแข็ง

นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การช่วยกลุ่ม SMEs ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นจำเป็นที่ต้องขยายโอกาสให้ SMEs เป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชนของธุรกิจขนาดใหญ่ หรือบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และใช้กลไกจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เพื่อสนับสนุนเป็นเงินทุนหมุนเวียน นอกจากนี้ ยังมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่จะใช้โครงการต่าง ๆ เข้ามาช่วยฝึกอบรม พัฒนาให้ SMEs เข้มแข็ง รวมถึงแนะแนวทางการทำตลาดให้รอด

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมคาดการณ์การจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ปี 2568 จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 90,000-95,000 ราย ตามคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ที่ 2.3-3.3% สำหรับยอดจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ปี 2567 ที่ผ่านมามีจำนวน 87,596 ราย เพิ่มขึ้น 2,296 ราย (2.69%) เมื่อเทียบกับปี 2566 ส่วนการจดทะเบียนเลิกกิจการมีจำนวน 23,679 ราย เพิ่มขึ้น 1.28% โดยธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเลิกกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร